ไม่พบผลการค้นหา
'มาร์ติน' ผู้เชี่ยวชาญที่เคยสำรวจและเขียนแผนที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำ-นางนอน พร้อมทีมงาน บินมาถึงไทยแล้ว เตรียมช่วยทีมหมูป่า 13 ชีวิตออกจากถ้ำให้เร็วที่สุด ขณะที่อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เตือน 7-10 ก.ค. ฝนตกหนักมากที่ จ.เชียงราย

นายมาร์ติน เอลลิส ชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญที่เคยสำรวจและเขียนแผนที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำ-นางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว เพื่อให้ข้อมูลกับทีมกู้ภัยของไทย สนับสนุนการนำตัวทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 คน ออกจากถ้ำให้เร็วที่สุด โดยนายมาร์ตินเดินทางมาจากท่าอากาศยานนานาชาติโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 951 เวลา 14.25 น. ของวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา และมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เวลา 06.00 น. วันที่ 6 ก.ค. จากนั้น เดินทางต่อด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ PG 231 เวลา 07.25  ไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เวลา 08.55  

ส่วนทีมงานอีก 4 คน แยกเดินทางเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเดินทาง คือนายคริสโตเฟอร์ เจเวลล์ กับนายเจสัน มอลลิสัน เดินทางถึง จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ อีก 2 คน คือ นายเคลย์ตัน ไมเคิล จอห์น กับนายเกรี่ มิทเชลล์ มาถึง จ.เชียงราย เช้าวัน 6 ก.ค. 

ทั้งนี้ ทีมนักสำรวจทั้งหมด เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว จะเดินทางไปยังพื้นที่ถ้ำหลวงทันที เพื่อเข้าประชุมหารือกับทีมกู้ภัย ทั้งของประเทศไทยและต่างชาติ ในการนำตัวทีมหมูป่าอะคาเดมี ออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด 

อธิบดีกรมอุตุฯ เผย 8-9 ก.ค. คาดฝนตกหนักมากเป็นพิเศษ

ด้านนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า สภาพอากาศวันนี้ ( 6 ก.ค.) ในพื้นที่บริเวณเขตถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ปริมาณฝนยังมีไม่มากในช่วงเช้า แต่ช่วงบ่ายจะเริ่มมีเมฆหนาเข้ามาปกคลุมและมีฝนตกในบางพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะตกบริเวณ จ.เชียงรายตอนล่าง ในอำเภอที่อยู่ติดกับจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มาจากคาบสมุทรทะเลอันดามันจะพัดเข้ามา ทำให้ตั้งแต่วันที่ 7 -10 ก.ค. บริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะวันที่ 8 - 9 ก.ค. จะมีฝนตกหนักมากเป็นพิเศษ เพราะเทือกเขาบริเวณนี้เป็นแนวปะทะลมโดยตรง ซึ่งปริมาณฝนอาจจะใกล้เคียงกับช่วงสัปดาห์ก่อนที่ทั้ง 13 คนยังติดอยู่ในถ้ำ และอาจทำให้การปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือเยาวชนและโค้ช 13 คนลำบากมากขึ้น ปริมาณน้ำที่สูบออกไป อาจกลับมาเพิ่มมากขึ้น และหลังวันที่ 10 เป็นต้นไป ยังคงมีฝนตกอยู่บ้างแต่ปริมาณฝนอาจน้อยกว่าช่วงเวลาดังกล่าว


อธิบดีกรมอุตุฯ

(วันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา)

ทำธนาคารน้ำ สร้างปล่องอากาศ ลดพื้นที่นาประชาชนเสียหาย

ส่วนการสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากถ้ำหลวง มีปริมาณมากต่อเนื่อง ทำให้น้ำที่ระบายออกมาไม่สามารถระบายแบบปกติ และไหลลงไปด้านหน้าถ้ำเป็นระยะทางกว่า 900 เมตร ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีการระบายน้ำทิ้ง โดยเสียประโยชน์ จึงทำธนาคารน้ำขึ้นมาและสร้างปล่องอากาศในการทำธนาคารน้ำ เพื่อให้อากาศไหลเวียนออกมาได้เร็วและน้ำจะเข้าไปแทนที่ ทั้งนี้ หลุมขุดลึกลงไปในผิวดินประมาณ 4-5 เมตร จนถึงชั้นหิน ทั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะน้ำที่สูบออกมาไหลลงไปในธนาคารทั้งหมด โดยไหลลงที่นาของชาวบ้านลดลง ส่วนธนาคารน้ำ เมื่อมีการสะสมน้ำเอาไว้ในชั้นหินเมื่อต้องการใช้น้ำจะเจาะลงไปในระดับที่ตื้น เพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ในระบบบาดาล


ถ้ำหลวง1



ถ้ำหลวง2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :