ไม่พบผลการค้นหา
แค่ตัวเลข 2564 เท่านั้นที่สังคมไทยจะทิ้งไว้เพื่อก้าวสู่ศักราชใหม่ 2565 ที่เหลือทั้งสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจซบเซา ไปจนถึงวิกฤตประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพหดแคบ สิทธิมนุษยชนหดหาย กระบวนการยุติธรรมตามอำเภอใจ กระทั่งการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมที่ไร้อนาคต ยังคงเดินหน้าข้ามสู่ปีเสือไปด้วย

ขวบปีที่ผ่านมากองบรรณาธิการ ‘Voice Online’ สนทนากับหลากผู้คน-หลายวงการ เพื่อแสวงหาทัศนะร่วมว่าหลังรัฐประหาร 2557 กว่า 7 ปีที่สูญเสีย “ความปกติ” ไป เราจะกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างไร

จากการทบทวนบทสนทนาที่ผ่านมา เราพบว่าการกลับสู่ภาวะปกติไม่ใช่ไม่มีทางไป แต่เงื่อนไขที่ผู้ปกครองไม่ยอมปรับตัว ไม่ฟังเสียงคำเตือนจากประชาชน ยิ่งทำให้ความปกติดูไกลออกไป

ต่อไปนี้เป็น WARNING หลากคำเตือนถึงสังคมไทยในวิกฤต บทสัมภาษณ์คัดสรรแห่งปีที่ ‘วอยซ์’ อยากให้ผู้ปกครองได้ลองสดับรับฟัง

.....

วิกฤตประชาธิปไตย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนหนุ่มสาว ‘ราษฎร’ ตั้งแต่ 2563-2564 สร้างแรงกระเพื่อมให้อำนาจรัฐเดินหน้าปิดปากประชาชนที่พยายามขยับเพดานสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

อานนท์ นำภา ทนายความ ที่กำลังต้องคดี 112 หนึ่งในคนสำคัญที่คิกออฟเรื่องนี้ยอมรับว่า การสื่อสารในเรื่องนี้ ไม่ใช่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในด้านบวก แต่เป็นการพูดถึงในด้านลบ เพราะหากไม่เอาปัญหาขึ้นมาพูดอย่างตรงไปตรงมาจะแก้ปัญหากันได้อย่างไร ถ้าไม่พูดถึงปัญหาก็ไม่สามารถปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ แต่เมื่อพูดไปแล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือ การดำเนินคดี 112

“มันเลี่ยงไม่ได้จริงๆ 112 คุณไม่ได้ออกมาพูดชม คุณไม่ได้มาทรงพระเจริญ คุณออกมาพูดปัญหาของสถาบันกษัตริย์ คุณก็ต้องพูดในแง่ลบ ไม่งั้นมันจะนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างไร ฉะนั้นปีนี้ 112 มาเยอะ”


วิกฤตชนชั้นนำ

สืบเนื่องจากคดี 112 ที่กำลังลากอนาคตวัยเยาว์ของคนหนุ่มสาวให้หมดเวลาไปในคุก ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาสังคมไทยมานาน นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองไปที่ชนชั้นนำที่เกี่ยวพันทั้งทางตรงทางอ้อมกับอำนาจรัฐไว้อย่างน่าสนใจ

“ผมคิดว่าชนชั้นนำหลายคนมีความขัดแย้งในตัวเอง บางครั้งเขาพูดราวกับว่าอนาคตไม่เหมือนกับปัจจุบันนี้ แต่หลายครั้งก็ว่าปัจจุบันนี้เปลี่ยนไม่ได้ เช่น เลิก ม.112 ไม่ได้ เพราะคนจะขาดความจงรักภักดี จริงๆ สถาบันกษัตริย์มีมาหลายร้อยปีก่อนที่จะมีการบัญญัติมาตรา 112 ขึ้นด้วยซ้ำ”

ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์วัย 81 ปี เขาย้ำว่า สถาบันกษัตริย์ในโลกนี้ส่วนใหญ่แล้วอยู่ได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายที่ห้ามปรามการวิพากษ์วิจารณ์ ต้องอยู่ได้โดยตัวสถาบันเอง

“ผมไม่แน่ใจนักว่าเราจะสามารถอธิบายการคงอยู่ของสิ่งเก่าทั้งหลายเหล่านี้ว่าเป็นประโยชน์อย่างไร ทั้งต่อผู้ปกปักรักษา ทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ประโยชน์ทางเกียรติยศ ประโยชน์ทางอะไรก็แล้วแต่ 

“ทำไมรัฐบาลชุดนี้ซึ่งประกอบด้วยคนที่มาจากกองทัพบ้าง เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงบ้าง เคยเป็นที่ยอมรับในระบอบเก่าบ้าง เช่น นักกฎหมาย เนติบริกรทั้งหลาย ถามว่าถ้าระบอบเก่ายังอยู่ สิ่งเก่าๆ ยังอยู่ พวกเขาได้หรือเขาเสีย ผมคิดว่าเขาได้

“เวลาที่บอกว่าคนๆ นี้มีความจงรักภักดี ผมจะอดนึกไม่ได้ว่าที่มึงจงรักภักดีน่ะ กำไรหรือขาดทุน ได้กำไรเท่าไหร่” 

อย่างไรก็ตาม นิธิมองข้ามช็อตไปที่ความน่ากังวลในอนาคตว่า ถ้าแก้ 112 ไม่ได้ในช่วงนี้ วันหนึ่งก็ต้องถูกแก้ แต่จะถูกแก้ในลักษณะอย่างไร ทุกอย่างจะพังกันไปหมดหรือยังพอที่จะประนีประนอมได้ 

“ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ล้วนแต่ส่อไปในทางที่จะพังลงไปหมด แม้แต่กลไกประชาธิปไตยก็พัง เพราะไม่มีใครเชื่อสภาอีกแล้ว ทุกวันนี้มีใครกี่คนที่เชื่อว่าสภาจะแก้ปัญหาให้คุณได้”

ไม่เพียงแต่แก้ 112 เท่านั้น แต่นิธิให้ทัศนะต่อการแก้รัฐธรรมนูญไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจริงๆ ผลสะเทือนไม่เพียงแต่จะทำให้สถาบันฯ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ยังพ่วงไปถึงการตัดอำนาจกองทัพที่จะทำรัฐประหาร ลามไปถึงการทำลายการผูกขาดเศรษฐกิจของกลุ่มทุนชนชั้นนำด้วย

“เวลาที่เราแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นไม่ได้หมายความว่าแก้เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เพื่อทำลายล้างระบบขูดรีดเอาเปรียบที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยต่างหาก” นิธิ อธิบาย


วิกฤตเสรีภาพ

เป็นความจริงที่ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพดานของการแสดงออกถึงเสรีภาพทางความคิดกำลังถูกผลักขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน สะท้อนได้จากการโต้กลับจากอำนาจรัฐที่พยายามกดปราบอย่างหนัก 

สถาบันกษัตริย์ที่ถูกระบุในรัฐธรรมนูญว่าเป็นที่เคารพสักการะกลายเป็นต้องห้ามทางสังคม กำลังเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่-คนรุ่นใหม่ที่ยึดถือหัวใจของ “ความโปร่งใส ตรวจสอบได้” ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์

รูปธรรมหนึ่งนอกจากกฎหมายที่ถูกนำมาใช้กดปราบการแสดงออกแล้ว คำกล่าวที่ว่า “เสรีภาพไม่ใช่เนื้อดินของสังคมไทย” ก็มักเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสนับสนุนการกดปราบดังกล่าว

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราถามความเห็นจาก พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง ผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ความคิด ที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Executive Power and Modern Liberty in Jean-Louis Delolme’s Political Thought and its Reception

พลอยใจให้อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า คุณค่าของโลกสมัยใหม่อย่างสิทธิและเสรีภาพ ไม่ใช่สัจจะที่ร่วงหล่นจากฟ้าโดยไม่มีที่มาที่ไป และเสรีภาพมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับการแสวงหาความจริงและความรู้

“สมมติมีคนบอกว่าบ้านหลังนี้มีของอะไรอยู่บ้าง แต่ห้ามดูห้องใต้ดิน แล้วจะบอกได้จริงๆ หรือว่ามีของอะไรอยู่ในบ้านบ้าง นี่คือตัวอย่างที่จะบอกว่าทำไมเสรีภาพกับความจริงจึงมาด้วยกันเสมอ เพราะถ้าคุณไม่มีเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ ความรู้นั้นไม่เคยสมบูรณ์ เพราะไม่สามารถตั้งคำถามอย่างไม่มีข้อจำกัด

“นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเสรีภาพจึงสำคัญในฐานะคุณค่าทางการเมือง โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยที่การมีความโปร่งใสไปด้วยกันกับการสร้างความชอบธรรมของรัฐ เพราะความชอบธรรมของรัฐสมัยใหม่ยึดโยงกับประชาสังคม (civil society) เสมอ” พลอยใจ อธิบาย


วิกฤตศิลปวัฒนธรรม

การคุกคามทางสิทธิเสรีภาพไม่ได้จำกัดวงเฉพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้น แม้แต่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกา “สิงห์สนามหลวง” อดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์, โลกหนังสือ, ผู้ก่อตั้งช่อการะเกด ฯลฯ ในวัย 76 ปี ก็เป็นศิลปินแห่งชาติคนแรกที่ถูกปลดลงจากความเป็นแห่งชาติด้วย 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม สะท้อนความไม่มีมาตรฐาน ไม่ยึดโยงกับความถูกต้อง ถ้าหากคุณมีมาตรฐาน ศิลปินแห่งชาติเนี่ยจะใช้คำว่า “แห่งชาติ” ชาติสำหรับผมคือประชาชน” 

ในมุมมองของ “สิงห์สนามหลวง” เขามองว่าแง่หนึ่ง การปลดตัวเขาจึงไม่ใช่ปัญหาของเขาเท่านั้น 

“อนาคตอาจเกิดกับคนอื่นก็ได้ วันหนึ่งศิลปินคนอื่นๆ อาจจะโดนกลั่นแกล้งแล้วก็โดนปลดก็ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการกล่าวหา”

ต่อคำถามว่า เพื่อจะทำให้ “ศิลปินแห่งชาติ” มีความหมายเท่ากับ “แห่งประชาชน” จริงๆ ควรเริ่มจากอะไร สุชาติตอบทันทีว่า ในอนาคตควรจะมีการรื้อสร้างคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” เนื่องจากปัจจุบันนี้มันเป็นศิลปินแห่งชาติข้าราชการ ถูกอุปถัมภ์ด้วยราชการ

“ต่อไปอาจจะใช้ชื่อว่าศิลปินแห่งราษฎรหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งควรอย่างยิ่ง และถ้าหากว่าจะเอาออกจากระบบอุปถัมภ์ราชการ ก็ควรจะมีสวัสดิการถ้วนหน้าแทน สังคมดูแลศิลปินในทุกระดับในลักษณะถ้วนหน้า มีความเสมอภาค

“เวลาที่เราพูดว่าสังคมควรจะดูแลศิลปินนั้น หนึ่ง ต้องให้เสรีภาพเขาเต็มที่ ถ้าคุณขีดเส้นให้เขาเดิน แบบนั้นเรียกศิลปินไม่ได้ คนทำงานศิลปะคือคนที่มีเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดหลากหลาย ประเด็นที่สังคมอาจจะเห็นว่าขัดแย้งก็เป็นเรื่องปกติ มีความเห็นต่างทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของคนเป็นศิลปิน เพราะศิลปินไม่ใช่คนที่ถูกสนตะพายอย่างวัวควาย” สุชาติ ย้ำเสียงหนักแน่น

ขณะที่เจ้าของประโยคอันลือลั่นว่า “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใครและไม่เป็นขี้ข้าใคร” จากทัศนัย เศรษฐเสรี เคยบอกกับเราถึงการควบคุมความคิดโดยผู้ปกครองผ่าน “สุนทรียศาสตร์” ว่าสังคมใดก็ตามที่เป็นสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จ สิ่งที่ควบคุมผู้คนไม่ใช่กฎหมาย แต่คือจินตนาการ ความฝัน 

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาสามารถตีกรอบให้คุณมองโลกสุนทรียศาสตร์ในแบบเดียวกันได้ สำนึกภายใน ทั้งเรื่องความเชื่อทางศาสนา ความลี้ลับของโลกและจักรวาลอะไรก็ตาม ทั้งที่ปัจเจกชนน่าจะมองได้แตกต่างกัน ถ้าตรงนี้ถูกตีกรอบแล้ว มันร้ายกาจยิ่งกว่ากฎหมาย ร้ายกาจมากกว่ารัฐธรรมนูญ มากกว่านายกรัฐมนตรีที่เป็นเผด็จการอีก เพราะมันทำให้ผู้คนต้องควบคุมตัวเองอยู่ในระเบียบสุนทรียศาสตร์แบบเผด็จการ แม้แต่ในที่ที่ไม่มีใครอยู่” ศิลปินผู้เผชิญหน้าเผด็จการอธิบาย


วิกฤตเจเนอเรชัน

ในความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ยังแทรกไปด้วยความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ และแม้จะอยู่ในวัยอาวุโสแล้ว แต่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เคยบอกกับเราว่า 

“คนรุ่นปัจจุบันเขามองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก จะใช้คำว่า globalization ก็ได้ เพราะเราอยู่ในสมัยโลกาภิวัตน์ เขาไม่ได้ถูกพรมแดนหรือเขตแดนจำกัดตัวเขาอีกแล้ว

“คนรุ่นผมและต่อจากนั้นคือเบบี้บูมเมอร์ เรามองไปรอบๆ บ้าน เราไปไม่ไกลเกิน ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ ไปไม่เลยอำเภอแม่สาย มองไปไม่ข้ามแม่น้ำโขง พรมแดนอันยาวไกลระหว่างไทยกับพม่า เราก็ข้ามไม่ได้

“ถ้าเราดูอายุของคุณประยุทธ์ก็ดี คุณประวิตรก็ดี ผมว่าเขาเติบโตมาจากบรรยากาศของสงครามเย็น และผมคิดว่าลึกๆ เขาอาจจะยังไม่หลุดจากตรงนั้น ถ้ามองผลประโยชน์ทางการเมือง การที่เขาถ้ายังยึดอยู่กับความเชื่อของโลกเมื่อ 40-50 ปีมาแล้ว มันก็อำนวยประโยชน์ให้เขาในแง่ของการเมืองภายใน ทำให้เขาสร้างอำนาจต่อไป คือสร้างความกลัว”

เมื่อผู้มีอำนาจรุ่นเก่าถนัดสร้างความกลัวต่อคนรุ่นใหม่ คำถามคือเราจะอยู่กันอย่างไรในอนาคต ย้อนกลับไปปลายปี 2563 ที่วลีแห่งประวัติศาสตร์ถูกบัญญัติขึ้นคือ “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม”

ชาญวิทย์บอกว่า คำว่า “Thailand is the land of compromise” เป็นคำที่งดงาม และเขาเองก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น มันเป็นวาทกรรม เป็นแนวคิดที่ว่าคนไทยมีอันนี้ แม้ความจริงทางประวัติศาสตร์ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าเราเชื่อว่ามี เราก็ต้องฝ่าฟันไปให้ถึงจนได้

“ผมอยากเชื่อว่าผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมี คนที่อยู่ในชนชั้นปกครอง เขาจะ compromise เมื่อเขารู้ว่าถ้าไม่ compromise เขาก็อาจจะพัง และถ้าเราไม่ต้องการให้สังคมเราผ่านความเจ็บปวด ประวัติศาสตร์สอนให้เราประนีประนอม” ชาญวิทย์ อธิบาย


วิกฤตกระบวนการยุติธรรม

ในวันที่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะศาลจากกรณีไม่ให้ประกันตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและเยาวชนในคดี 112 

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็น “คนใน” ส่วนน้อยที่ออกมาเตือนสติแวดวงตุลาการต่อวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้น

ในทัศนะของสมลักษณ์ สรุปได้ว่า เนื่องจากความคิดของสังคมปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต “ผู้พิพากษาสมัยนี้ต้องเปลี่ยนความคิด เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่เหมือนเดิม 

เธอมองว่า ขณะนี้หลายกลุ่มมีการใช้มาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือในการทำให้อีกฝ่ายเป็นคนไม่ดี “พูดว่าตัวเองหรือพวกของตัวมีความจงรักภักดีเหลือเกิน สุดชีวิต สุดจิตใจ แล้วไปว่าอีกฝ่ายว่าจะล้มล้าง โดยไม่ฟังเหตุฟังผลว่าที่เขาพูดเขาพูดอย่างไร”

“การทำงานศาลต้องอยู่บนความศรัทธาของประชาชน เมื่อไรที่เกิดวิกฤตศรัทธาในศาล ในสถาบันศาล ผู้พิพากษาทำงานยาก หรือทำงานแทบไม่ได้เลย ความนับถือ ความศรัทธามันอยู่ในหัวใจคน ไปบอกบังคับเขาไม่ได้”

ไม่เพียงแต่คดี 112 เท่านั้นที่สังคมตั้งคำถามถึงความเที่ยงธรรมของศาลยุติธรรม แต่การตีความประเด็น การปราศรัยเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครองจากศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอีกกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง

คำถามคืออะไรคือฐานคิดที่ทำให้คนในสังคมไม่น้อยมองคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวมีลักษณะ “ล้มเจ้า” พ่วงไปถึง “ล้มล้างการปกครอง” 

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ไปที่ประโยคว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้นไม่ได้มีมาแต่แรก

“จุดเริ่มต้นของชื่อระบอบนี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน และ 10 ธันวาคม 2475 เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยก็คือ democracy ไม่ต้องมีคำสร้อย

ธำรงศักดิ์ระบุว่า คำนี้ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2492 ซึ่งเป็นผลผลิตของการรัฐประหารปี 2490 ที่ฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังจากที่ถูกยุติพระราชอำนาจแบบเดิมไป 15 ปี ภายใต้การปฏิวัติของคณะราษฎร

“การรัฐประหารปี 2490 เป็นการรัฐประหารที่ล้มหรือยุติการสร้างประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร แล้วสถาปนาการฟื้นพระราชอำนาจแบบระบอบเก่า เปิดทางให้กลุ่มอนุรักษนิยม royalist เข้ามามีบทบาททางการเมือง แล้วมีกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญให้มันถาวรขึ้น ในฉบับนี้จึงมีคำนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก 

“เพราะฉะนั้นคำนี้จึงถูกสร้างภายใต้บริบทของการล้มอำนาจของคณะราษฎรผู้ที่ต้องการสถาปนาความเป็นประชาธิปไตยอันเป็นอำนาจของประชาชน มันคือคนละเส้นทาง”


วิกฤตสิทธิมนุษยชน

“เราต้องเน้นว่ารัฐใหญ่ๆ มักจะลืมในสิ่งที่คนเล็กๆ ถูกกระทบ เราจึงต้องเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วเราก็ไม่ได้ลืมเรื่องหน้าที่ สิทธิหลายอย่างประชาชนก็มีหน้าที่ควบคู่ ผมก็มีหน้าที่ไม่ละเมิดสิทธิของท่าน แต่มีตัววัด ไม่ใช่อารมณ์อะไรก็ได้ ตัววัดก็คือสิทธิมนุษยชนสากล”

ทัศนะข้างต้นบางส่วนของ วิทิต มันตาภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ กำลังตอบคำถามว่าทำไม “สิทธิมนุษยชน” ในไทยควรเป็นวาระสำคัญ เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในโลก

การอ้างกฎหมายในการปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านอำนาจรัฐ ลามไปกระทั่งการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งในกรุงเทพฯ และภาคใต้กำลังถูกจับตาและวิจารณ์อย่างหนัก

“พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ไซเบอร์ อะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคง เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องความมั่นคง มันก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของประชาชนที่จะต้องเคารพสิ่งที่รัฐอ้างถึง แต่ความมั่นคงต้องมองโดยปรวิสัย (objective approach) โลกเขามองเรายังไง เราเป็นภาคีสหประชาชาติตั้งเยอะแยะ เขาชี้เลยว่าเขาไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ความมั่นคงมากเกินไป มันมีคำตอบ อย่าไปปฏิเสธ”

แต่คำถามไม่ได้พุ่งไปที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียว องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ทำงานด้านนี้โดยตรงก็เป็นอีกหน่วยที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากท่าทีที่ค่อนไปทางเฉยเมยต่อการคุกคามประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยบอกกับเราถึงเหตุผลที่ลาออกจาก กสม. ในยุคอำนาจนิยมว่า การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนสวนทางกับระบบปกครองแบบเผด็จการ เมื่อรู้สึกว่าสิ่งที่ยึดมั่นถูกปิดกั้นจากอำนาจ

เธอบอกว่าหลักการสำคัญของ กสม.คือการทำงานอย่างกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวอิทธิพล ถ้า กสม.ล่าช้าไม่ทันการณ์ มันไม่มีประโยชน์ “เมื่อไหร่เราพูดความจริงไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร” 

“ในเอเชียมีสถาบันสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่อง ฟิลิปปินส์เขาวิจารณ์ประธานาธิบดีเขาตรงๆ กรณีสงครามยาเสพติด แล้วเขาก็ไม่กลัวถูกตัดงบ เพราะสภาเขาถ่วงดุลกับรัฐบาลได้ แต่กรรมการสิทธิไทยจุดยืนอยู่ตรงไหน นี่เป็นข้อท้าทายมากว่ามีแล้วไม่มีประโยชน์ ก็อย่ามีเลย”


วิกฤตการศึกษา

นอกจากสถานการณ์การเมืองที่กระทบต่ออนาคตของเยาวชนโดยตรงแล้ว สถานการณ์โควิดยังเข้าซ้ำเติมสร้างความวิตกทวีคูณ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาถึง 65,000 คน เนื่องจากครอบครัวขาดรายได้ในช่วงพิษเศรษฐกิจจากโควิด

แทนที่รัฐบาลจะระดมจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อให้กลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กได้เข้าถึง แต่กลับผลักดันร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่แทน และถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ตอบโจทย์ความเป็นพลเมือง แต่กลับโฟกัสไปที่ “การซึมซับวัฒนธรรมไทยและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” แทน

วีระชาติ กิเลนทอง ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกกับเราตอนหนึ่งว่า “ได้ไปเก็บข้อมูลสำรวจเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยหรือชั้นอนุบาล 3 หมื่นกว่าคน ทดสอบเด็กว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในจังหวัดที่เคยถูกปิด หรือเป็นหนึ่งใน 28 จังหวัดที่เป็นสีแดงเข้มกับพื้นที่ที่ไม่ใช่สีแดงเข้ม 

“เราก็เอาสองกลุ่มนี้มาลองเทียบกันดู พบเลยว่ากลุ่มเด็กที่อยู่ในพื้นที่เคยถูกปิด ทักษะพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เขาพร้อมเข้าเรียนระดับประถมต่างกันจริงๆ เราเรียกว่า learning lost เป็นภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งในเรื่องความรู้ และทักษะอื่นๆ ที่อาจจะไม่ใช่ความรู้ด้วย เช่น ทักษะหนึ่งที่เราวัดเป็นการวัดความจำและการใช้ความจำเรียกว่า working memory

“เราจะมีตัวเลขให้เด็กดู 2-3 ตัว สิบวินาทีแล้วก็จะปิดไว้ หลังจากสิบวินาทีผ่านไปแล้วจะบอกให้เด็กทวนตัวเลขให้เราฟังหน่อย ปรากฏว่าเด็กสองกลุ่มนี้ต่างกันจริงๆ ต่างกันแบบชัดเจนว่าเด็กที่อยู่ในพื้นที่ปิดมีความสามารถในการจำและทวนตัวเลขได้ด้อยกว่า”

งานภาคสนามของวีระชาติ สะท้อนว่า “ในระยะยาวจะทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่เท่ากับคนรุ่นอื่นๆ” และทางออกนอกจากวัคซีนที่ต้องทั่วถึงและการเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กกลับไปเรียนรู้เพื่อให้พัฒนาการกลับมา

เขาเตือนไปที่รัฐบาลว่า “รัฐไม่ควรจะเป็นนักบริหารรายวัน เพราะแนวทางของรัฐมันกำหนดชะตาชีวิตของคน คุณต้องสม่ำเสมอว่าจริงๆ คุณกำลังจะเดินอย่างไร แน่นอนคุณต้องปรับตัวเมื่อมีข้อมูลที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ตื่นเช้ามาทำอย่างนี้ พรุ่งนี้จะทำอย่างอีกอย่าง ประชาชนจะไม่มีทางรู้เลยว่าต่อไปชีวิตจะต้องดำเนินอย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ของภาครัฐสำหรับการเปิดประเทศ”


วิกฤตความไว้วางใจ

ในสถานการณ์โควิดรุนแรง ถ้อยคำที่ผู้ปกครองอ้างว่า “จะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม” แต่ต่อมาปรากฏว่าประชาชนเข้าไม่ถึงการรักษาและต้องนอนตายทั้งที่บ้าน-ข้างถนน ทำให้ความไว้ใจต่อภาครัฐหายวับในพริบตา

คำถามสำคัญคือ “ความไว้ใจ” สำคัญอย่างไรในสถานการณ์วิกฤต นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร บอกกับเราตอนหนึ่งว่า

“หากเรารู้สึกว่าภาครัฐหรือว่ารัฐบาลไม่แคร์ ไม่เห็นหัวเรา เราก็จะรู้สึกไม่ไว้ใจ มันจะเกิดคำถาม เขาปรารถนาดีกับเราจริงหรือเปล่า เขาทำอะไรต่างๆ เพื่อประโยชน์ของเราด้วยความหวังดีหรือเปล่า หรือมีวาระซ่อนเร้นอื่นๆ ถ้าประชาชนรู้สึกแบบนี้บ่อยๆ ความไว้วางใจก็จะถูกบั่นทอนไปเรื่อยๆ”

นพ.โกมาตร บอกว่า ต้องยอมรับก่อนว่าความไว้วางใจเป็นความรู้สึกนึกคิดของคนที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนนี่แหละทำให้เราต้องอาศัยความไว้วางใจกัน จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้มนุษย์เผชิญกับความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น”

“เท่าที่ดูโควิดก็จะอยู่คู่กับสังคมไทยและสังคมโลกไปอีกหลายปี ในแง่ที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาคล้ายๆ กับไข้หวัดใหญ่ ทุกปีก็จะมีสายพันธุ์ใหม่ออกมา จะให้คนไปยกการ์ดสูงตลอดเวลาไม่ได้ ชีวิตมันมีด้านอื่นที่ต้องดำเนินไปด้วย ไม่ได้มีแต่เรื่องการป้องกันโรคอย่างเดียว เพราะฉะนั้นช้าหรือเร็วเราก็ต้องปล่อยให้มันดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติของโลก” 

เมื่อสถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ เขาสรุปว่า เพื่อไม่เกิดความโกลาหลขึ้น คุณจะต้องมีหลักประกันหรือสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้ ไม่ใช่รัฐปล่อยให้นอนตายกันอยู่ตามบ้าน


วิกฤตเศรษฐกิจ

ทุกวิกฤตส่งผลโยงใยไปเป็นวิกฤตต่างๆ และรวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจด้วย ในบทสัมภาษณ์พิเศษยาวกว่า 4 ชั่วโมง พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจหลายสมัย บอกกับเราถึงสถานการณ์ปัจจุบันไว้อย่างน้อย 2 ประด็นสำคัญ คือ

หนึ่ง การรับมือสถานการณ์โควิด นอกจากฉีดวัคซีนแล้ว เขาบอกว่าไทยต้องทำ ‘clean zone’ ทันที

“ผมเขียนในเฟซบุ๊กมาปีกว่าแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะปิดเมือง เปิดเมือง ปิด เปิดโดยไม่กระทบเศรษฐกิจ เปิดแล้ว ปิดแล้ว ก็ยังปรากฏว่ายังไม่ได้ทำการปูพรมตรวจแบบทั่วถึงอย่างจริงจัง มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น

“สมมติว่าในกลุ่มคลองเตยมีประมาณแสนคน ตรวจแล้วติดแน่ 30,000 คน อีก 70,000 คนไม่ได้ติด เราทำอะไรกับ 70,000 นี้ เพราะแสนคนนี้ลูกเมียรับจ้างทำไอ้นู่นไอ้นี่ เป็น รปภ. ก็มี ทำคอฟฟี่ ช็อปก็มี จะรู้ได้ยังไงว่าคนไม่ติด ใครเป็นคนบอกว่าเขาไม่ติด เขาไม่ติดวันนี้ที่คุณตรวจ พรุ่งนี้เขาติดไหม ทำยังไงให้รับรองเขาได้ว่าเขาไม่ติด เพราะเศรษฐกิจต้องทำงานต่อ เพราะฉะนั้นคุณจะต้องมีกระบวนการ rapid test ทุกวัน ก่อนเริ่มงาน” 

ตัวอย่างข้างต้นที่พันศักดิ์ยกมาสั้นๆ เป็นข้อสรุปถึงทางออกที่เขาเชื่อว่า แบรนด์ใหม่สำหรับสินค้าไทย คือแบรนด์ปลอดโควิด เนื่องจากเป็นกระบวนการเริ่มต้นในการฟื้นฐานอุตสาหกรรมบริการ คือร้านอาหาร 

จิตวิญญาณของภาคบริการที่พันศักดิ์มองเห็นคือ กระบวนการบริการต่อหน้าที่เป็นลักษณะของคนไทยที่สร้างความน่าเชื่อถือ

