ไม่พบผลการค้นหา
สื่อนอกระบุสายสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐีไทยและนักลงทุนจีน เป็นเครือข่ายที่ช่วยดึงดูดกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และความร่วมมือด้านการลงทุนไทย-จีน แต่นักวิชาการเตือน "พื้นที่อีอีซีอาจกลายเป็นอาณานิคมแห่งใหม่"

บลูมเบิร์ก รายงานสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างเอกชนไทยกับนักลงทุนจากจีน มีส่วนช่วยดึงการลงทุนจากภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยอาศัยสายสัมพันธ์ที่ภาคเอกชนไทยมีต่อภาคเอกชนจีน

บลูมเบิร์กระบุว่า กลุ่มซีพีเป็นหน่วยงานหลักที่ดึงดูดการลงทุนจีนเข้ามาในภูมิภาคนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ซีพีชนะการประมูลรถไฟเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติหลัก 2 แห่ง เชื่อมต่อพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก โดยจะมีการดึงบริษัทรถไฟจากจีนเข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อสร้างโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างซีพีและภาคเอกชนจากจีนนั้นยังดึงดูดการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีจากจีนเข้ามาในพื้นที่โครงการดังกล่าวดัวย 

นอกจากนี้ ซีพียังลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเมื่อปี 2017 ซีพีได้ประกาศจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ร่วมกับบริษัท China’s SAIC Motor และยังร่วมมือกับบริษัทก่อสร้างจากจีนอย่าง Guangxi Construction Engineering Group เพื่อพัฒนาพื้นที่ 3,068 ไร่ สำหรับการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในเขตอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากจีน

ทางด้านเทคโนโลยี บริษัทหัวเว่ย ผู้นำทางด้านเครือข่ายการสื่อสารของจีนก็ได้เข้ามาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างซีพีได้ร่วมกับหัวเว่ยนั้นต่างเป็นผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจอินเตอร์เน็ตของไทยอย่างอินเตอร์เน็ตในระบบ 4G และบริษัททรู ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของเครือซีพีก็ใช้อุปกรณ์เครือข่ายการสื่อสารจากหัวเว่ย และสำหรับโครงการอีอีซีนี้ หัวเว่ยถูกเชิญให้เป็นผู้ทดสอบระบบ 5G ในพื้นที่สำนักงานของอีอีซีเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นายคณิต แสงสุบรรณ เลขานุการโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกล่าวว่า การลงทุนของจีนในประเทศไทยนั้นปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ลงทุนที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์


"คลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะมานั้น จะมุ่งเป้าหมายไปที่เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจีนถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจุดแข็งในเรื่องดังกล่าว"


นอกจากนี้นายคณิตยังยืนยันว่า ทางโครงการมีแผนที่จะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องที่ดินและการท่องเที่ยวที่จะส่งผลต่อเกษตรกรท้องถิ่นให้น้อยที่สุด

ขณะที่ทางด้านซีพีกล่าวในแถลงการณ์ว่า "โครงการอีอีซีจะช่วยรองรับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของไทยและยังก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย"

โครงการอีอีซีเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมุ่งหวังให้เกิดการลงทุนและการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีน บลูมเบิร์กระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเอกชนไทยและเอกชนจีนนั้นนอกจากจะเป็นตัวช่วยในการดึงดูดนักลงทุนแล้ว แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตถึงการผูกขาดการลงทุนจากจีน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะระบุว่าโครงการอีอีซี จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่นและจีนก็ตาม

สมนึก จงมีวศิน อาจารย์ผู้ศึกษาโครงการอีอีซีจากมหาวิทยาลัยนานาชาติศิลปากรกล่าวว่า "พื้นที่อีอีซีจะกลายเป็นอาณานิคมแห่งใหม่ผ่านนโยบายการลงทุนระหว่างไทย-จีน ขณะที่คนท้องถิ่นจะถูกทำให้เป็นพลเมืองชั้นสอง"

ทางด้านโภคิน พลกุล อดีตที่ปรึกษาในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกล่าวว่า "รัฐบาลปัจจุบันมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจให้ขยายตัว แต่สำหรับคนรากหญ้าแล้ว โครงการดังกล่าวกลับไม่ได้เอื้อประโยชน์ใดๆให้แก่พวกเขาทั้งสิ้น มีแต่กลุ่มชนชั้นนำเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว"

อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กได้กล่าวว่า ตระกูลเจียรวนนท์ ไม่ต่างกับตระกูลมหาเศรษฐีเชื้อสายจีนอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจในจีนอย่างแนบแน่น อย่างตระกูล 'ไซ' ที่ร่ำรวยที่สุดในฟิลิปปินส์ก็เป็นคนจีนอพยพมาจากจีน และนายโรเบิร์ต ก๊อก ของมาเลเซีย ก็เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายจีน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนเช่นกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: