ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์' ชวนเทียบประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 Pfizer พร้อมสุด แต่ AstraZeneca (ที่ไทยซื้อ) ราคาถูกที่สุด

สหราชอาณาจักรกลายเป็นชาติแรกของโลก ที่เริ่มแจกจ่ายวัคซีนโควิดแก่ประชาชนเป็นกลุ่มแรกในผู้สูงอายุ และบุคลากรทางการแพทย์ เบื้องต้นจำนวน 8 แสนโดส โดยวัคซีนที่อังกฤษเลือกฉีดแจกจ่ายให้ประชาชนเป็นกลุ่มแรกคือ 'วัคซีนไฟเซอร์' ที่บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และ ไบโอเอนเทค (BioNTech)ของเยอรมนี พัฒนาร่วมกัน หลังจากที่สัปดาห์ที่ผ่านมา อังกฤษได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนของไฟเซอร์แบบฉุกเฉินเป็นชาติแรกของโลก

ส่วนประเทศไทย แม้รัฐบาลได้ลงนามจัดซื้อวัคซีนโควิดจากบริษัทแอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca) ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ตั้งเป้าให้คนไทยกลุ่มแรกเข้าถึงวัคซีนได้ในช่วงกลางปี 2564 แต่วัคซีนดังกล่าว กำลังเผชิญคำถามในแววงวิชาการ ถึงอัตราประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อ

ล่าสุด เมื่อ 8 ธ.ค. มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เผยว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในการทดลองทางคลินิกระยะ 3 พบว่า วัคซีนให้ประสิทธิภาพเฉลี่ย 70.4% 

วัคซีนโควิด

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้วิจัยวัคซีนเพียงไม่กี่แห่ง ที่คืบหน้าในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ที่เป็นการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัคร และกำลังอยู่ระหว่างขออนุมัติใช้ฉุกเฉิน อาทิ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค , โมเดอร์นา, แอสตราเซนเนกา, สถาบันกามาเลยาของรัสเซีย และ ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทยาของจีน

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายฝ่ายเตือนว่า สิ่งที่รู้เกี่ยวกับวัคซีนเหล่านี้ยังมีน้อย ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เผยแพร่มาจากบริษัทผู้พัฒนาเท่านั้น 'วอยซ์' เปรียบเทียบประสิทธิภาพ 3 วัคซีนจากผู้ผลิตรายใหญ่ ถึงคุณสมบัติและราคาต่อโดสที่แตกต่างกันของวัคซีนจากผู้ผลิตแต่ละแห่ง


'Viral vector' กับ 'mRNA'

ไฟเซอร์และโมเดอร์นา พัฒนาวัคซีนโควิดชนิด mRNA ได้สำเร็จ โดยเป็นการใช้สารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ใส่ในวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน การใช้ mRNA ในวัคซีนเป็นอะไรที่ใหม่มาก แทบไม่เคยมีการใช้ในวงกว้างมาก่อน

ส่วนของแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนชนิด 'Viral vector vaccine' คือวิธีการที่ใช้ไวรัสไข้หวัดทำให้อ่อนแอลงแล้วไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสลงไป เป็นรูปแบบวัคซีนที่นิยมใช้กันแพร่หลาย อาทิ วัคซีนอีโบลา 


ประสิทธิภาพต้องเกิน 50%

ตามมาตรฐานของสำนักอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ระบุไว้ ไม่ว่าวัคซีนชนิดใดก็ตาม ต้องมีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อมากกว่า 50% จึงสามารถยื่นขออนุมัติใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินได้ 

วัคซีนของบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่อย่าง ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ยืนยันรายงานประสิทธิภาพที่ 90-95% ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกา กับม.ออกซฟอร์ด ที่ไทยซื้อ ให้ปร ะสิทธิภาพเฉลี่ยที่ 70% 

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่แท้จริงของวัคซีนว่าสามารถป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันในประชากรวงกว้างจริงหรือไม่ อีกทั้ง วัคซีนเหล่านี้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด หรือเป็นการลดระดับความรุนแรงเมื่อป่วยติดเชื้อเท่านั้น เนื่องจากหากผู้ได้รับวัคซีนติดเชื้อโควิด ยังมีโอกาสแพร่ไวรัสให้กับคนรอบข้างได้เช่นกัน 


วัคซีนโควิด


ความปลอดภัย

วัคซีนจากไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา ยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยที่น่ากังวล โดยวัคซีนไฟเซฮร์ และโมเดอร์นา มีรายงานผลข้างเคียงในกลุ่มอาสาสมัครว่า มีอาการปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ และอ่อนเพลีย ซึ่งแทบไม่ต่างจากอาการข้างเคียงของวัคซีนโดยทั่วไป เช่นเดียวกับ วัคซีนของแอสตราเซเนกา ที่ยังไม่พบผลข้างเคียงที่น่ากังวล

วัคซีนจากผู้ผลิตทั้งหมด ต้องฉีด 2 เข็ม โดยทิ้งระยะห่างระหว่างเข็มแรกกับเข็มสองที่แตกต่างกัน ไฟเซอร์ทิ้งห่าง 21 วัน, โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา 28 วัน


ใครพร้อมที่สุด?

วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งได้รับอนุมัติใช้แบบฉุกเฉินในสหราชอาณาจักรเป็นชาติแรก ถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุด หากเทียบกับผู้พัฒนารายอื่นๆ อย่างโมเดอร์นา และแอสตราเซเนกาซึ่งยังคงรอการอนุมัติจากหน่วยงานในสหรัฐ หรือยุโรป

ไฟเซอร์ตั้งเป้าผลิตวัคซีนให้ได้50 ล้านโดส ภายในปีนี้ และ 1,300 ล้านโดส ในปี 2564 ส่วนโมเดอร์นา ตั้งเป้าผลิตวัคซีน 20 ล้านโดส สำหรับการใช้ในสหรัฐฯ ภายในช่วงสิ้นปีนี้ และอีก 100 ล้านโดส สำหรับการใช้งานทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 

ขณะที่เอสตราเซเนกา เผยว่า ได้ทำข้อตกลงจัดหาวัคซีนในปริมาณ 3 พันล้านโดสในหลายชาติทั่วโลก แม้ว่ายังเผชิญคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อในแวดวงนักวิทยาศาสตร์

วัคซีนโควิด


เก็บรักษา - ราคาต่อโดส

วัคซีนจากแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นชนิด 'Viral vector' ง่ายต่อการขนส่งและจัดเก็บกว่ารายอื่นๆ โดยสามารถเก็บได้อย่างน้อย 6 เดือน ในตู้เย็นอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะต่อกลุ่มประเทศเขตร้อนชื้น

ขณะที่ไฟเซอร์ จำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส สำหรับการจัดเก็บเป็นเวลานาน ส่วนโมเดอร์นาต้องเก็บที่ -20 องศาเซลเซียส 

หากเทียบราคาแล้ว วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ไทยลงนามซื้อ ถูกสุดเมื่อเทียบกับผู้พัฒนารายอื่น เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดส หรือ 120-150 บาท ส่วนโมเดอร์นา เฉลี่ยที่ 32-37 เหรียญสหรัฐ หรือ 970-1,120 บาทต่อโดส

ขณะที่ไฟเซอร์ ตั้งราคาเฉลี่ยที่ 20 ดอลลาร์ หรือราว 600 บาทต่อโดส วัคซีนทั้งจากผู้ผลิตทั้งสามต้องฉีดคนละ 2 โดส จึงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มีประสิทธิภาพตามที่ผู้พัฒนาอ้าง อย่างไรก็ดีผู้ผลิตแต่ละรายเผยว่า ราคาเฉลี่ยอาจถูกลงหากเป็นการจัดซื้อในปริมาณมากกับรัฐบาลต่างๆ รวมถึงหากเป็นการจัดซื้อเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลางทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ที่มา : forbes, observer, cnbc, bloomberg, astrazeneca, nytimes bloomberg