'กูเกิล โครม' เตรียมอัปเดตให้ผู้ใช้งานสามารถรับทราบเพิ่มเติมได้ว่า 'คุกกี้' เก็บข้อมูลอะไรระหว่างการใช้งานบ้าง และจะบล็อกได้อย่างไร
ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของ 'กูเกิล' เสิร์ชเอนจินที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลัง เดอะ วอลสตรีต เจอร์นัล รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวภายในว่า กูเกิลเตรียมเปิดตัว 'เครื่องมือ' ใหม่ ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถจำกัดการติดตามการใช้งานเว็บเบราเซอร์ของตนเองได้มากขึ้น และสามารถบล็อกคุกกี้ได้อีกด้วย ซึ่งทางกูเกิลได้แถลงภายในงานสัมมนานักพัฒนาของกูเกิล หรือ Google I/O ที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่า ภายในปีนี้ผู้ใช้งานจะได้เริ่มใช้ฟีเจอร์ดังกล่าว
คุกกี้ ในภาษาคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ขนมหวาน แต่เป็นไฟล์เล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นจากเซิร์ฟเวอร์ และบันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งาน ทั้งข้อมูลเว็บไซต์ที่เข้าใช้ วิธีการที่เข้าถึงเว็บนั้น ๆ ข้อมูลการล็อกอิน และการลงทะเบียนแบบฟอร์ม เป็นต้น ซึ่งกรณีฟังก์ชันคุกกี้นี้ เป็นที่ถกเถียงกันมานานหลายปี ถึงความปลอดภัยของการใช้งาน และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เพราะข้อมูลที่ถูกติดตามโดยคุกกี้ สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น ใช้ทำมาร์เก็ตติงและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งนำข้อมูลส่วนตัวเช่นนี้ไปเผยแพร่กับบริษัทภายนอก ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และทำให้คนจำนวนมากแสดงความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล
ดังนั้น หากกูเกิลจะเดินหน้าจำกัดการเข้าถึงคุกกี้จริง บรรดาบริษัทโฆษณา และบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ก็น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกูเกิล โครม เป็นเสิร์ชเอนจินที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2017-2018 เว็บเบราเซอร์คู่แข่งอื่น ทั้งไฟร์ฟอกซ์และซาฟารีก็ได้ติดตั้งเครื่องมือจำกัดการติดตามของคุกกี้ไปก่อนหน้านี้แล้ว การปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันของกูเกิลเช่นนี้ จึงเหมือนเป็นความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แหล่งข่าวใกล้ชิดดังกล่าวของ เดอะ วอลสตรีต เจอร์นัล ยังเปิดเผยอีกว่า การจำกัดคุกกี้จะมาในรูปแบบแดชบอร์ด ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถดูได้ว่า คุกกี้เข้าถึงข้อมูลการใช้งานอย่างไรบ้าง และจะเลือกจำกัดการเข้าถึงของคุกกี้ได้อย่างไรบ้าง แต่การทำงานของคุกกี้ในการจดจำชื่อและพาสเวิร์ดการล็อกอินเว็บไซต์ต่าง ๆ จะยังคงอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน และทำให้ไม่ต้องมาคอยกรอกใหม่ทุกครั้ง
กูเกิลถือเป็นเสิร์ชเอนจินที่เก็บข้อมูลการเข้าถึงเว็บไซต์และการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ของยูสเซอร์บนโลกอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก และเป็นบริษัทขายโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เครื่องมือจำกัดคุกกี้ดังกล่าว จะสร้างผลกระทบแง่ลบต่อบริษัทคู่แข่งของกูเกิล ที่ใช้ข้อมูลจากคุกกี้ในการทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ เช่น บริษัทที่ใช้ข้อมูลผู้บริโภคในการยิงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ฟังก์ชันการจำกัดนี้ ไม่น่ากระทบต่อความสามารถของกูเกิลในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเบราเซอร์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนานักพัฒนาของกูเกิล หรือ Google I/O ยังมีการเปิดตัวฟีเจอร์ที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะฟีเจอร์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่ในปีนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ ด้วยการเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการเก็บข้อมูลของแต่ละแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟน เช่น การกำหนดว่าว่าแต่ละแอปจะเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งจีพีเอสของเราได้ตลอดเวลา หรือแค่บางเวลา หรือจะไม่ให้เข้าถึงเลยก็ได้ รวมถึงตั้งค่าไม่ให้แอปฯ ทำงานเบื้องหลังได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมี 'โหมดโฟกัส' (Focus Mode) หากผู้ใช้งานต้องการสมาธิในการทำอะไรสักอย่าง และไม่ต้องการได้ยินเสียงรบกวนจากการแจ้งเตือนของแอปฯ ต่าง ๆ ก็สามารถเลือกใช้โหมดนี้ได้ ขณะเดียวกัน หากต้องการ ก็ยังเลือกเปิดแจ้งเตือนเป็นบางแอปฯ ได้อีกด้วย อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจ คือ 'แฟมิลี ลิงก์' (Family Link) ที่จะช่วยให้พ่อแม่ควบคุมการใช้งานสมาร์ตโฟนของลูก ๆ โดยสามารถตั้งเวลาและสอดส่องว่าลูก ๆ กำลังใช้สมาร์ตโฟนทำอะไรบ้าง ซึ่งจะเริ่มใช้งานได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้
ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอย่างอื่น ก็มีทั้ง 'ดาร์ก ธีม' (Dark Theme) ที่จะเปลี่ยนหน้าจอให้เป็นสีดำ ซึ่งนอกจากจะสบายตาแล้ว ยังช่วยให้สมาร์ตโฟนประหยัดแบตเตอรี่ได้มากกว่าเดิม ทั้งยังมีระบบตรวจสอบอุณหภูมิเครื่องสำหรับผู้ที่เล่นเกมหนัก และหากสมาร์ตโฟนเริ่มมีความร้อนมากเกินไป ก็จะลด 'เฟรมเรต' หรือความละเอียดของภาพในเกมลงมา เพื่อให้เครื่องทำงานน้อยลง จนกว่าอุณหภูมิจะอยู่ในระดับปกติ ใครที่ใช้สมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เตรียมใช้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ เหล่านี้ได้เลย