ไม่พบผลการค้นหา
22 พฤษภาคม 2557 เหตุการณ์รัฐประหารครั้งที่ 13 บนหน้าประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ 3 ในชีวิตของ ‘แจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์’ ทนายความสาวที่คลุกคลีอยู่กับคดีสิทธิมนุษยชนมาตลอด 6 ปีเต็ม

ปัจจุบันเธอทำงานเป็นทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights Centre) จับประเด็นสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม ไปพร้อมๆ กับพยายามสร้างความตระหนักรู้ในหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สาวใสๆ ตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางอาชีพทนายความคือ การเติบโตมาในครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งคุณพ่อของเธอเป็นทนายความ และเป็นโรลโมเดลสำคัญ

“เราเห็นคุณพ่อทำคดีตั้งแต่เด็กๆ และรู้สึกท่านช่วยเหลือคนเยอะ ทำให้ความใฝ่ฝันของเราไม่แตกต่างจากคุณพ่อเลย”

สัปดาห์ก่อน ทนายแจมได้รับเกิียรติให้เป็น 1 ใน 7 สปีกเกอร์บนเวที ‘Youth Talk : คน (รุ่นใหม่) ขยับ โลกก็เปลี่ยน’ พร้อมบอกเล่าประสบการณ์บนเส้นทางการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของคนรุ่นใหม่ วอยซ์ ออนไลน์ จึงชวนเธอมาพูดคุยเกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกเส้นทางใหม่ให้ชีวิตหลังจากประเทศไทยเกิดรัฐประหารเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งมันเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้ไม่น้อย

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ทนายแจมเป็นคนชอบอ่านค้นคว้าหาความรู้ อ่านหนังสือพิมพ์ และอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ด้วยความอยากรู้เรื่องราวในอดีต ขณะเดียวกันการติดตามข่าวสารบ้านเมืองต่อเนื่อง ทำให้เธอเห็นปัญหาสังคม ปัญหาความไม่เท่าเทียม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการใช้กฎหมาย ปัญหาคนด้อยโอกาส ปัญหาคนพิการ ฯลฯ จึงรู้สึกเหมือนตัวเองต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“สมัยเด็กๆ คิดอะไรง่ายๆ แค่เห็นขยะเราก็ช่วยเก็บไปทิ้ง พอโตมาหน่อยก็ชอบออกค่ายอาสา ชอบไปสร้างห้องสมุด ช่วยช้าง หรือน้ำท่วมก็เฮโลไปกับหน่วยงานรัฐ”

ทว่าทุกครั้งที่กลับมานั่งทบทวนตัวเอง ก็เกิดเป็นคำถามในใจเธอเสมอว่า “สิ่งที่ทำช่วยแก้ไขปัญหาได้จริงหรือเปล่า” และ “เรากำลังแก้ไขปัญหาที่เป็นปลายเหตุอยู่หรือเปล่า”

จากนั้น หลังศึกษาจบระดับบัณฑิตเธอตัดสินใจไปทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งประมาณ 8 เดือน ก่อนพลิกเส้นทางชีวิตแบบฉับพลันด้วยการเลือกไปเป็นอาสาสมัครทำคดี

“วันหนึ่งคุณพ่อชวนให้ไปต่อทะเบียนสำนักงานทนายความเป็นเพื่อน แล้วเราเห็นโปสเตอร์ ‘อาสาทำคดี’ ซึ่งเป็นโครงการเปิดรับสมัครนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนของ ‘มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม’ ให้ไปทำงานอาสามัครแบบเต็มเวลา 1 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำทันที” ทนายสาวเล่าให้ฟัง


Jam2.jpg

- จากหญิงสาวที่ไม่รู้จักคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ มาก่อน

ตอนสมัครโครงการนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนทนายสาวไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ คืออะไร

