ไม่พบผลการค้นหา
ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล หรือ ‘ป๊อก’ คือบุคคลที่ใช้ศิลปะการวาดภาพช่วยเหลือคนไร้บ้านที่นิวยอร์กมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ก่อนจะย้ายกลับมายังประเทศไทยได้ไม่ถึงหนึ่งเดือนดีนัก

หนนี้คนไร้บ้านของป๊อกไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้พื้นที่เดิมอย่างมหานครเอกของโลก เมื่อเล็งเห็นปัญหาของกลุ่มคนที่ถูกทำร้าย และถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนอย่าง ‘ชาวโรฮิงญา’ ที่เขามีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนถึงค่ายผู้ลี้ภัยที่ประเทศบังกลาเทศก่อนหน้านี้

แม้พลังของศิลปะจะยิ่งใหญ่แต่คงเป็นไปได้ยากหากจะใช้ผลงานไม่กี้ชิ้นในการเปลี่ยนโลก แต่ภายใต้แววตาที่แฝงไว้ด้วยความหดหู่ จิตรกรชาวไทยบอกว่าสามารถมองเห็นความหวังเกิดขึ้น เมื่อกระหน้ากระดาษที่ว่างเปล่าถูกขีดเขียนด้วยสีชอล์ก และเด็กๆ ชาวโรฮิงญามีพื้นที่ในการระบายความฝันของตนเองออกมา


ปัญหาโรฮิงญาใหญ่ขนาดไหน 

ไพโรจน์ : ใหญ่มาก แต่แปลกใจตรงที่ว่าคนรู้จักปัญหานี้กันน้อยมากๆ เวลาไปพูดกับใครก็ไม่ค่อยอยากจะคุยด้วย ผมมีโอกาสได้ไปสัมผัสชาวโรฮิงญาที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เท่าที่สัมผัสก็เห็นว่าทุกคนก็ต้องการแค่กลับบ้าน ต้องการแค่บัตรประชาชนคืนมาเท่านั้นเอง 

ผมทำโปรเจกต์เกี่ยวกับคนไร้บ้านมาเกือบ 5 ปี ตอนแรกวาดจากคนที่มีบ้านแล้ววันหนึ่งไม่มีบ้าน แต่วันนี้ขยายโปรเจกต์ให้ไปหาคำว่าโลกซึ่งที่จริงก็เป็นบ้านของเรานั่นแหละ ชาวโรฮิงญาก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ในโลกที่ไม่มีบ้าน


ศิลปะเป็นเรื่องไกลตัวหรือเปล่ากับกลุ่มคนที่ต้องการแค่บ้าน หรือปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพ ศิลปะจะเข้าไปช่วยพวกเขาได้อย่างไร 

ไพโรจน์ : ตอนที่ได้ไปทำโปรเจกต์ที่บังกลาเทศ แม่ของเด็กหลายๆคนที่เราสอนวาดรูป ก็บอกว่าลูกเขาไม่เคยทำงานศิลปะมาก่อนและเด็กๆ ดีใจมาก ขอบคุณมากที่ได้เห็นความฝันของเด็กๆ ว่าพวกเขาอยากโตขึ้นมาเป็นอะไร บ้านในฝันหน้าตาเป็นแบบไหน จริงๆ แล้วถ้าเป็นเด็กทั่วไปก็คงวาดได้ทุกวัน ทั้งในโรงเรียนศิลปะหรือวิชาเรียนตั้งแต่ประถม แต่ที่นู่นไม่ได้มีการสอนศิลปะ รู้สึกว่าได้ช่วยในแบบของเราซึ่งต่างกับที่เคยไปสอนให้กับเด็กตามสถานที่ต่างๆ ด้วยซ้ำ

เวลาให้วาดรูปอาชีพที่อยากเป็นบางคนวาดรูปหมอ บางคนวาดออกมาเป็นทหาร ทั้งๆที่เพิ่งถูกทหารไล่ยิงมาด้วยซ้ำ แต่ยังอยากเป็นทหาร อยากรับใช้ชาติ อยากจะเป็นคนที่ดูแลประเทศของตัวเอง มันทำให้เห็นความบริสุทธิ์ เหมือนกับว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่เคยถูกทำร้ายมาก่อน 

ผมเห็นความหวังเกิดขึ้น ผมมองว่าศิลปะสามารถรับใช้ หรือสามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้หลากหลายวิธี ในแบบของผมก็คือการให้เด็กได้ระบายความฝันของตัวเอง มาแบ่งปันประสบการณ์ และสนุกไปกับสิ่งที่จะสร้างขึ้นมาในกระดาษแผ่นหนึ่ง

ป๊อก ไพโรจน์ 4.jpg
  • ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล
ไปบังกลาเทศได้อย่างไร 

ไพโรจน์ : มีโอกาสได้รู้จักกับ ARF (Asian Resource Foundation) ตอนแรกที่เข้าไปไม่คิดว่าค่ายจะใหญ่ขนาดนี้ ไม่คิดว่าจะร้อน และลำบากกว่าที่ไทยมากขนาดนั้น ทุกวันต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการเดินทางจากที่พักไปยังค่าย กิจวัตรคือ 7 โมงเช้าต้องขึ้นรถตู้ และออกจากค่ายทุก 4 โมงเย็น 

ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ไม่มีห้องน้ำ ปวดฉี่ก็ต้องหาที่ทางตรงนั้น ผู้คนที่ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีรองเท้าเยอะมากๆ สภาพร่างกายของเด็กๆ ก็คล้ายว่าขาดสารอาหาร ไปวันแรกก็ท้อเลย เมื่อวานยู่ที่กรุงเทพฯ สามารถจะกินอะไรก็ได้ที่อยากกิน ข้าวผัด กะเพรา เย็นตาโฟ อะไรก็ได้ แต่คนที่นู่นไม่มีทางเลือก มีแต่ข้าวเปล่ากับอาหารที่ UN (United Nations) เตรียมไว้ให้เท่านั้นเอง 


ค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามีหน้าตาเป็นแบบไหน

ไพโรจน์ : ด้วยความที่ค่ายมีขนาดใหญ่มาก ข้างในจึงคล้ายเมืองและมีคนอยู่อาศัยราวๆ 1,400,000 คน แบ่งพื้นที่ออกเป็นเขต เป็นหมู่บ้าน ยกตัวอย่างคือมี 10 เขต ในเขตหนึ่งมี 30 ซอย ก็จะตั้งเป็นเต็นท์เรียงกันไป ใครมีปัญหาหรือเจ็บป่วย UN ก็จะเข้าไปช่วยได้ถูกจุด 

ภายในแต่ละเขตจะมีการทำแปลงนาเล็กๆ ไว้ให้ เพื่อให้คนในชุมชนได้มีวิถีชีวิตแบบที่เขาเคยเป็นมา ได้เลี้ยงควาย ได้เอาไข่จากไก่มาทำอาหาร ซึ่งไม่ได้ทำเป็นอาชีพ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือเด็กๆ ชาวโรฮิงญาที่ได้เล่นน้ำกับวัว ได้ทำนาได้ช่วยเหลือกัน ไม่ได้ใช้ชีวิตว่างเปล่าในเต็นท์แรมวันแรมปี

บางครั้งก็ต้องล้มวัวล้มควายเพื่อนำมาทำเป็นอาหาร มันหดหู่นะที่เห็นแมลงวันตอมเนื้อสัตว์ตอมข้าว เราอยู่สบายกว่าพวกเขาเยอะมาก การใช้ชีวิตข้างในนั้นเรียกว่าแย่มากๆ ก็ได้ อย่างแรกก็คือไม่มีห้องน้ำเวลาจะถ่ายสะดวกแถวไหนก็ตรงนั้นเลย เด็กเล่นน้ำกับวัวกับควายก็มีคนมาขับถ่ายตรงนั้น


ชาวโรฮิงญาที่บังกลาเทศรู้สึกอย่างไรกับสถานะของตัวเองในตอนนี้

ไพโรจน์ : พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องสมัยก่อนแล้ว ไม่เคยไปทำร้ายชาวเมียนมาในสมัยสงครามโลก วันนี้พวกเขาแค่อยากใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป แค่ต้องการวิถีชีวิตของตัวเองคืนมา ไม่มีใครอยากอยู่ที่ค่ายในบังกลาเทศอยากกลับไปอยู่ที่ยะไข่

ได้ไปคุยกับชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่เพิ่งใส่เฝือกที่ขามาหมาดๆ ก่อนหน้านี้เขาอยู่ในหมู่บ้านที่มีประชากรราว 2,000 คน ปัจจุบันบ้านเรือนถูกเผาทิ้งทั้งหมด ทำให้ตัวเองต้องวิ่งผ่านป่าเป็นเวลา 14 วัน จากหมู่บ้านมายังบังกลาเทศ แต่กลับพูดว่าไม่ได้โกรธรัฐบาลและขอบคุณด้วยซ้ำที่ไว้ชีวิตตัวเองจน ไม่คิดว่าจะได้รับคำตอบแบบนี้ ถ้าเป็นเราก็คงโกรธที่ทหารมาฆ่าพ่อแม่เรา แถมยังมาตัดขาเราอีก 

บางครั้งเด็กอายุ 3-4 ปีก็ต้องวิ่งผ่านป่าโดยที่ไม่รู้เลยว่ากำลังหนีกระสุนปืน ต้องนั่งเรือไปที่ไหนก็ไม่รู้ และจะหาที่อาศัยอยู่ได้ไหม หรือจะมีข้าวให้กินไหมก็ไม่รู้เหมือนกัน สิ่งที่เด็กชาวโรฮิงญาคิดคืดมันสนุกที่ได้ออกจากบ้านมาเที่ยวเล่น


ชาวโรฮิงญาที่อยู่ตรงนั้นพูดคุยอะไรกัน คุยเหมือนที่เราหยอกล้อกับเพื่อนหรือเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง 

ไพโรจน์ : สิ่งที่ชาวโรฮิงญาคุยกันคืออยากกลับบ้าน อยากให้เหตุการณ์สงบสุข อยากมีชีวิตเหมือนที่คนอื่นมี พวกเขาหดหู่มากจนสะท้อนออกมาให้เห็นทางดวงตา ถ้าดูจากงานของผมจะเห็นว่าชาวโรฮิงญามีแววตาที่เศร้ามาก เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นผู้ถูกกระทำ เผ่าพันธุ์ของพวกเขาเสียชีวิตไปแล้วนับแสนคน ชาวโรฮิงญามีทั้งเด็กชายวัย 9 ขวบ หรือหญิงชราอายุ 80 ปี ที่เดินทางมาค่ายแห่งนี้เพียงลำพัง 


แม้จะผ่านเหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัสจากบ้านเกิด แต่ความหวังของชาวโรฮิงญาก็ยังเป็นการได้กลับบ้าน

ไพโรจน์ : ถึงจะโดนกระทำหรือผ่านการทำร้ายมาแค่ไหน พวกเขาก็ยังอยากกลับบ้านอยู่ดี ชาวโรฮิงญาไม่ได้โทษรัฐบาล ไม่ได้โทษโชคชะตา เพียงแค่รู้สึกเสียใจกับสิ่งเกิดขึ้น 

เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับพวกเขา จริงๆ แล้วไม่ควรเกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยซ้ำไป เข้าไปในค่ายจะเห็นว่านี่คืออีกโลกหนึ่ง เป็นทะเลทรายกว้างๆ มีแค่กระสอบข้าว กับเต็นท์ที่มีโครงสร้างเป็นไม้ไผ่ พื้นที่บริเวณค่ายจะเป็นแอ่งกระทะ เวลาฝนตกหนักลมก็จะแรงมากจนคล้ายกับพายุ เต็นท์ที่ทำจากไม้ไผ่แน่นอนว่าไม่ได้แข็งแรง ทำให้ต้องปักเสาใหม่ทุกวัน ที่นอนก็เป็นทรายไม่ได้มีอะไรปูพื้น บางคนนอนนอกเต็นท์เป็นเรื่องปกติ หลังหกโมงเย็นก็มืดสนิทไม่สามารถเห็นอะไรได้แล้ว 


ถ้าเหตุการณ์นี้เข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ผู้กำกับคงจะเล่าเรื่องว่า ชาวโรฮิงญามีชีวิตอยู่เพื่อใช้ชีวิตในวันต่อไป กลับกันเรื่องนี้คือเหตุการณ์จริงชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยมีเป้าหมายอะไรในชีวิต 

ไพโรจน์ : ใช้ชีวิตทุกวันให้มีความสุข เด็กก็ยังวิ่งเล่น คนแก่ก็ยังสอนเด็กให้ทำนู่นทำนี่ ชาวโรฮิงญามองความสุขเป็นเรื่องง่ายๆ ที่อยู่ใกล้ตัว ผมไม่คิดว่าเขาจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร 


ตอนนี้รู้สึกอย่างไรกับ อองซาน ซูจี

ไพโรจน์ : เมื่อก่อนอองซาน ซูจีทำอะไรมาเยอะนะ ไม่เข้าใจว่าทำไมตอนนี้ถึงหยุดไป อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลทหารอยู่ข้างหลังหรือเปล่า แต่ก็ทำให้หลายๆ สถาบันยึดรางวัลที่มอบให้กลับไปหมดแล้ว 

ถ้าซูจีลุกขึ้นสู้อาจจะมีปัญหากับรัฐบาลทหาร แต่คนทั้งโลกจะลุกขึ้นมาสู้ด้วย

ผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศคิดอย่างไรกับเธอ 

ไพโรจน์ : ชาวโรฮิงญาหวังจะให้อองซาน ซูจีเข้ามาช่วย หลายคนในนั้นบอกว่าเดี๋ยวซูจีจะมาช่วย อย่างไรก็น่าจะช่วย สำหรับผู้ลี้ภัยพวกเขามองซูจีเหมือนนักสู้คนหนึ่ง เป็นความหวังว่าคนนี้แหละที่จะพาพวกเขากลับบ้าน ได้รับบัตรประชาชน มีงานทำเหมือนเดิม มุมมองอาจจะแตกต่างจากคนทั่วไปที่มองอองซานตอนนี้ เพราะข้างในไม่มีข่าวสารอะไรเลยสิ่งที่ชาวโรฮิงญาทำก็คือต้องอยู่ให้รอดในวันนี้ เท่านั้นเอง

ป๊อก ไพโรจน์ 1.jpg
  • ภาพวาดบุคคลของเด็กชาวโรฮิงญาที่วาดโดยไพโรจน์ เคียงคู่กับงานศิลปะจากเด็กคนเดียวกันในอีกหน้าหนึ่ง

ศิลปะที่วาดออกมาจากกลุ่มคนที่มีสถานะคล้ายคลึงกัน มีอะไรที่เหมือนกันอยู่ในนั้นหรือเปล่า 

ไพโรจน์ : เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่จะวาดดอกไม้กับสวน อาจจะเป็นที่บ้านของพวกเขาหรือที่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้ แต่เด็กผู้ชายจะวาดเกี่ยวกับความฝันของพวกเขาวาดรูปครู รูปทหาร อยากจะมีอนาคตที่ดีมีบ้านสองชั้นสำหรับครอบครัว ในค่ายผู้ลี้ภัยจะมีคนเด็กเกิดใหม่ทุกวัน เด็กส่วนหนึ่งเกิดและเติบโตที่นั่น ไม่รู้เลยว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร สระว่ายน้ำหน้าตาเป็นแบบไหนไม่เคยรู้ ชาวโรฮิงญาไม่สามารถออกไปไหนได้เพราะไม่มีบัตรประชาชนหรือวีซ่า บางคนก็อยู่ที่นี่มานานถึง 50 ปี 

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่และเรื้อรังมาอย่างยาวนาน แปลกที่คนให้ความสนใจและรับรู้ประเด็นนี้กันน้อยมาก


เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ค่อยได้รับรู้ปัญหาของชาวโรฮิงญา

ไพโรจน์ : หลายสื่อก็ทำข่าวกันมาเยอะแล้วนะ ผมก็ตามอ่านตลอด ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเรายังไม่เห็นความสำคัญของปัญหานี้ ทั้งที่พวกเขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์ เราควรจะเห็นใจกันบ้างอย่างน้อยก็ช่วยเท่าที่จะช่วยได้ การนำเสื้อผ้าไปบริจาคก็ถือเป็นการช่วยอีกทางหนึ่งแล้ว 


ปัญหาโรฮิงญาต้องแก้อย่างไร

ไพโรจน์ : เรื่องนี้มันใหญ่มากเราคนเดียวเอาไม่อยู่ ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุคือกฎหมายของรัฐบาลพม่า พวกเขาไม่ต้อนรับชาวโรฮิงญา เราเป็นประเทศอื่นเราก็ไปวุ่นวายกับกฎหมายไม่ได้ แต่ก่อนหน้านี้ได้อ่านข่าวที่รัฐบาลเมียนมาบอกว่าจะรับชาวโรฮิงญากลับประเทศ ก็เป็นความหวังหนึ่งเหมือนกัน 


ทำไมเรามักจะได้ยินคำกล่าวถึงชาวโรฮิงญาในแง่ลบ เช่น ขี้เกียจ กินอาหารยาก สร้างความเดือดร้อนให้เจ้าหน้าที่ ฯลฯ 

ไพโรจน์ : อาจจะเป็นความเข้าใจผิด หรือเป็นการนำเสนอด้านเดียวมากกว่า พวกเขามาขอพึ่งพาประเทศเราไม่ได้เข้ามาทำร้าย บางครั้งก็มองว่าผู้ลี้ภัยเป็นคนไม่ดี เป็นขโมย พวกเราอาจจะคิดว่าทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน ที่จริงก็ช่วยอยู่แล้ว มีหลายมูลนิธิรวมถึงรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือ แต่ชาวโรฮิงญาน้อยมูลนิธิที่จะช่วย น้อยคนที่จะช่วย 

ป๊อก ไพโรจน์ 3.jpg

ในฐานะที่อาศัยอยู่นิวยอร์กมาเป็นเวลา 9 ปี มุมมองของชาวอเมริกาต่อโร
ฮิงญาเป็นอย่างไรบ้าง แตกต่างจากไทยหรือเปล่า

ไพโรจน์ : อเมริกาเป็นประเทศที่เจริญแล้วทุกคนอยู่สบายกันหมดไม่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ ทำให้สามารถช่วยเหลือชาวโรฮิงญาได้โดยไม่เดือดร้อน ยินดีที่จะช่วยรวมถึงมีชุดฐานข้อมูลทุกอย่างพร้อม สื่อหัวใหญ่เวลาทำข่าวก็จะนำเสนอความจริงทั้งหมด เงินส่วนใหญ่ที่ UN นำไปช่วยชาวโรฮิงญาก็มาจากอเมริกานั่นแหละ

กลับกันบ้านเรายังต้องหาเช้ากินค่ำประเด็นนี้จึงอาจจะไกลตัวไปบ้าง เพราะตัวเองก็ต้องอยู่รอดเหมือนกัน หากจะแบ่งเงิน 5 บาท 10 บาท ให้ชาวโรฮิงญา แต่เงินค่านมลูกยังไม่พอก็คงไม่สามารถทำได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดเพราะไม่ต้องช่วยด้วยเงินอย่างเดียวก็ได้ 

อย่างน้อยคุณมีเสื้อผ้าเหลือก็นำไปบริจาค ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเด็กหลายคนไม่มีเสื้อใส่ด้วยซ้ำ วิธีการช่วยมีหลายแบบ เรามีรองเท้าหลายคู่ก็บริจาคได้ UN ก็เปิดรับตลอด หรือน้องๆ ที่เป็นนักเรียนก็สามารถบริจาคหนังสือที่ใช้แล้วก็ได้ได้ ที่ค่ายผู้ลี้ภัยจะมีอาสาสมัครไปสอนหนังสือแต่หนังสือแบบเรียนก็ยังไม่เพียงพอ ทุกคนสามารถเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองมีแล้วไม่ได้ใช้ก็ได้ ง่ายๆ แค่นั้นเอง 


คาดหวังอะไรกับประเทศไทยในประเด็นโรฮิงญา

ไพโรจน์ : อยากให้คนทั่วไปรู้จักชาวโรฮิงญาเพราะคนที่รู้จักตอนนี้ก็เป็นส่วนน้อยมากๆ แล้วค่อยช่วยเหลือในทิศทางที่ทำได้ หวังว่าวันหนึ่งจะมีเด็กๆ เห็นว่าเราทำได้และลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรซักอย่าง ผมคนเดียวไม่สามารถไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาทั้งหมดได้ แต่เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนกลุ่มใหม่ๆ ได้

ปัญหานี้คือปัญหาที่ใหญ่ ถ้าเราไม่ลงมือทำคนอื่นอาจจะยังไม่เห็นหรือมีคนที่เห็นแล้วแต่ไม่รู้สึกอะไร แต่พอเห็นเราทำบ่อยเข้าๆ ความเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเกิดขึ้น ผมตายไปก็ไม่รู้ปัญหานี้จะยุติไหม แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ควรจะรับรู้อยู่ดี