ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความซบเซาลงของยอดขายแบรนด์ 'ฟาสต์แฟชั่น' หรือ แบรนด์เสื้อผ้าราคาไม่แพงที่มีการเปลี่ยนคอลเลกชั่นบ่อย ทำให้บริษัทเหล่านี้หันไปพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
บริษัท Inditex เจ้าของแบรนด์ Zara และแบรนด์อื่น ๆ อีก 7 แบรนด์ ออกมาเปิดเผยถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนวัสดุการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น โดยหันไปพัฒนาการผลิตเส้นใยจากไม้ ที่เรียกว่า Refibra ขณะที่ Gap ก็จะเปลี่ยนมาใช้ฝ้ายออร์แกนิกให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2021 ส่วนแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นอย่าง Uniqlo ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ประกาศ 'รักษ์โลก' ด้วยการพัฒนาการผลิตยีนส์โดยใช้น้ำและสารเคมีให้น้อยลง ด้วยการใช้เลเซอร์เข้ามาแทน
H&M เน้นการลงทุนในสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าจะพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลวัสดุ รวมถึงผลิตเส้นใยจากวัสดุใหม่ ๆ เช่น รากเห็ด และจะเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งปัจจัยสำคัญคือต้องเป็นการลงทุนระยะยาว โดยไม่ไปเพิ่มภาระด้านราคาให้ผู้บริโภค
อุตสาหกรรม 'ฟาสต์แฟชั่น' มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 95 ล้านล้านบาท ต่อปี ผลิตสินค้าเป็น 100,000 ล้านชิ้น โดยหากพิจารณาแค่บริษัท Inditex เพียงบริษัทเดียวก็มีจำนวนสินค้าสูงถึง 1,400 ล้านชิ้นต่อปีแล้ว ทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อมารองรับพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ต่างจากแวดวง IT หรือ สมาร์ตดีไวซ์
ก่อนหน้านี้ บริษัทสำรวจตลาดระบุว่า ผู้บริโภครุ่นใหม่เริ่มกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้การจับจ่ายสินค้าเสื้อผ้ามีความถี่ลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ ทำให้การพัฒนาวัสดุยั่งยืนจากพืชชนิดต่าง ๆ หรือการรีไซเคิลผ้า กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งต้องเร่งพัฒนาให้เกิดเป็นวัสดุที่ต้นทุนถูกที่สุด เพื่อการผลิตในระยะยาว