“เป็นคำเข้าใจยากมาก เรารู้แค่เรามีวิชาชีพกฎหมาย เราจบกฎหมาย เราชอบทำงานอาสา เราอยากแก้ไขปัญหาสังคม จากนั้นเพื่อนๆ ก็แยกย้ายไปทำงานในหลายๆ องค์กรของประเทศไทย บางคนไปทำงานสิทธิชุมชนทางภาคเหนือ บางคนทำงานสิทธิของผู้หญิง บางคนทำเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือสิทธิของแรงงาน ฯลฯ ส่วนเราเลือกทำประเด็นสิทธิผู้บริโภค”

อย่างไรก็ดี หลังจากทำงานได้ประมาณ 1 ปี หลายสิ่งช่วยตอบหลายๆ คำถามในใจให้กระจ่าง เพราะเธอมีโอกาสทำงานเชิงนโยบายมากขึ้น 

“ประโยคหนึ่งที่คุณพ่อบอกเสมอคือ “ถ้าหมอคนคือแพทย์ หมอความคือทนาย” เพราะคนที่มาหาแพทย์ หรือมาหาทนาย ต่างกำลังทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น เราต้องเยียวยา และทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น”

ส่วนโรคที่หมอความรักษายากสุด ทนายแจมเปิดเผยว่า ‘โรคไม่ยอมรับความจริง’ แต่ปัญหาคือ ลูกความของศูนย์ทนายความฯ มักป่วยด้วยอาการที่แตกต่างออกไป

“ลูกความของศูนย์ทนายความฯ ส่วนใหญ่จะป่วยจากการขาดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก”

เธอกล่าวเสริมว่า เนื่องจากเสรีภาพในการแสดงออกมันเป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่พอมาในยุคหลังรัฐประหารกลับกลายเป็นว่า สิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดถูกจำกัด บางคนทำอะไรไม่ได้เลย มันเหมือนเป็นความป่วยที่อยากจะแสดงออก แล้วไม่ได้แสดงออก เพราะถูกรัฐจำกัดอยู่

“สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม เป็นประเด็นใหญ่ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมที่เกิดความเหลื่อมล้ำเยอะมาก หรืออย่างเสรีภาพในการแสดงออกก็มักถูกจำกัดมาตั้งแต่เด็ก” ทนายสิทธิมนุษยชนเน้นย้ำ


Jam3.jpg

- รัฐประหารเปลี่ยนชีวิตทนายสิทธิมนุษยชน

“จริงๆ แจมวางแผนมาช่วยงานที่ศูนย์ทนายความฯ แค่ 6 เดือน เพราะคาดการณ์เอาไว้ว่า อีกไม่นานการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้น เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารไม่อยู่บริหารประเทศนาน แล้วชีวิตคงได้กลับไปสอบอัยการ ผู้พิพากษา แต่พอพวกเขาอยู่ยาวนานมาเกือบ 4 ปี ก็เลยกลายเป็นว่า เราทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจนเชี่ยวชาญ และเริ่มรู้สึกรักในงานที่ทำมากขึ้น เป้าหมายเดิมในชีวิตก็ค่อยๆ ลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ”

และเมื่อ วอยซ์ ออนไลน์ ถามหาเหตุผลที่ทำให้เธอหลงรักงานด้านสิทธิมนุษยชน คำตอบที่ได้กลับมาคือ

“มันไม่ใช่แค่การทำงานเลี้ยงชีพ แต่มันหล่อเลี้ยงหัวใจเราด้วย”

ทนายสาวเล่าให้ฟังต่ออีกว่า บางครั้งการทำงานก็ไม่ได้ค่าตอบแทน แต่บรรดาคำขอบคุณ และแววตาของลูกความในวันที่ศาลยกฟ้อง หรือในวันที่ทุกคนได้รับอิสรภาพ มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอรู้สึกปิติที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่น

