ในปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเกี่ยวกับคนดังที่พลาดพลั้งในการแสดงความเห็นออนไลน์หลายครั้ง จนกลายเป็นวิกฤติด้านภาพลักษณ์และการประชาสัมพันธ์ไปในที่สุด แต่บริการหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมอาจช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ภายใต้บริการที่ชื่อว่า 'ผู้พิทักษ์ชื่อเสียง' (ReputationDefender)
บทความน่าสนใจส่งท้ายปี 2018 ของนิตยสารแทตเลอร์ (Tatler) ที่เจาะกลุ่มสังคมชั้นสูงของอังกฤษ กล่าวถึงบริการที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนดัง ซึ่งก็มีให้เลือกหลายบริษัท และถือเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีในยุคดิจิทัล นั่นก็คือ บริการจัดการชื่อเสียงออนไลน์ โดยแทตเลอร์ยกตัวอย่างกรณีการทวีตของนายอีลอน มัสก์ ที่ไปเรียกนักดำน้ำช่วยทีมหมูป่าชาวอังกฤษว่าเป็น 'พวกลวนลามเด็ก' จนกลายเป็นวิกฤติพีอาร์ครั้งใหญ่ และกลายเป็นคดีความในที่สุด
นอกจากนี้ แทตเลอร์ยังอ้างถึงกรณีการรั่วไหลของอีเมลของ เดวิด เบคแฮม ซูเปอร์สตาร์ลูกหนังระดับโลก ที่เขาเคยส่งถึงหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของตัวเอง ทั้งที่ระบุว่าไม่พอใจที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งยศอัศวิน และที่พยายามจะขอต่อรองอัปเกรดห้องโรงแรม ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลที่น่าอายสำหรับคนดังระดับนี้ และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าบริการดูแลชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ควรมีอยู่อย่างยิ่ง
หนึ่งในบริการที่ว่าก็คือ 'ผู้พิทักษ์ชื่อเสียง' หรือ ReputationDefender ของบริษัท Reputation.com ที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2006 และเพิ่งมาเน้นบริการออนไลน์ในช่วงหลัง โดยให้เหตุผลว่า ชื่อเสียงในยุคนี้เกิดขึ้นทาง URL พอ ๆ กับ IRL หรือ In Real Life และสำคัญเป็นพิเศษกับคนรวยและคนดัง ที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางในวงสังคม กลายเป็นว่า ยิ่งรวยก็ยิ่งพยายามหาคนมาจัดการโพรไฟล์ไม่ดีออนไลน์ เพื่อให้คนค้นหาไม่เจอ ส่งผลดีต่อตัวบุคคลและธุรกิจต่อไป
การทำงานของ ReputationDefender คือ การมอนิเตอร์ข้อมูลออนไลน์ และเมื่อพบการกล่าวถึงลูกค้าที่มาว่าจ้าง ในเรื่องที่ละเอียดอ่อนหรือเรื่องไม่ดี ก็จะแจ้งเตือนเจ้าตัวแบบรีลไทม์ ซึ่งข้อมูลเช่นนี้รวมถึง วันเกิด ที่อยู่ รูปภาพ รายละเอียดคดีความ เอกสารยื่นขอหย่าร้างจากคู่สมรส และเอกสารการใช้จ่ายเงินด้วย จากนั้น ReputationDefender จะใช้อัลกอริทึมและข่าวแง่ดีที่มีอยู่ จัดวางให้ขึ้นมาเป็นลำดับแรก ๆ เมื่อมีการค้นหาชื่อลูกค้าในเสิร์ชเอ็นจิน เพื่อให้ข่าวเสียหายร่นไปอยู่หน้าหลัง ๆ เพราะจากประสบการณ์ในวงการพีอาร์แล้ว บริษัทระบุว่า 'ชาวเน็ต' 92 เปอร์เซ็นต์ ไม่อ่านผลการค้นหาเกินจากหน้าแรก และ 99 เปอร์เซ็นต์ อ่านไม่เกินหน้า 2
ผู้ดูแล ReputationDefender กล่าวว่า ข่าวแง่ดีที่บริษัทเขียนขึ้นมาคือข่าวที่ได้รับการอนุมัติจากลูกค้าแล้วทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการแจกจ่ายไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่บริษัทสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้บริการเช่นนี้เฟื่องฟู ก็คือการที่ผู้คนใช้สมาร์ตโฟนและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวกันจนเป็นเรื่องปกติ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Personal Digital Footprint หรือ Digital Shadow นั่นคือ ร่องรอยทางดิจิทัลของบุคคลหนึ่ง ๆ ที่มีค่าไม่ต่างจากทรัพย์สินที่จับต้องได้ อย่างที่ ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล เคยกล่าวไว้ว่า 'มีข้อมูลบนไอโฟนให้โจรขโมย มากกว่าทรัพย์สินในบ้านเสียอีก'
ทั้งนี้ แทตเลอร์ อ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานกรรมาธิการด้านข้อมูล หรือ ICO ของอังกฤษ ที่ชี้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบเหตุข้อมูลออนไลน์รั่วไหลเพิ่มขึ้นถึง 75 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทที่เป็นเป้าหมายการแฮกล้วนเป็นแอปพลิเคชันที่คนดังนิยมใช้ทั้งสิ้น เช่น เฟซบุ๊ก ยาฮู ทอล์กทอล์ก และลิงค์อิน โดยที่นับวัน แฮกเกอร์จะยิ่งเก่งขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถขโมยข้อมูลที่เป็นความลับได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย จนสามารถทำได้เกือบทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่การโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารจนหมด และปลอมแปลงอัตลักษณ์เป็นบุคคลนั้น ๆ แทน
สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นนั้น แทตเลอร์แนะนำให้ผู้ใช้อีเมลลองใส่อีเมลของตัวเองในช่องคำค้นหาของ 'แฮฟ ไอ บีน โพนด์ ดอตคอม' (haveibeenpwned.com) เพื่อดูว่าอีเมลนั้น และข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ผ่านการแฮกมาบ้างหรือยัง แต่นั่นก็ไม่ถือเป็นวิธีป้องกันตัวทางไซเบอร์แต่อย่างใด
ด้านกูรูด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จาก 'ฟาวน์เดอร์ส แฟกทอรี' ในกรุงลอนดอน ก็ให้ความเห็นที่ดูจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทหนึ่งเป็นพิเศษ โดยเขาแนะนำว่าการเลือกอุปกรณ์แอปเปิลจะปลอดภัยต่อผู้ใช้กว่าแอนดรอยด์ เพราะแอปเปิลมีระบบเข้ารหัสข้อมูลในไอโฟนและไอแพดที่แน่นหนา และอุปกรณ์แต่ละชิ้นก็จะมีกุญแจดิจิทัลเฉพาะ ซึ่งยิ่งเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอีกขั้นหนึ่งด้วย
แทตเลอร์ตั้งคำถามปิดท้ายบทความเกี่ยวกับบริการปกป้องชื่อเสียงคนดังนี้ว่า ReputationDefender จะทำอย่างไรกับลูกค้าที่เคยต้องคดี และมีข้อมูลที่สาธารณชนควรรู้ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทก็กล่าวอย่างหนักแน่นว่าจะไม่รับลูกค้าแบบนั้นแน่นอน ถือเป็นการการันตีได้อย่างหนึ่งว่า การปกป้องชื่อเสียงคนดังคนใดคนหนึ่งจะไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิการป้องกันตัวเองของคนทั่วไป