ตามกฎหมายสิงคโปร์ในปัจจุบัน อายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี โดยนายจ้างไม่สามารถปลดลูกจ้างออกด้วยเหตุผลทางอายุได้จนกว่าจะถึงวัยเกษียณ และเมื่อถึงอายุเกษียณแล้ว นายจ้างจะต้องเสนอการจ้างใหม่อีกครั้งให้ลูกจ้างทำงานได้จนกว่าจะอายุ 67 ปี สิงคโปร์เรียกสิ่งนี้ว่า 'อายุการจ้างงานใหม่' (re-employment age) โดยอาจมีการปรับรายละเอียดสัญญาจ้างได้
ทว่าในปัจจุบันชาวสิงคโปร์มีอายุที่ยาวขึ้น และผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยยังคงต้องการทำงานอยู่ รัฐบาลจึงได้ตอบรับข้อเสนอทั้งหมดของคณะทำงานไตรภาคีเรื่องแรงงานสูงวัย ซึ่งตั้งขึ้นในปีที่แล้วโดยประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ สหภาพแรงงาน และบรรดานายจ้าง
ตามข้อเสนอที่กลายมาเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้มีใจความหลัก 4 ประการ หนึ่ง อายุเกษียณจะเพิ่มขึ้นจาก 62 เป็น 65 ปี สอง อายุการจ้างงานใหม่จะเพิ่มจาก 67 เป็น 70 ปี สาม อัตราเงินสมทบกองทุนสำรองเรียนชีพสำหรับผู้สูงวัยจะมากขึ้น และ สี่ ทั้งหมดจะดำเนินการปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปกระทั่งบรรลุเป้าหมายในปี 2030
ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวในงานเนชันแนลเดย์แรลลี (National Day Rally) ซึ่งเป็นงานแถลงนโยบายรัฐบาลประจำปีที่จัดในเดือนเดียวกับวันชาติ ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนแรงงานสูงวัยให้ทำงานต่อไปนานขึ้น และมีอิสระทางการเงินมากขึ้น
"ที่จริงแล้วผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่อยากหยุดทำงาน เราสุขภาพดีกันนานขึ้น มีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่เราไม่อยากจะใช้เวลาวัยเกษียณอยู่เฉยๆ นานขึ้น เรายังอยากจะแอคทีฟ มีส่วนร่วม รู้สึกมีคุณค่าและจุดหมาย" ลีเซียนลุงกล่าว
นำแรงงานสูงวัยร่วมสร้างอนาคตสิงคโปร์
ปัจจุบัน อายุเกษียณของชาวสิงคโปร์อยู่ที่ 62 ปี จะเพิ่มเป็น 63 ปีในปี 2022 และเป็น 65 ปีในที่สุด ภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังจะปรับอายุการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ สิงคโปร์มีสิ่งที่เรียกว่าอายุการจ้างงานใหม่ (re-employment age) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ 67 ปี กล่าวคือ หากลูกจ้างมีอายุครบ 62 ปีหรืออายุเกษียณ นายจ้างต้องเสนอการจ้างงานใหม่ให้อีกครั้ง และให้ลูกจ้างที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทำงานต่อได้จนถึงอายุ 67 ปี โดยตามข้อเสนอ สิงคโปร์จะเพิ่มอายุการจ้างงานใหม่นี้เป็น 68 ปี ในปี 2022 และเป็น 70 ปีภายในปี 2030
เพดานเกษียณใหม่นี้จะมีผลกับผู้ที่เกิดหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 1960 และเพดานอายุการจ้างงานใหม่จะมีผลกับผู้ที่เกิดหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 1955
นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับเพิ่มสัดสวนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund: CPF) สำหรับผู้สูงอายุด้วย
ในปัจจุบันอัตราการจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งประกอบด้วยเงินสมทบส่วนนายจ้างและส่วนลูกจ้าง รวมแล้วอยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน (นายจ้าง 17 เปอร์เซ็นต์ ลูกจ้าง 20 เปอร์เซ็นต์) และหลังจากอายุ 55 ปี จะทยอยลดลงอย่างมากทุกๆ 5 ปี กระทั่งเหลือเพียง 12.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อลูกจ้างมีอายุ 65 ปีขึ้นไป
ตั้งแต่ปี 2021 อัตราเงินสมทบนี้จะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นกระทั่งผู้มีอายุไม่เกิน 60 ปีได้รับอัตราเงินสมทบกองทุนเต็มจำนวนไม่ต่างจากคนหนุ่มสาว แล้วค่อยลดลงเมื่ออายุเลย 60 ปี ไปแล้ว โดยย้ำว่ายังคงเริ่มถอนเงินออกจากกองทุนได้ตั้งแต่อายุ 55 ปี และได้รับเงินรายเดือนตั้งแต่อายุ 65 ปีเหมือนเดิม
ลีเซียนลุงชี้ว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี โดยขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการเพิ่มต้นทุนของนายจ้าง โดยเซียนลุงกล่าวว่ารัฐบาลจะมีการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้างในการปรับตัวกับนโยบายใหม่ด้านแรงงานสูงอายุนี้
รัฐบาลจะเป็นผู้นำเริ่มปรับเพดานอายุเกษียณและอายุการจ้างงานใหม่ในภาคราชการก่อนในปี 2021 ล่วงหน้ากำหนดการเป็นเวลา 1 ปี พร้อมส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่พร้อมปรับเปลี่ยนด้วยเริ่มเปลี่ยนตามเลย
ลีเซียนลุงกล่าวอีกว่า การจะทำให้ผู้สูงวัยทำงานต่อได้อย่างมีผลิตภาพต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากนายจ้างและลูกจ้าง นายจ้างต้องออกแบบการเทรนและเนื้องานใหม่ให้เหมาะกับความสามารถและจุดแข็งของแรงงานสูงวัย ขณะที่ลูกจ้างเองก็ต้องพร้อมจะปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่และเผชิญความรับผิดชอบที่ต่างจากเดิม
การปรับนโยบายนี้เป็นการรับมือกับภาวะสังคมสูงวัยของสิงคโปร์ ข้อมูลในปี 2017 ของซีไอเอของสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency: CIA) ประมาณการณ์ว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (life expectancy at birth) สูงเป็นอันดับ 3 ของโลกที่อายุ 85.30 ปี รองจากประเทศโมนาโกและญี่ปุ่น และกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ชี้ว่าในปี 2018 อายุมัธยฐานของประชาชนอยู่ที่ 43 ปี
สำหรับประเทศไทยนั้น อายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.90 ปี เป็นอันดับที่ 116 ตามข้อมูลของซีไอเอ และอายุเกษียณของลูกจ้างในภาคเอกชนขึ้นอยู่กับการตกลงกับนายจ้าง โดยหากไม่มีกำหนดไว้ให้ถือว่าลูกจ้างแสดงเจตนาเกษียณได้เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป
สำหรับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยส่วนใหญ่ปัจจุบันอยู่ที่ 60 ปี และกำลังมีการศึกษาให้ค่อยๆ ขยายอายุเกษียณขึ้นกระทั่งเป็น 63 ปี ในปี พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2021) เพื่อบรรเทาปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในบางสาขา และรองรับปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทว่าจะไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย ทั้งนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนในสิ้นปีนี้
ที่มา: Straits Times / Business Times / Bloomberg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: