นักวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการไปกินข้าวตามร้านอาหาร หรือร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วๆ ไป อาจเพิ่มความเสี่ยงของการรับสารเคมีที่เป็นภัยต่อฮอร์โมนเข้าไปในร่างกาย ซึ่งสารเคมีนี้ก็คือ "พาทาเลต" นั่นเอง
นักวิจัยลองวัดระดับของพาทาเลตในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งสารเคมีนี้เป็นสารที่ใช้ในการเพิ่มความยืดหยุ่นและความคงทนของพลาสติก โดยมีความเกี่ยวข้องกับโรคหอบหืด มะเร็งเต้านม เบาหวานประเภทสอง และปัญหาการมีลูกยาก โดยในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา พบว่า มีสารประเภทนี้อยู่ในร่างกายอาสาสมัครมากขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ โดยเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างคนที่เพิ่งรับประทานอาหารนอกบ้านหนึ่งวันก่อนหน้า และอีกกลุ่มรับประทานอาหารในบ้าน
พาทาเลต เป็นสารที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดพื้น สบู่ หรือแชมพู ซึ่งบางตัวก็ถูกสั่งห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กด้วย ส่วนอาหารที่พบสารเคมีประเภทนี้ ก็อย่างเช่น เบอร์เกอร์ และแซนด์วิช ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ระดับพาทาเลตในร่างกายเพิ่มขึ้น แต่จะพบในเฉพาะอาหารที่ซื้อจากร้านฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ เท่านั้น
ระดับของสารเคมีประเภทนี้สูงเป็นพิเศษในกลุ่มวัยรุ่นที่มักไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดกับเพื่อนๆ บ่อยครั้ง ทำให้มีระดับของสารเคมีสูงกว่าวัยรุ่นที่รับประทานอาหารที่บ้านถึง 55 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านจึงมีความเสี่ยงในการรับสารเคมีประเภทนี้เข้าสู่ร่างกายน้อยมาก
กลุ่มที่ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ นอกจากกลุ่มวัยรุ่นแล้ว ก็คือกลุ่มสตรีมีครรภ์ และเด็กๆ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสารเคมีประเภทนี้มากกว่ากลุ่มอื่น และสารเคมีนี้จะไปกระทบกับการผลิตฮอร์โมนของร่างกาย ดังนั้นจึงต้องลดและหลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยงในการรับสารเคมีนี้ให้น้อยที่สุด ซึ่งก็อาจจะหมายถึงการทำอาหารกินเองที่บ้านให้บ่อยขึ้นนั่นเอง