คืนก่อนตอนอวสานมาเยือน ผู้คนคลาคล่ำเต็มบริเวณหน้าห้องจำหน่ายตั๋ว บรรยากาศเทศกาลภาพยนตร์เงียบครั้งที่ 5 ของประเทศไทยคึกคักผิดหูผิดตาจากปีก่อนๆ คอภาพยนตร์ไร้เสียงแห่กันมาชมสุดยอดผลงานการแสดงของ 'หร่วน หลิงอวี้' ในเรื่อง 'The Goddess' ขณะเดียวกัน บางกลุ่มตั้งใจสะพายกล้องมาร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์เป็นครั้งสุดท้าย
ด้านทีมงาน 'วอยซ์ ออนไลน์' เดินผ่านแสงไฟนีออนชมพูอ่อน และป้ายกิลเตอร์ที่เขียนข้อความอำลาไว้ว่า "ขอบคุณแฟนๆ ทุกท่านที่สนับสนุนโรงภาพยนตร์ตลอดมา" ก่อนจะพบกับ 'ป้าตุ้ม-บังอร ยานสารี' นั่งอยู่บริเวณเคาน์เตอร์ขายป็อปคอร์นหน้าทางเข้าโรงภาพยนตร์หมายเลข 2 เราเร่งฝีเท้าเข้าไปไถ่ถามเรื่องอนาคต และจังหวะชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง หลังลิโดต้องปิดฉากลงอย่างถาวร
ความจริงคือ ป้าตุ้มอายุ 62 ปี นับเป็นพนักงานสูงวัยคนสำคัญของเครือเอเพ็กซ์ โดยเธอเข้ามาทำงานตั้งแต่สมัยวัยรุ่นเอ๊าะๆ ยืนขายขนมขบเคี้ยวอยู่หน้าโรงภาพยนตร์สยาม สกาล่า และลิโดมาตลอดระยะเวลา 50 ปีเต็ม
"ทางบริษัทฯ ไม่ได้ยื่นข้อเสนอให้ทำงานต่อ แต่หากยื่นก็คงต้องปฏิเสธ เพราะเราอายุเยอะแล้ว 62 ปีแล้ว คงกลับบ้านไปพักผ่อน"
ป้าตุ้มตอบเรียบๆ สั้นๆ สีหน้าปราศจากการแสดงความรู้สึก หลักจากได้ยินคำถามว่า บริษัทฯ ยื่นข้อเสนออะไรบ้าง? แล้วอยากลองหางานใหม่ทำไหม?
ใครที่เป็นแฟนคลับตัวจริงของโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์คงทราบดีว่า พนักงานเกือบทุกคนของลิโดไม่ใช่หนุ่มสาวเฟิร์สตจ๊อบเบอร์ ที่เพิ่งเรียนจบกันมาใหม่ๆ แต่ล้วนเป็นบุคลากรวัยกลางคน คือหันไปทางไหนอย่างน้อยๆ ก็ต้องพบกับลูกจ้างวัย 40 อัพแน่นอน โดยป้าตุ้มช่วยเสริมข้อมูลให้เห็นภาพว่า
"ปัจจุบันพนักงานน่าจะมีอยู่ประมาณ 75 คน ก็ล้วนแก่ๆ กันแล้วทั้งนั้น ไม่เชื่อลองหันไปดูรอบๆ ตัวคุณสิ"
ป้าวัย 62 เปิดใจให้ฟังต่อว่า สมัยก่อนทำงานเหนื่อยมาก เพราะชาวต่างชาติเยอะ และป๊อปคอร์นถือเป็นวัฒนธรรมคู่กับการชมภาพยนตร์
"ความจริงตลอด 50 ปี ก็สนุกดี พบความเปลี่ยนแปลงมาเยอะมาก ตั้งแต่ผู้ชมลดน้อยลง โรงภาพยนตร์ใหม่ๆ เกิดเยอะ หลายคนหันไปใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า พวกเขาไม่ค่อยมาโรงภาพยนตร์กันแล้ว"
แน่นอนว่า ลิโดเป็นอีกหนึ่งสถานที่แห่งความหลัง และเต็มไปด้วยความทรงจำให้ระลึกถึงเสมอ ซึ่งหลายคนคงใจหายเมื่อทราบว่า โรงภาพยนตร์ราคาย่อมเยาสบายกระเป๋าจำต้องจากพวกเราไป แต่ในมุมมองของคนที่อยู่กับมันมาตลอด 50 ปี กลับกล่าวทิ้งท้ายว่า "มันอิ่มตัวแล้ว รู้สึกเฉยๆ ทำใจไว้แล้ว"
