ไม่พบผลการค้นหา
ศิลปินชาวญี่ปุ่น ‘ฮิโรชิ ฟูจิ’ (Hiroshi Fuji) นำของเล่นเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ เพื่อชวนคนรุ่นใหม่ฉุกคิดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

‘จูราสสิก พลาสติก’ (Jurassic Plastic) ผลงานประติมากรรมของ ฮิโรชิ ฟูจิ ศิลปินจากแดนอาทิตย์อุทัย โดดเด่นด้วยสีสันสดใส และทรวดทรงคุ้นเคยจากของเล่นพลาสติกที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง โดราเอมอน หุ่นยนต์แมวตัวสีฟ้า และตัวการ์ตูนหน้าคุ้นๆ เรียงรายอยู่เต็มตามพื้น ทั้งหมดถูกนำมาประกอบเข้าเป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนนิทรรศการเดี่ยวของเขาจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

เมื่อครั้งฮิโรชิยังเป็นเด็กการใช้พลาสติกอาจจะยังไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก ทำให้ส่วนตัวเคยคิดว่าพลาสติกน่าจะหมดไปในไม่ช้า แต่เมื่อเวลาเลยผ่านจนกระทั่งอายุอานามใกล้ 60 ปี เขาต้องเชิญกับความจริงว่า พลาสติกยังคงอยู่คงกระพันเรื่อยมา และมันยังไร้ทีท่าจะสูญสลายไปง่ายๆ แต่อย่างใด 

แน่นอนว่า ฮิโรชิรู้สึกชังวัสดุประเภทนี้ ดังนั้น เมื่อภรรยาคลอดลูกคนแรกในปี 1992 ความตั้งใจของเขาคือ จะไม่ให้ลูกเล่นของเล่นจากพลาสติก ทว่าต้องหย่อนใจกับของเล่นจากวัสดุทำธรรมชาติเท่านั้น 

แม้ความตั้งใจจะแรงกล้า แต่คงเป็นเรื่องยากมากหากจะหลีกเลี่ยงของเล่น หรือของใช้ในชีวิตประจำวันที่ผลิตจากพลาสติก และตัวศิลปินก็ต้องก้มหน้ายอมรับความจริงอีกครั้งว่า ระหว่างเส้นทางการเจริญเติบโตของลูก บ้านของเขาก็มีของเล่นพลาสติกมากขึ้นเรื่อยๆ 

Hiroshi fuji.jpg
  • ฮิโรชิ ฟูจิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น เจ้าของผลงานงานประติมากรรมสีสันสดใสจูราสสิก พลาสติก

ทว่าด้วยความมุ่งมั่นในการลดขยะพลาสติก ฮิโรชิจึงไม่ต้องการให้บรรดาของเล่นหลายร้อยชิ้นกลายเป็นขยะเมื่อลูกของเขาเติบโตขึ้น นั่นเลยเกิดเป็นโปรเจกต์ ‘คาเอโกะ’ (Kaekko) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ‘การแลกของกัน’ คอนเซปต์หลักคือการนำของเล่นพลาสติกมาแลกเปลี่ยนเป็นแต้ม เพื่อแลกของเล่นชิ้นใหม่ ก่อนกลายเป็นความนิยมจนเกิดตลาดแลกเปลี่ยนของเก่าประเภทดังกล่าวมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นที่ฮิโรชิริเริ่มขึ้น และมันเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชายผู้ที่ไม่ชื่นชอบพลาสติกกลับยิ่งมีของเล่นพลาสติกในครอบครองมากขึ้นเรื่อยๆ  


ไดโนเสาร์ = พลาสติก

พอของเล่นพลาสติกมากขึ้นฮิโรชิพบว่า ในบรรดาของเล่นทั้งหมดมีซ้ำๆ หน้ากันอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะของเล่นที่ได้รับความนิยม หรือของเล่นที่แถมจากร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดมักจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน จึงนำของเล่นเหล่านี้ทั้งในสภาพสมบูรณ์ และไม่สมบูรณ์มาประดิษฐ์ขึ้นเป็นของเล่นชิ้นใหม่ขนาดยักษ์ ก่อนจะกลายเป็นนิทรรศการจูราสสิก พลาสติก ในเวลาต่อมา

Jurassic Plastic4.jpgJurassic Plastic3.jpg
  • เหล่าไดโนเสาร์จากกองทัพของเล่นพลาสติกในนิทรรศการจูราสสิก พลาสติก

ฮิโรชิตั้งคำถามกับตัวเอง และสืบค้นจนพบว่า พลาสติกเกิดจากน้ำมันดิบ หากย้อนกลับไปในช่วง 150 ล้านปีก่อน ในยุคจูราสซิคที่เหล่าไดโนเสาร์อาศัยอยู่ และเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่จนสูญพันธุ์ ก่อนทับถมกลายเป็นซาก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำมันดิบ และนำมาทำเป็นพลาสติกในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการนั่นเอง 

นอกจากนั้น ในนิทรรศการเดี่ยวของฮิโรชิที่เตรียมจัดแสดงในไทยเป็นครั้งแรก มีการเปิดรับบริจาคของเล่นที่ไม่ใช้แล้วของประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบร่างเป็นไดโนเสาร์ ซึ่งศิลปินกำลังตั้งหน้าตั้งตาคอยของเล่นจากทุกคนด้วยความคาดหวังว่า รูปทรง สีสัน และลักษณะของพวกมันจะแตกต่างจากของเล่นในประเทศบ้านเกิดของเขา


สีสันสดใส เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย 

ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้น ฮิโรชิคิดว่าของเล่นน่าจะเป็นสิ่งดึงดูดผู้คนทุกเพศทุกวัย ต่อให้เป็นผู้ใหญ่อายุมากขนาดไหน แต่ทุกคนก็มีประสบการณ์ในการเล่นของเล่นมาก่อนทั้งนั้น 

ของเล่นถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ที่น่าจะดึงดูดคนทุกเพศทุกวัยให้มาดูงานศิลปะครั้งนี้

โดยปกติแล้วฮิโรชิจะสร้างสรรค์ผลงานแบบไม่ใส่ข้อความอะไรๆ เข้าไปในศิลปะ แต่เมื่อปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาค่อนข้างหนักในปัจจุบันจึงคิดว่า การไม่แฝงข้อความอะไรๆ ลงไปในชิ้นงานคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว 

Jurassic Plastic2.jpg
  • บริเวณจุดรับบริจาคของเล่นที่ช่างชุ่ย

ฮิโรชิภายมือออกไปรอบๆ อาคารชุ่ยสโมสร แกลเลอรีเก็บสะสมของเก่าของ ลิ้ม – สมชัย ส่งวัฒนา แล้วบอกว่า ข้าวของในห้องนี้ถ้าไม่ได้ถูกนำมาเก็บสะสมไว้ก็จะกลายเป็นขยะ และถูกลืม มีสถานะใกล้เคียงกับพลาสติก 

ในตอนนี้ พลาสติกอาจจะถูกมองเป็นขยะไร้ความหมาย เป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ในกระแสธารนั้นถ้ามีคนหยิบพลาสติกมาทำให้มันส่องประกาย และมีความน่าสนใจ เพื่อเป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังดูว่า ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยพลาสติกมันเป็นอย่างไร? และเคยถูกใช้งานอย่างไร? 


ส่งต่ออนาคตให้คนรุ่นใหม่

พลาสติกเป็นวัสดุทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความสกปรกให้แก่ท้องทะเล และเป็นปัญหาที่ผู้คนรับรู้กันอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ฮิโรชิคาดหวังจากการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ คือการพัฒนาวัสดุใหม่เกิดขึ้น อาจจะเป็นพลาสติกแบบใหม่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 


Jurassic Plastic1.jpg
  • ฮิโรชิ ฟูจิ กำลังทำความรู้จักกับของเล่นจากประเทศไทย

สำหรับกลุ่มคนที่ฮิโรชิอยากสื่อสารด้วยมากสุดคือ คนหนุ่มสาว ซึ่งอนาคตพวกเขาจะเติบใหญ่มาเป็นดีไซเนอร์ออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์นั่นเอง ต่อมาคืออยากให้วัฒนธรรมบริโภคเปลี่ยนไป จากการบริโภคสินค้าประเภทอุตสาหกรรม กลายมาเป็นการบริโภควัฒนธรรม ที่จะทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของสินค้าแต่ละชิ้นมากขึ้น

เจ้าของนิทรรศการวัยใกล้เกษียณยังกล่าวท้ิงท้ายว่า เมื่อสังคมและโลกกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น มุมมองต่อสินค้าก็จะเปลี่ยนไป เขาคาดหวังให้คนที่เกิดในยุคนี้มีมุมมองต่างไปจากเดิม และสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้

นิทรรศการจูราสสิก พลาสติก ผลงานศิลปินชาวญี่ปุ่นนักสร้างสรรค์ ฮิโรชิ ฟูจิ จะจัดแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ ช่างชุ่ย ครีเอทีฟพาร์ค (ถนนสิรินธร) ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม – 14 ตุลาคม 2562 โดยทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งนิทรรศการด้วยการบริจาคของเล่นพลาสติกทุกชนิดได้ตั้งแต่วันนี้ – 16 สิงหาคม 2562 บริจาคได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ บริจาคด้วยตนเองท่ีช่างชุ่ย หรือส่งไปรษณีย์มาที่ช่างชุ่ย 460/8 ถนนสิรินธร แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700