ไม่พบผลการค้นหา
นิทรรศการ ‘ทอมบอย แบงค็อก’ (Tomboy Bangkok) ของช่างภาพชาวอเมริกันนามว่า ‘ดีเร็ค บราวน์’ ผู้อาศัยในไทยมานานกว่า 14 ปี พาสำรวจตัวตนแท้จริงของ ‘ทอมบอย’ ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ภาพทอมบอยที่มักถูกนำเสนอเกินจริงตามสื่อ

“ผมมักสนใจประเด็นกระแสรอง และไม่อยู่ในความสนใจของสื่อ” บราวน์บอกเล่าความเป็นมาของนิทรรศการ ซึ่งรวมภาพถ่ายบุคคลที่นิยามตัวเองว่า ‘ทอม’ เกือบ 70 ชีวิต และกำลังจะจัดแสดงครั้งแรกในวันศุกร์ (20 มิถุนายน 2562) นี้

tomboy bangkok2.jpg
  • ดีเร็ค บราวน์ ช่างภาพ และเจ้าของสตูดิโอ ซอย ซิกซ์ (Studio Soi Six)

ดีเร็ค บราวน์ อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 14 ปีแล้ว เขาเปิดสำนักงานเอเจนซีมาร์เก็ตติ้งอยู่ย่านประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ และรับงานจากบริษัททั่วโลก ทว่าหลังจากบริษัทอยู่ตัวมานาน 4 ปี เขากลับเกิดไอเดียว่า ควรจะลงมือทำสิ่งที่ตัวเองหลงรักเสียที และนั่นก็คือ ‘การถ่ายภาพ’  

ไม่นาน ‘สตูดิโอ ซอย ซิกซ์’ (Studio Soi Six) จึงถือกำเนิดขึ้น ทำหน้าที่เป็นสตูดิโอส่วนตัวของบราวน์ เน้นถ่ายภาพบุคคล และปัจจุบันตัวบราวน์เองก็เริ่มถ่ายภาพเป็นงานหลัก เพราะเฉลี่ยแล้วเขาต้องกดชัตเตอร์ถ่ายภาพบุคคลมากถึง 5-10 คนต่อสัปดาห์  

tomboy bangkok4.jpg
  • ตัวอย่างภาพส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ ทอมบอย แบงค็อก

สำหรับ ทอมบอย แบงค็อก โปรเจ็กต์ล่าสุด นับเป็นนิทรรศการขนาดใหญ่ครั้งแรกของบราวน์ ซึ่งเขาการเก็บภาพคนไทยระบุตัวตนว่า ‘ทอม’  

บราวน์อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลของการเลือกหัวข้อว่า นอกจากประเด็นความเป็นกระแสรองแล้ว ทอมบอยในสังคมไทยจะถูกมองแบบเหมาร่วมว่าเป็นผู้หญิงตัดผม แต่งตัว หรือแสดงออกห้าวหาญเหมือนผู้ชาย มีรสนิยมทางเพศชอบผู้หญิง เป็นผู้นำในความสัมพันธ์ และเป็นผู้จัดหาให้กับคู่ของตนตามอุดมคติความเป็นชายในสังคมไทย แต่เมื่อได้เปิดบทสนทนา และเก็บภาพทอมบอยกว่า 70 ชีวิต บราวน์สัมผัสได้ว่า ทุกคนล้วนมีความต้องการที่ต่างกันออกไป

tomboy bangkok9.jpg
  • ตัวอย่างภาพส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ ทอมบอย แบงค็อก

“การลงลึกในเรื่องนี้มีความหมายกับผมอย่างมาก มันทำให้ผมสามารถสัมผัสถึงความหลากหลาย และความเป็นตัวตนที่มากไปกว่าคตินิยม หรือทัศนคติของสังคมทั่วไป และผมได้แบ่งปันสิ่งนี้กับกลุ่มผู้ชมที่กว้างขึ้น”


ตัวตนของแต่ละคน

ในสหรัฐอเมริกา และประเทศซีกโลกตะวันตกส่วนใหญ่ คำว่า ‘ทอมบอย’ ใช้นิยามเด็กผู้หญิงที่ชอบเล่นกับผู้ชาย สวมใส่เสื้อผ้าแบบผู้ชาย แต่เมื่อเธอเติบโตขึ้น เธอเป็นผู้หญิงทั่วไป และรสนิยมทางเพศเธอยังเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย แต่ในประเทศไทยบราวน์ชี้ว่า เขามองเห็นวัฒนธรรม ‘ทอมบอย’ ที่โดดเด่นกว่านั้น เพราะคำว่า ‘ทอมบอย’ ถูกผูกไว้กับรสนิยมทางเพศ และเป็นวัฒนธรรมการออกเดตของคู่ที่เรียกว่า ‘ทอม-ดี้’

ปลายปี 2018 บราวน์เริ่มโปรเจ็กต์ทอมบอย แบงค็อก ด้วยการประกาศหาอาสาสมัครเข้ามาเป็นโมเดลผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของสตูดิโอ ซอย ซิกซ์ และมันก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากมีหลายคนสมัครเข้ามาให้บราวน์ถ่ายภาพ ก่อนเขาจะใช้เวลาเก็บภาพอยู่ราว 4 เดือน โดยมีทอมบอยอายุ 15-33 ปี ทั้งหมด 70 คนมาเป็นแบบ

tomboy bangkok3.jpg

“ผมเชิญพวกเขามาในสตูดิโอ ต่อคนเราจะใช้้้เวลาราว 30 นาที คุยกันนิดหน่อย สร้างความผ่อนคลาย และผมจะถ่ายภาพจำนวนมาก เพื่อให้พวกเขาแสดงออกถึงตัวตนได้ดีที่สุด ผมไม่อยากให้เขาต้องแสร้งทำตัวเป็นคนอื่น” บราวน์อธิบายกระบวนการทำงาน

“ผมอยากถ่ายภาพที่บุคคลเปิดเผยช่วงเวลาที่มีเฉพาะตัวตนของเขาเท่านั้น”

“ความยากคือ การเลือกภาพและอีดิตภาพ เพราะแต่ละคนผมถ่ายประมาณคนละ 300 ช็อต รวมๆ กันออกมาก็หลายพันภาพ”

บราวน์เลือกจะนำเสนอภาพในรูปแบบภาพขาว-ดำ แต่ไม่รีทัชภาพ ยกเว้นเรื่องของแสงและเงา โดยให้เหตุผลว่า โปรเจ็กต์ทอมบอยนั้น ภาพขาว-ดำ แม้จะดึงดูดสายตาน้อยกว่า แต่กลับให้ความสำคัญต่อตัวบุคคลในภาพ และแสดงออกถึงอารมณ์ของบุคคลในภาพได้มากกว่า

“ผมว่ามันเป็นการนำเสนอที่คลาสสิกดี”

tomboy bangkok5.jpgtomboy bangkok6.jpg
  • ตัวอย่างภาพส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ ทอมบอย แบงค็อก

ในนิทรรศการ ทอมบอย แบงค็อก ภาพถ่ายของอาสาสมัครแต่ละคนจะถูกนำเสนอ พร้อมกับข้อความของพวกเขา เป็นข้อความสะท้อนมุมมอง ผ่านประสบการณ์ และเผชิญหน้ากับคำตัดสินว่า พวกเขาไม่ปกติ ตลอดจนความไม่เข้าใจจากครอบครัว รวมถึงสังคมวงกว้าง

tomboy bangkok8.jpg
  • เสื้อตัวหลวม การพันหน้าอก รอยสัก การเจาะหู ผมสั้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้เด็กผู้ชายเป็นเด็กผู้ชาย และอะไรทำให้เด็กผู้หญิงเป็นเด็กผู้หญิง มันไม่เคยง่ายเลยสำหรับวัยรุ่นไทย ในการสร้างความรู้สึกเคารพต่อตนเอง และแสดงมันออกมาจากชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาถูกนิยามว่าเป็นเลสเบี้ยน หรือทอม...” ส่วนหนึ่งของข้อความจากนิทรรศการ ทอมบอย แบงค็อก ของหยก วัย 24 ปี  

“อาสาสมัครมักแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น ว่าเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ รวมถึงยอมรับในความเปิดกว้างทางเพศ”

บราวน์พาไล่ดูไฟล์ภาพของโมเดลแต่ละคน ที่เขาคัดเลือกให้เหลือเพียงคนละหนึ่งภาพ เขาบอกว่า หลังจากถ่ายภาพครบทุกคน คำว่า ‘ทอมบอย’ สำหรับเขาในฐานะตากล้องที่เป็นผู้ชาย ลื่นไหลมากขึ้น เขาพยายามปรับมุมมองในการถ่ายภาพ ให้มองเพียงแค่ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดติดกับเรื่องเพศสภาพของคนที่อยู่เบื้องหลังเลนส์

“โปรเจ็กต์นี้สำหรับผม มันน่าสนใจในเรื่องของความแตกต่าง ทั้งสไตล์ และแนวคิดต่อประเด็นของแต่ละคน” ช่างภาพชาวอเมริกันบอก

tomboy bangko9.jpg
  • “ฉันไม่คิดว่าการเป็นทอมแตกต่างจากเพศอื่นๆ หรือควรได้รับการปฏิบัติตัวอย่างแตกต่างออกไป ฉันไม่สามารถบอกได้ว่าอัตลักษณ์แบบไหนคืออะไร เพราะฉันรู้สึกว่าฉันรู้สึกเหมือนทุกคนบนโลกใบนี้ เหมือนคนเพศอื่น ฉันไม่อยากให้ใครมาบอกว่าฉันเป็นเพศอะไร” ส่วนหนึ่งของข้อความจากนิทรรศการ ทอมบอย แบงค็อก ของแพร วัย 22 ปี

“ในสังคมคำว่า ‘ทอมบอย’ ถูกสื่อถึงในภาพแบบหนึ่ง แต่อันที่จริงแล้ว แต่ละคนมีรายละเอียดแตกต่างกันมาก ทั้งเรื่องรสนิยมทางเพศ บทบาทในความสัมพันธ์ ทั้งเรื่องของสไตล์ ที่บางคนอยากเป็นคนเท่ๆ คูลๆ บางคนอยากเป็นคนที่ดูน่ารัก ไม่ได้อยากเท่ บางคนใส่เสื้อผ้าแบบผู้ชายเลย เสื้อยืดกางเกงยีน ตัดรองทรงแบบผู้ชาย ขณะที่บางคนมีความจัดจ้านกว่านั้น มีเครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นเฉพาะ ตัดผมไถข้าง บางคนแต่งหน้า บางคนไม่แต่งหน้า บางคนใส่ต่างหูห่วงๆ ใหญ่ๆ แบบที่ผู้หญิงนิยม”

tomboy bangkok7.jpg
  • ตัวอย่างภาพส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ ทอมบอย แบงค็อก

นิทรรศการ ทอมบอย แบงค็อก จะจัดแสดงที่ร้านไวท์ไลน์ (Whiteline) สีลมซอย 8 จะเปิดให้สาธารณชนเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันที่ 21 – 22 และ 28 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 19.00 – 22.30 น.

On Being
198Article
0Video
0Blog