อีกประการหนึ่งคือ การทำงานของศูนย์ทนายความฯ แตกต่างจากการทำคดีทั่วไป เพราะศูนย์ทนายความฯ ต้องทำหน้าที่ออกแถลงการณ์ ให้ความคิดเห็นทางกฎหมาย เพื่อกระตุ้นแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยให้กระเตื้องขึ้น โดยเธอยกตัวอย่างคร่าวๆ ให้ฟังว่า

“เมื่อเกิดการควบคุมตัว ศูนย์ทนายความฯ ต้องออกแถลงการณ์ให้รัฐปล่อยตัว ซึ่งการกระทำดังกล่าวเราไม่ได้ต้องการแค่ช่วยเหลือคนๆ เดียว แต่เป็นการออกมาบอกว่า รัฐไม่มีสิทธิควบคุมตัวพวกเขานะ มันเหมือนกับเป็นการยืนยันสิทธิให้คนทั้งประเทศ แล้วต่อไปถ้ารัฐจะทำอีกก็ต้องทบทวนด้วยว่า ทำแบบนั้นไม่ได้ คือเราทำงานเชิงโครงสร้างมากกว่า ไม่ใช่เชิงปัจเจกบุคคล”


Untitled-1-01.jpg

- ศูนย์ทนายความฯ เกิดขึ้น 2 วันหลังรัฐประหาร

ถ้ายังจำกันได้ ช่วงรัฐประหารสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเข้มข้นมาก ประชาชนตบเท้าเข้าร่วมชุมนุมมหาศาล ทว่า บางส่วนกลับโดนจับกุม ซึ่งนั่นหมายความว่า การละเมิดสิทธิเกิดขึ้นแล้ว กลุ่นคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่สามารถนิ่งนอนใจอีกต่อไป ทำให้เกิดเป็นศูนย์ทนายความฯ ขึ้น 2 วันหลังการทำรัฐประหาร

“การละเมิดสิทธิคนๆ หนึ่งเป็นเหมือนการละเมิดสิทธิคนทั้งประเทศ และถ้าทุกคนเงียบ พวกเขาก็จะทำมันต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใครสักคนออกมาพูด อย่างน้อยๆ ยังเกิดการชะงักของรัฐ”

อย่างไรก็ตาม ทนายแจมยอมรับตามตรงว่า ตลอดระยะเวลาการทำงาน 6 ปี สถานการณ์การละเมิดสิทธิกลับไม่ลดลงเลย ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอันดีคือ คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

“จากเมื่อก่อนมองกันเป็นเรื่องของคนอื่น แต่สังคมเกิดการพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทำให้เราเห็นว่างานที่ทำมันส่งผลกระเทือนอยู่เหมือนกัน สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เหมือนกัน ถึงจะเกิดการละเมิดสิทธิอยู่เหมือนเดิม แต่อย่างน้อยๆ ก็มีคนหันมาปกป้องสิทธิมากขึ้น รู้ว่าอะไรคือการละเมิดสิทธิจากที่เมื่อก่อนมีการละเมิดสิทธิเหมือนกัน แต่คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือการละเมิดสิทธิ”

สุดท้าย ความคาดหวังของทนายแจม ณ ปัจจุบันไม่ได้ต่างจากหลายๆ คนในสังคมประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประเทศเกิดการเลือกตั้งเร็วที่สุด

“พื้นฐานอยู่ที่การเลือกตั้ง หรือสิทธิในการเลือกผู้แทนของเราเป็นสิ่งสำคัญ”

“จริงๆ แม้การเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว แต่ธรรมชาติของอาชีพทนายความ หากไม่เกิดการนิรโทษกรรมก็ต้องทำคดีต่อระยะหนึ่ง แต่เรามองว่าการจะทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง หรือจะหันไปทำงานสายอัยการ ผู้พิพากษา สิ่งที่เราได้รับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้เราไม่ได้เป็นทนายความแบบคนทั่วไปแน่นอน มันมีประสบการณ์ที่สอนเราอยู่ หล่อหลอมให้เราเป็นเราในปัจจุบัน” ทนายสาวกล่าวทิ้งท้าย