“ปฏิสัมพันธ์ทางกายในระยะกระชั้นชิด มีมูลค่าปีหนึ่งกี่แสนล้านเหรียญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ คุณจะแก้ปัญหานี้ยังไงที่จะให้สังคมไทยค่อยๆ มีรายได้ขึ้นมาใหม่ คิดกันหรือเปล่า”

สอง “New Deal” ทางการเมืองจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร เพื่อให้สังคมไทยกลับสู่ความปกติ พันศักดิ์ออกตัวว่า “ผมไม่อยากพูดเรื่องการเมืองมาก เพราะน่าเบื่อหน่าย” 

“เอาอย่างนี้ เมื่อไหร่ผู้มีอำนาจในไทยคิดออกว่าสินทรัพย์ของเขาถูกทำลาย โดยไม่ใช่ไอ้เด็กกะป๊อกล็อกเดินไปเดินมาบนถนน สินทรัพย์ในความเป็นจริงวันต่อวัน บัญชีของเขากำลังถูกทำลาย โดยความไม่สามารถในการบริหารที่จะปกป้องและสร้างโอกาสใหม่ให้สินทรัพย์ของเขา มีปัญหามาก

“ผู้มีอำนาจในสังคมไทย สิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ได้ผลิตลูกหลานหรือคนที่ตัวเองเชื่อมั่นได้ว่าเป็นคนที่มีประสิทธิภาพพอที่จะปกป้องและเปิดโอกาสให้สินทรัพย์ของตัวเองเติบโตมากกว่านี้

“ในสถานการณ์ผิดปกติของโลก ผู้มีอำนาจในสังคมไทยปัจจุบัน นับตั้งแต่การศึกษายัน High finance ไม่สามารถบริหารหัวกบาลมนุษย์ที่เอามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเจ๊ก แขก จีน ฝรั่ง รัสเซีย หรืออิหร่านก็ตาม มาเพิ่มพูนสินทรัพย์ของเขา หรือสร้างกำไรให้กับตัวเอง 

“สิ่งที่เห็นอยู่น่าตกใจ บรรษัทไทยแย่งขายกาแฟกับตี๋น้อยและหมวยน้อย ธนาคารแย่งส่งก๋วยเตี๋ยวกับกิจการสตาร์ทอัพอื่นๆ ในสังคม มันไม่มีทิศทางของการลงทุน คุณไม่ได้ผลิตสินค้า คุณจึงไม่มีโครงสร้างการจ้างงานที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาที่ควบคุมโดยพวกคุณเอง” 

เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น พันศักดิ์สรุปว่า “ก็เป็นไปเห็นอย่างที่คุณเห็นนั่นแหละ”

…..

WARNING ที่กล่าวมาทั้งหมดคือความห่วงใยที่กองบรรณาธิการ ‘วอยซ์’ หวังว่าผู้ปกครองของเราจะตื่น !

264778148_317537576761508_1335356191983984109_n.jpg


อ่านต่อ :

อานนท์ นำภา ปักธงประชาธิปไตย 64 : “ถ้าไปถึงเส้นชัยแล้วไม่เจอผม ก็คิดถึงผมหน่อยแล้วกัน”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักประวัติศาสตร์ผู้หลงใหลนาฬิกา มองเวลาของชนชั้นนำไทย

ประวัติศาสตร์ ‘เสรีภาพ’ : ความหมาย-การเปลี่ยนแปลง ยุคกรีกถึงยุคสมัยใหม่

สุชาติปลดแอก : “ศิลปินไม่ใช่คนที่ถูกสนตะพาย”

สุนทรียศาสตร์ของขบถ 'ทัศนัย เศรษฐเสรี'

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : "ประวัติศาสตร์ ความเจ็บปวด สอนให้คนประนีประนอม"

เสียงเตือนจากอดีตตุลาการ ‘สมลักษณ์’ ต่อการไม่ให้ประกันนักเคลื่อนไหว คดี 112

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ : อ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ‘ล้มล้างการปกครอง’

'อุ้มหาย' จะกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อรัฐนิ่งเฉย : อังคณา นีละไพจิตร

วิทิต มันตาภรณ์ : “นักกฎหมายที่ผมเคารพ คือนักกฎหมายที่เคารพสิทธิมนุษยชน”

ภาวะถดถอย "เด็ก-การศึกษา" สู่ระเบิดเวลา lost generation

“ความไว้ใจ” ล่องหน บนประเทศติดเชื้อ: นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ : อ่าน 'โลก' ผ่านไทย/อ่าน 'ไทย' ผ่านโลก