ฤดูร้อนของปี 2019 จะเป็นอีกครั้งที่ทั่วโลกต้องรับมือกับคลื่นความร้อน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกครั้งที่เคยมีมา ล่าสุดอุณหภูมิในบางพื้นที่ของโลกพุ่งสูงถึง 50.6 องศาเซลเซียส คร่าชีวิตผู้คนแล้วหลายราย
เว็บไซต์ Science Alert เปิดเผยรายงานล่าสุดจากวารสาร Earth's Future ระบุว่ามหันตภัยเลวร้ายจากคลื่นความร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยหากปราศจากฝีมือของมนุษย์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสภาพภูมิอากาศโลกอย่างต่อเนื่อง และการกลับมาของคลื่นความร้อนอันรุนแรงในปีนี้ก็กำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ทั่วโลกจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต
ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คลื่นความร้อนรูปแบบใหม่ที่มีความร้อนระอุรุนแรงมากกว่าที่เคยมีมา ได้เริ่มส่งผลกระทบไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เรียกว่า 'นอร์ทเทิร์น เฮมิสเฟียร์' หรือบริเวณของโลกที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปจนถึงขั้วโลกเหนือ ซึ่งเผชิญกับภัยจากคลื่นความร้อน จนทำให้เกิดการเสียชีวิตของประชากรขึ้นแล้ว
นิวเดลี อากาศร้อนกรุงนิวเดลี ของอินเดีย คือหนึ่งในสถานที่ที่ประสบภัยอย่างรุนแรง โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา กรุงนิวเดลีต้องเผชิญกับอุณภูมิที่สูงถึง 48 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดของเดือนมิถุนายนเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์ แต่นั่นไม่ใช่สภาพที่เลวร้ายที่สุด เพราะในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน บางพื้นที่ของอินเดียต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดที่มีอุณหภูมิสูงแต่ที่ 50.6 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียเปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ว่ารัฐราชสถาน ทางตอนเหนือของอินเดียมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 50.6 องศาเซลเซียส พร้อมชี้ว่าอากาศอาจร้อนต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ในรัฐราชสถาน มหาราษฏระ มัธยประเทศ ปัญจาบ หรยาณา และอุตตรประเทศ ทำให้ขณะนี้ในอินเดียมีรายงานผู้เสียชีวิตจากอาการฮีทสโตรกหลายรายแล้ว กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกประกาศเตือนให้ประชาชนงดดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ รวมถึงงดอยู่กลางแจ้งช่วงกลางวัน
สถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงมาก ถึงขั้นทำให้ผู้โดยสารรถไฟสาย 'เกรละ เอ็กซ์เพรส' ในอินเดีย 4 ราย เสียชีวิตในรัฐอุตตรประเทศ โดยการรถไฟอินเดีย แถลงในวันที่ 11 มิถุนายน ว่าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าสาเหตุการเสียชีวิตเป็นเพราะอากาศร้อนอย่างรุนแรง โดยรถไฟขบวนนี้มีกลุ่มผู้เดินทาง 68 คน กำลังกลับจากการเยือนเมืองพาราณสีและเมืองอัคระ หนึ่งในกลุ่มผู้เดินทางมากับผู้เสียชีวิตเผยว่า ภายหลังออกจากเมืองอัคระได้ไม่นาน อากาศก็ร้อนขึ้นจนทนไม่ได้ กระทั่งบางคนเริ่มบ่นว่าหายใจลำบาก ก่อนที่หาความช่วยเหลือได้ พวกเขาก็หมดสติไปก่อน ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีอายุระหว่าง 69-80 ปี
ขณะที่ อีกฟากฝั่งอย่างบริเวณของโลกที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรลงไปจนถึงขั้วโลกใต้ อุณหภูมิของนครซานฟรานซิสโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ ก็กำลังประสบวิกฤติคลื่นความร้อนของซัมเมอร์นี้เช่นกัน แม้จะยังเป็นช่วงต้นของฤดูร้อน แต่อุณหภูมิได้พุ่งสูงถึง 37.8 องศาเซลเซียสเรียบร้อย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการบันทึกอุณหภูมิที่สูงเท่านี้มาก่อนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม
ไม่เพียงฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เท่านั้น ในเขตพื้นที่ของคาบสมุทรสแกนดิเนเวียก็กำลังเดินหน้าหาทางรับมือกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อนเช่นกัน โดยนายไมกา แรนทาเนน นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้ทวีตผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ยังไม่เคยมีช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์และการบันทึกว่าฟินแลนด์เคยเผชิญกับระดับอุณหภูมิที่สูงมากเท่ากับที่กำลังเจออยู่ในปัจจุบัน โดยขณะนี้อุณหภูมิในบางจุดของวงกลมอาร์กติก ซึ่งอยู่ใกล้ฟินแลนด์ ได้พุ่งสูงถึง 30 องศาเซลเซียสแล้ว
ขณะเดียวกัน ในประเทศไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเราอย่างญี่ปุ่นก็ถือว่าต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงในแต่ละปี แต่ในปีนี้ดูเหมือนจะโหดร้ายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนั้น อุณหภูมิในเดือนพฤษภาคมของญี่ปุ่นทุบสถิติที่เคยบันทึกไว้ โดยพุ่งขึ้นไปแตะที่ 39.5 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดถึง 5 ราย และมีผู้ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลมากถึง 600 คน
ปรากฏการณ์เอลนีโญถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญของต้นเหตุแห่งความร้อน ล่าสุดได้ส่งผลให้อุณหภูมิแถบหมู่เกาะในฟิลิปปินส์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกระทบอุตสาหกรรมการปลูกมะม่วงของทั้งประเทศ ทำให้มะม่วงมีผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าปกติ โดยเพียง 1 จาก 3 หมู่เกาะหลักของฟิลิปปินส์ก็มีมะม่วงส่วนเกินแล้วกว่า 2 ล้านกิโลกรัม ทำให้ เอ็มมานูเอล ปิโยล รัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรของฟิลิปปินส์ ออกมากล่าวว่า บรรดาเกษตรกรสวนมะม่วง รายงานมาว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ โดยระบุว่าเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ทั้งเอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวน ที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของฟิลิปปินส์มีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อน ปิโยล ชี้ว่าอากาศร้อนและฝนที่ตกอย่างฉับพลันทำให้ผลผลิตมีปริมาณสูงขึ้นกว่าปกติ และอุปทานส่วนเกินนี้ส่งผลให้ราคามะม่วงตกลงจากกิโลกรัมละ 58 เปโซ หรือราว 35 บาท เหลือเพียงกิโลกรัม ละ 25 เปโซ หรือราว 15 บาทเท่านั้น เกษตรกรบางรายในลูซอน ถึงกับออกมาแจกมะม่วงฟรีโดยใส่ถุงแขวนไว้หน้ารั้วสวนเพื่อระบายสินค้าก่อนที่จะเน่าเสียโดยเปล่าประโยชน์