นักวิจัยอเมริกันทดลองเปลี่ยนพื้นที่ร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียว ก่อนจะพบว่า พื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองมีส่วนช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น และช่วยลดภาวะซึมเศร้าลงได้อย่างเห็นได้ชัด
งานวิจัยจากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พบว่าพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองสามารถลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้สุขภาพจิตโดยรวมดีขึ้นด้วย โดยวิจัยนี้ได้เก็บข้อมูลจากประชาชนในรัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนและหลังจากที่พื้นที่ว่างในชุมชนจะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียว และนำผลสำรวจของกลุ่มตัวอย่างควบคุม 3 กลุ่ม รวม 541 คน มาเปรียบเทียบกัน
นักวิจัยพบว่า ผู้ที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่สีเขียวในระยะ 400 เมตร จะมีภาวะซึมเศร้าลดลงถึง 41.5 เปอร์เซ็นต์ โดย 63 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าตนเองมีสุขภาพจิตดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างอื่น ๆ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการเก็บขยะและทำความสะอาด กับกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่รกร้าง ไม่มีการแทรกแซงหรือปรับปรุงใด ๆ
ผลสำรวจดังกล่าวจะชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับย่านยากจน ที่ประชากรอยู่ในภาวะเครียดและซึมเศร้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่าภาวะเครียดและซึมเศร้าลดลงมากถึง 68 เปอร์เซ็นต์
งานวิจัยฉบับนี้ ได้รับการตีพิมพ์ใน 'เจเอเอ็มเอ เน็ตเวิร์ก โอเพน' (JAMA Network Open) วารสารงานวิจัยด้านสุขภาพใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้