งานวิจัยล่าสุดจากออสเตรเลียระบุว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินในช่วงอายุ 20-39 ปี มีความเสี่ยงที่จะมีอายุคาดเฉลี่ยสั้นลงอย่างน้อย 10 ปี โดยผู้ชายเสี่ยงที่จะมีอายุสั้นกว่าผู้หญิง
นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพโลกแห่งสถาบันจอร์จ และมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ร่วมมือกันค้นคว้าเกี่ยวกับพัฒนาการด้านความอ้วนในออสเตรเลีย โดยนำการจำลองจุลภาคมาช่วยคาดการณ์ว่า ประชากรในวัยผู้ใหญ่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไรในแต่ละปี เมื่อพิจารณาจากอายุ เพศ และน้ำหนักตัวในปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 12,091 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-69 ปี
ผลวิจัยระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่มีน้ำหนักตัวในเกณฑ์เฉลี่ยทั้งชายและหญิงในช่วงอายุ 20-29 ปี มักจะมีอายุต่อไปได้อีก 57-60 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานในช่วงวัยรุ่น อายุคาดเฉลี่ยจะต่ำลง โดยผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินในช่วงอายุ 20-39 ปี จะมีอายุคาดเฉลี่ยน้อยลง 6 ปี ส่วนผู้ชายจะลดลง 8 ปี ซึ่งหากผู้นั้นมีน้ำหนักเกินเกณฑ์อย่างมาก อายุคาดเฉลี่ยของผู้หญิงจะลดลงมากถึง 8 ปี ขณะที่ผู้ชายจะลดลง 10 ปี
ทีมวิจัยเผยว่า ทุกคนรู้ดีว่าการที่มีน้ำหนักเกินนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่วัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินนั้นส่งผลต่ออายุคาดเฉลี่ยอย่างชัดเจน เพราะทำให้อายุสั้นลงอย่างน้อย 10 ปี นอกจากนั้น ผลวิจัยยังระบุว่า ภายในปี 2025 จะมีคนอ้วนเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันหาวิธีป้องกันโรคอ้วนในคนทุกช่วงวัย โดยเน้นหนักไปที่กลุ่มวัยรุ่น