นักวิชาการพบว่า AI สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิดได้ดีกว่าแพทย์ และหวังว่าจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ควบคู่กับบุคลากรทางการแพทย์ได้จริงในอนาคต
ผลการศึกษาร่วมระหว่างนักวิชาการเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ พบว่า การใช้ AI ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งบางประเภท มีประสิทธิภาพกว่าการใช้แพทย์วินิจฉัย โดยขณะทดสอบได้ลองให้โปรแกรมศึกษาภาพความผิดปกติของเม็ดสีในผิวหนัง 100,000 ภาพ ขณะเดียวกันก็ให้แพทย์ผิวหนังอีก 58 คน จาก 17 ประเทศ ดูภาพเดียวกัน ผลปรากฏว่า AI สามารถระบุความผิดปกติได้ถูกต้องถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแพทย์ผิวหนังสามารถระบุได้ถูก 87 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ยังพบว่า AI วินิจฉัยผิดพลาดน้อยกว่าคน โดยระบุเนื้องอกธรรมดาว่าเป็นเนื้อร้ายน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้ายไม่จำเป็นต้องผ่าตัดตรวจสอบชิ้นเนื้อโดยไม่จำเป็น โดยนักวิจัยคาดหวังว่า เทคโนโลยีแขนงนี้จะถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังได้จริงในอนาคตตอันใกล้ ควบคู่ไปกับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้กระบวนการรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา หรือ มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีเมลานิน เป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงที่สุด โดยในประเทศอังกฤษพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งประเภทนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงทศวรรษที่ 90 กว่าเท่าตัว และมีจำนวนผู้ป่วยใหม่มากถึงปีละ 15,000 คน