บลูมเบิร์ก รายงานว่า 'ซิโนแวค ไบโอเทค' บริษัทเวชภัณฑ์ของจีน ผู้ผลิตวัคซีนโคโรนาแวค ออกมาอธิบายในประเด็นว่า เหตุใดประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีการทดสอบระยะที่ 3 ทั้งในบราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย ถึงมีรายงานประสิทธิภาพไม่สอดคล้องกัน หลังจากก่อนหน้านี้ สถาบันชีวการแพทย์บูตันตันของบราซิลแถลงว่า ซิโนแวคมีประสิทธิภาพป้องกันโควิดที่ราว 50.4% เกินมาตรฐานการอนุมัติวัคซีนเพียงเล็กน้อย สวนทางกับตุรกีที่รายงานประสิทธิภาพวัคซีนว่ามีประสิทธิภาพราว 90% ขณะที่อินโดนีเซียประกาศประสิทธิภาพราว 65%
ซิโนแวคอธิบายว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับการเว้นระยะในการฉีดระหว่างโดสแรกกับโดสที่สอง โดยหากเว้นระยะระหว่างเข็มแรกกับเข็มสอง วัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซิโนแวคระบุว่า อาสาสมัครเกือบ 1,400 คน จากทั้งหมด 13,000 คนที่เข้าร่วมการทดลองวัคซีนกับบริษัทนั้นได้รับวัคซีน 2 โดสในระยะห่าง 3 สัปดาห์ แต่การทดสอบในอาสาสมัครของบราซิลได้รับวัคซีนทั้งสองเข็ม ทิ้งห่างเพียง 2 สัปดาห์ ผลการทดสอบประสิทธิภาพจึงอยู่ที่ราว 50.4% ตามรายงานในก่อนหน้านี้
บริษัทยาของจีนยังชี้แจงอีกว่า ในการทดสอบที่บราซิลซึ่งมีจำนวนอาสาสมัครเข้าร่วมเป็นกลุ่มใหญ่นั้น ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับการทดสอบเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูง จึงเป็นตัวแปรที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนต่ำกว่าการทดสอบในพื้นทีอื่นๆ หากเทียบกับอินโดนีเซีย หรือตุรกี โดยซิโนแวคกล่าวอีกว่า วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพในการปกป้องบุคลากรการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอีกราว 20% หากทิ้งระยะห่างทั้งสองโดสที่ราว 21 - 28 วัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะออกมาชี้แจงเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทดลองในบราซิล แต่ยังไม่อาจสรุปประสิทธิภาพของการทดสอบในตุรกีซึ่งมีผลที่ 90% และอินโดนีเซียที่ 65% ได้ เนื่องจากทดสอบในอาสาสมัครจำนวนน้อยเกินไปและมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่น้อยเกินไปเช่นกัน
ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกและสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ระบุว่า วัคซีนทุกชนิดต้องมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 50% ถึงสามารถอนุมัติใช้ได้ ซึ่งถึงแม้วัคซีนโคโรนาแวค จะยังคงมีข้อมูลประสิทธิภาพที่สับสน แต่อินโดนีเซีย และบราซิลได้อนุมัติใช้วัคซีนดังกล่าวแล้ว เช่นเดียวกับชิลี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพื่อแจกจ่ายให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน