การเป็นสังคมไร้เงินสดอาจเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของระบบการเงินในยุคใหม่ที่ดี แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไป ระบบนี้ก็ไม่ต่างกับดาบสองคม ที่สำหรับบางประเทศนั้น การเข้าสู่สังคมรูปแบบนี้อาจเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย
ปัจจุบัน คำว่า 'สังคมไร้เงินโลก' ดูจะกลายเป็นเป้าหมายของหลายประเทศ ทั้งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ก้าวล้ำและเข้มแข็ง และเพื่ออำนวยความสะดวกให้การใช้จ่ายของคนในประเทศคล่องตัวยิ่งขึ้น อย่างเช่นที่ประเทศไทยเปิดรับไอเดียนี้ โดยเริ่มจากการติดตั้งระบบเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน ขณะเดียวกัน ก็เปิดให้บริษัทที่พัฒนาระบบจ่ายเงินออนไลน์เข้ามาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ไม่ต่างกับกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว ซึ่งการแทนที่เงินสดที่จับต้องได้ด้วยเงินดิจิทัลเช่นนี้ ไม่ได้มีแต่ข้อดีเท่านั้น แต่ยังมีข้อเสีย ที่สำหรับบางสังคมแล้ว อาจจะพบกับผลลัพธ์ที่ไม่ดีมากกว่าที่ดี เมื่อพิจารณาจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่สำนักข่าว RT ได้ไปสัมภาษณ์
นาฟิส อาลาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนักวิชาการด้านการเงินจาก เฮนลีย์ บิสซิเนส สกูล สถาบันการศึกษาด้านการบริษัทชื่อดังในอังกฤษ ชี้ว่า การจะไปสู่สังคมไร้เงินเงินสดที่แท้จริงดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ แต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะกว่าที่จะนำเงินกระดาษออกจากระบบเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ออกจากวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจใช้เวลานับทศวรรษ ซึ่งการที่หลายประเทศต้องการมุ่งไปสู่จุดนั้น ก็เพราะว่า ระบบดังกล่าวมีข้อดีมากมาย เช่น ความสะดวกสบาย เนื่องจากสามารถย่นระยะเวลาการทำธุรกรรมการเงินลงได้มาก ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อดีส่วนนี้ลึกลงไปจะพบว่า ผู้ที่สะดวกสบายที่สุด กลับไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐ เพราะทุกธุรกรรมที่ผ่านระบบจะถูกบันทึกไว้โดยอัตโนมัติ และเป็นหลักฐานที่มัดตัวได้แน่นหนา สำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน เลี่ยงภาษี และค้าขายผ่านตลาดมืด ซึ่งส่วนนี้จะนับว่าเป็น 'ประโยชน์' ของสังคมโดยรวมก็ไม่ผิดนัก
ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ 'ราคา' เนื่องจากการพิมพ์ธนบัตรหรือผลิตเหรียญที่จับต้องได้ทั้งหลายใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของ GDP ประเทศ และการแทนที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วยระบบออนไลน์ที่มั่นคงดูจะสมเหตุสมผลอยู่มาก
ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจารย์อาลาม เตือนว่าระบบจ่ายเงินออนไลน์ หรือกระเป๋าสตางค์ออนไลน์นั้น เป็นเสมือนดาบสองคม ไม่ว่าจะสำหรับประเทศใดก็ตาม เพราะนอกจากจะควบคุมกิจกรรมการเงินที่ผิดกฎหมายได้แล้ว ยังสามารถควบคุมกิจกรรมการเงินของผู้ใช้เงินในฐานะปัจเจกด้วย เท่ากับว่าความเป็นส่วนตัวในการใช้จ่ายจะถูกลิดรอนไปทันที เพราะระบบไม่เพียงแต่บันทึกรายการเท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้มีการตรวจสอบความเป็นไปและแนวทางการใช้เงินได้อีกด้วย จึงพูดได้ว่าสังคมไร้เงินสดไม่ได้มอบอิสระทางการใช้จ่ายอย่างที่หลายคนคิด และภาพความเป็น 'สังคมเสรี' จะถูกแทนที่ด้วยความเป็น 'โครงสร้างแบบคอมมิวนิสต์'
ขณะที่ สตีฟ เวอร์ธิงตัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์น ในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่าสังคมจะไม่สามารถเดินไปสู่ภาวะ Cash-less หรือ ไร้เงินสด ได้โดยสมบูรณ์ แต่จะมุ่งไปสู่ภาวะ Less-cash หรือ ลดเงินสด เสียมากกว่า อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของคนยุคนี้ เพราะเงินสดมีข้อดีแบบ Triple A หรือ A สามตัว โดย A แรกคือ Accepted everywhere ทุกที่รับเงินสด , Anonymous ไม่ระบุชื่อ และ Authentic เป็นสิ่งแท้จริงและน่าเชื่อถือ ทำให้ในหลายสังคมยังคงต้องพึ่งพาเงินประเภทนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม อาจารย์เวอร์ธิงตันเห็นด้วยว่า การใช้เงินออนไลน์ทำให้ถูกควบคุมและจับตามองโดยรัฐได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเรื่อง 'การลดอาชญากรรมทางการเงิน' นั้น นักวิชาการหลายคนกลับไม่คิดว่าระบบการใช้จ่ายแบบนี้จะทำให้สัมฤทธิ์ผลได้จริง เช่น เซอร์จิโอ โฟการ์ดี นักวิจัยการเงินจากสถาบัน ESILV ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่มองว่า ปัจจุบัน ผู้คนก็ทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารที่มีการควบคุมและควรจะปลอดภัยที่สุดอยู่แล้ว แต่อาชญากรรมทางการเงินก็ยังเกิดขึ้น เท่ากับว่า ระบบไม่ใช่ปัจจัยในการระงับยับยั้งการทำผิดกฎหมาย และผู้สนับสนุนระบบเช่นนี้ก็ประเมินค่าความสามารถในการยับยั้งอาชญากรรมของ 'กระเป๋าสตางค์ออนไลน์' สูงไปเท่านั้น โดยโฟการ์ดี เห็นว่า ปัจจัยที่จะแก้ไขปัญหาการทำผิดด้านการเงินที่แท้จริง คือ 'ความเต็มใจที่จะยับยั้งอาชญากรรมของรัฐบาลแต่ละประเทศ' เองต่างหาก
ด้าน เบอร์นาโด บาติซ-ลาโซ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยบังกอร์ ในเวลส์ แสดงความกังวลเพิ่มเติมว่า ระบบไร้เงินสดอาจกีดกันคนชายขอบหลายกลุ่มออกจากสังคม ทั้งคนนอกเขตชุมชนเมือง คนชรา คนยากจน และในการปกครองหนึ่ง ๆ ก็ไม่ควรจะตัดทอนใครออกจากระบบเช่นนี้ นอกจากนี้ สังคมไร้เงินสดยังขึ้นอยู่กับศักยภาพของเทคโนโลยีหลายอย่าง และหากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ระบบก็จะเข้าสู่ภาวะชะงักงันทันที ซึ่งไม่สามารถปล่อยให้เป็นเช่นนั้นได้ เช่น เมื่อไฟฟ้าดับ จากพายุหรือปัญหาอื่น ๆ เมื่ออินเทอร์เน็ตล่ม หรือแม้แต่เมื่อระบบธนาคารขัดข้อง ทั้งหมดนี้จะทำให้การใช้จ่ายถูกตัดขาดลงทันที หากสังคมนั้นเป็นสังคมไร้เงินสด 100%
สุดท้าย บาติซ-ลาโซ ทิ้งท้ายไว้ว่า ความไร้เงินสดจะไม่ช่วยแก้ปัญหาด้านฟอกเงินหรือคอร์รัปชันอย่างที่หลายคนคาดการณ์ แต่จะทำให้รัฐบาลสามรถปรับฐานภาษีได้ง่ายดายขึ้นเสียมากกว่า และในทางหนึ่งผู้คนก็ควรจะมีสิทธิ์เลือกว่าการใช้จ่ายแต่ละครั้งจะทำผ่านช่องทางไหน โดยที่มีความเป็นส่วนตัวในการใช้จ่ายด้วย