สมัยโรงภาพยนตร์รุ่งเรือง 'สมชาย แสงพระพาย' เป็นอีกคนหนึ่งที่ตระเวนหิ้วม้วนฟิล์มไปมอบความบันเทิงให้กับผู้ชมทั่วกรุงเทพฯ ทั้งในระบบซีเนราม่าของอินทรา พันทิพย์ ตามมาด้วยสยาม สกาล่า และลิโด จนกลายเป็นผู้ชายที่เที่ยววนเวียนอยู่กับโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์มาตลอด 30 ปีเต็ม
ปัจจุบันสมชายอายุ 50 เส้นทางการทำงานของเขาเริ่มจากการเป็นพนักงานสวมสูทสีเหลืองคอยเฝ้าเก็บตั๋วชมภาพยนตร์ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นพนักงานควบคุมห้องฉาย
"เมื่อก่อนทำงานกับม้วนฟิล์มสนุกมาก คนดูเยอะมาก โรงภาพยนตร์ในเครือเดียวกันก็เยอะมากด้วย เช่น สำโรง ท่าพระ บางแค งามวงศ์วาน ฯลฯ เพราะสมัยนั้นสื่อยังน้อย แผ่นซีดีเพิ่งเข้ามา แต่พอยุคสมัยมันไฮเทคกลายเป็นไม่ต้องอาศัยฟิล์ม โหลดเข้าฮาร์ดดิสก็ฉายได้ ตลอดการทำงานหากคนดูมาน้อยๆ มันเหมือนไม่มีกำลังใจ ถ้าคนเต็มมันเป็นความภูมิใจในการทำงาน"
ในสายตาของสมชาย เหตุการณ์ปิดฉากลิโดเป็นความรู้สึกที่ใจหาย แต่ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ คงต้องบันทึกเรื่องราว และเสน่ห์ของโรงภาพยนตร์ที่ยังคงตราตรึงใจของใครหลายคน รวมทั้งตัวของสมชายเองด้วย
"หลายคนพยายามปลอบใจกัน อย่าคิดมาก แต่พอวันจริงมันตกใจ ผมเคยเห็นครอบครัวพาลูกๆ มาแล้วบอกกับเด็กๆ ว่าสมัยเรียนพ่อแม่ชอบนัดกันมาเที่ยวที่นี่ อย่างตอนสยามถูกไฟไหม้ผมตกใจมากตอน พูดแล้วขนลุกเลย (เอามือลูบแขน) มันเศร้ามาก" หนุ่มใหญ่วัยกลางคนกล่าว
วันสุดท้ายก่อนปิดม่านความทรงจำตลอด 50 ปี ความรู้สึกของพนักงานหลายๆ คนคงไม่ต่างจากปาร์ตี้เลี้ยงส่งที่เพื่อนๆ กอดกันร้องไห้ทั้งดีใจ และเสียใจในคราวเดียวกัน แต่สำหรับอนาคตของตัวสมชายเอง เขายังคงต้องก้าวเคียงคู่โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ต่อไป
"สกาล่ายังอยู่ต่อ ผมก็คงอยู่กับสกาล่า แต่ยังไม่รู้ว่ามันจะนานเท่าไหร่"
อย่างไรก็ตาม สมชายวางแผนสำรองเอาไว้ด้วยว่า หากไม่มีงานทำจริงๆ เขาคงกลับบ้านเกิดในจังหวัดอยุธยา "เคยคุยๆ กับเพื่อนเอาไว้บ้าง ว่าอาจจะเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชอะไรขาย เพราะแม่ก็อายุมากแล้ว ผมก็อยากกลับไปดูแลแม่ และลูกสาวด้วย" สมชายทิ้งท้าย
แน่นอนว่า การวิ่งหางานใหม่ของพนักงงานวัย 50 อัพไม่ใช่เรื่องง่าย ด้าน 'สายทอง พิเมย' อายุ 53 ปี ซึ่งตัดสินใจจากบ้านเกิดในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเข้ามาทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2549 ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องจากลิโดตลอดกาล โดยเธอเตรียมบอกลากรุงเทพฯ แล้วหวนคืนบ้านเกิด
"คนที่บ้านเคยเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้วเราอยู่บ้านนอก ไม่มีอะไรทำก็ขอเข้ามาทำงานด้วย เมื่อก่อนตอนมาทำงานใหม่ๆ ตื่นเต้นมาก เพราะบ้านนอกไม่มีโรงหนัง เลยเข้าไปดูหนังบ้าง แต่หลังๆ มาไม่ค่อยดูแล้ว เพราะไม่สามารถละทิ้งหน้าที่ของตัวเองได้" สายทองเล่า
ปัจจุบันเธอเป็นพนักงานทำความสะอาด นั่งประจำอยู่หน้าห้องน้ำ ค่อยตรวจเช็คตั๋วชมภาพยนตร์จากทุกคนที่ต้องการเข้าห้องน้ำฟรี ส่วนกระดาษทิชชู หากอยากได้ต้องยอมจ่ายให้เธอ 5 บาท
ตลอด 10 ปี สายทองผูกพันกับการทำงานไม่น้อยไปกว่าคนอื่นๆ เพราะเธอสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจนรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัว ทว่าพอเวลาเดินทางมาถึงฉากสุดท้ายเธอรู้สึกใจหายมาก
"ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีวันนี้ อยู่ด้วยกันมานานเราก็รัก เหมือนบ้านหลังใหญ่ๆ ที่คนจากหลายๆ จังหวัดมาอยู่รวมกัน"
จากนั้น เมื่อวอยซ์ ออนไลน์ ถามสายทองว่า หลังจากลิโด มัลติเพล็กซ์ ปิดตัวลงชีวิตจะก้าวต่อทางไหน?
เธอได้ให้คำตอบว่า ลาแล้วชีวิตเมืองกรุง ขอกลับบ้านเกิดไปทำนาดีกว่า
"น่าจะกลับบ้านนอกแล้ว กลับไปทำนา ทำการเกษตร เพราะมีนาจากพ่อแม่แบ่งให้มา 4 ไร่ และเราก็แก่แล้วจะไปหางานใหม่ หรือเริ่มต้นใหม่ก็คงยาก"
นอกจากนั้น สายทองยังบอกต่อด้วยว่า ทางบริษัทฯ บอกจะจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานในวันที่ 30 กันยายน เพราะต้องรอย้ายข้าวของออกจากลิโดให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แต่เธอก็ยังไม่รู้อนาคตว่าจะได้เงินมาเท่าไหร่
'บุญส่ง หมื่นตุ' อายุ 45 ปี พนักงานนำบัตร ชายหนุ่มจากนครราชสีมา ร่วมงานกับเครือเอเพ็กซ์มาตั้งแต่ปี 2538 คอยฉีกบัตรชมภาพยนตร์ของโรงสยาม สกาล่า และลิโด ตลอดเวลา 23 ปี ซึ่งเขากำลังรู้สึกเศร้าเมื่อต้องบอกลาสถานที่ที่อบอุ่น และเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของชีวิต
"ส่วนมากผมอยู่กับลิโดมากกว่าอยู่บ้านเสียอีก ทุกคนพูดคุยกับแบบเป็นกันเองเหมือนคนในครอบครัว จริงๆ การทำงานของผมมันไม่ยาก แค่ต้องคอยต้อนรับลูกค้า ยิ้มแย้มแจ่มใส และบางครั้งก็ต้องคุยกับเจอชาวต่างชาติบ้าง"
ตลอดการทำงาน บุญส่งเก็บเงินสร้างบ้านเสร็จไปแล้วหนึ่งหลังในจังหวัดบ้านเกิด และหลังจากข่าวอวสานลิโดแพร่กระจายออกไป บุญส่งกลายเป็นหนุ่มเนื้อหอมที่ใครๆ ก็มาขอถ่ายเซลฟี
"ผมภูมิใจในสูทสีเหลืองมาก สมัยก่อนตอนทำงานใหม่ๆ เจ้านายสั่งให้ผูกหูกระต่าย แต่ผมดันอุตริเอาเนคไทไปผูกแทน เพราะเห็นเพื่อนๆ ตามเซ็นทรัลทำแล้วมันดูดี ตอนนั้นผมโดนตักเตือนยกใหญ่เลย และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พอมีข่าวลิโดปิดทั้งคนไทย และฝรั่งแทบทุกวัยมาขอเซลฟีกับผม ซึ่งมันเป็นเรื่องประทับใจมากๆ
"ผมทำใจร้อยเมตรแล้ว ดูงานแถวๆ ปทุมวันเอาไว้แล้ว เป็นร้านของเพื่อนๆ กัน ไม่ได้เป็นโรงภาพยนตร์ แต่เป็นการทำงานในร้านอาหาร" บุญส่งกล่าว
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง :