ไม่พบผลการค้นหา
พื้นฐานของ วีระชาติ กิเลนทอง ผู้่อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นนักเศรษฐศาสตร์

ความที่เขาโฟกัสเรื่องการศึกษาและเด็ก โดยเฉพาะช่วง “ปฐมวัย” ในหมวกคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย เมื่อวิกฤตโควิดบวกพิษเศรษฐกิจและสังคม กำลังฉุดรั้งเด็กไทยให้หล่นลงไปในภาวะ lost generation ทัศนะของเขาจึงน่ารับฟังอย่างยิ่ง

คำถามคือทางออกจากหลุมดำนี้อยู่ตรงไหน

“ผมเองในฐานะนักวิจัยที่สนใจเรื่องนี้ เพราะจริงๆ ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่นักการศึกษา แต่ผมให้ความสำคัญ มหาวิทยาลัย คณะของเราให้ความสำคัญมากๆ” –ประโยคนี้ วีระชาติตอบในฐานะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องโดยตรง 

“เราเป็นกังวลว่าเด็กเล็กๆ กำลังถูกกระทบเยอะมาก จากปัญหารอบด้านในสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ โดยที่ลึกๆ แล้วเขาอาจจะไม่รู้ตัว เราเป็นห่วงว่าระยะยาวจะทำให้เขาไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่เท่ากับคนรุ่นอื่นๆ” – แต่ประโยคหลังนี้ วีระชาติ อาจตอบในฐานะคนที่ยอมรับความเป็นจริงข้อหนึ่งว่า

อนาคตสังคมไทยขึ้นอยู่กับอนาคตบุตรหลานของท่านผู้อ่านที่กำลังเผชิญวิกฤตครั้งนี้ร่วมกัน

อ วีระขาติ เด็ก หอการค้า3.jpg

เวลาเราพูดถึงโควิด มันมีปัญหาเต็มไปหมดเลย แต่ว่าปัญหาเด็กเล็กเราไม่ค่อยพูดกัน อาจารย์มองเห็นอะไรบ้างตั้งแต่เริ่มมีโควิดมา

ผมทำงานเรื่องเด็กปฐมวัยมาพอสมควร เมื่อปีที่แล้วเราได้ไปเก็บข้อมูลสำรวจเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยหรือชั้นอนุบาล 3 หมื่นกว่าคน ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทดสอบเด็กว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในจังหวัดที่เคยถูกปิด หรือเป็นหนึ่งใน 28 จังหวัดที่เป็นสีแดงเข้มกับพื้นที่ที่ไม่ใช่สีแดงเข้ม 

แล้วเราก็เอาสองกลุ่มนี้มาลองเทียบกันดู เราพบเลยว่ากลุ่มเด็กที่อยู่ในพื้นที่เคยถูกปิด ทักษะพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เขาพร้อมเข้าเรียนระดับประถมต่างกันจริงๆ เราเรียกว่า learning lost เป็นภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งในเรื่องความรู้ และทักษะอื่นๆ ที่อาจจะไม่ใช่ความรู้ด้วย เช่น ทักษะหนึ่งที่เราวัดเป็นการวัดความจำและการใช้ความจำเรียกว่า working memory 

เราจะมีตัวเลขให้เด็กดู 2-3 ตัว สิบวินาทีแล้วก็จะปิดไว้ หลังจากสิบวินาทีผ่านไปแล้วจะบอกให้เด็กทวนตัวเลขให้เราฟังหน่อย ปรากฏว่าเด็กสองกลุ่มนี้ต่างกันจริงๆ ต่างกันแบบชัดเจนว่าเด็กที่อยู่ในพื้นที่ปิดมีความสามารถในการจำและทวนตัวเลขได้ด้อยกว่า


working memory จำเป็นอย่างไร

ทักษะแบบนี้เป็นทักษะที่สำคัญ มันบอกความสามารถของคน ความสามารถในการจำและนำไปใช้ ทักษะนี้จะเกิดตอนที่ไปโรงเรียนแล้วมีครูกระตุ้นให้คิดให้ทำ มีกิจกรรมชวนคิด ชวนทำ ชวนดูอะไรอย่างนี้ เด็กขาดสิ่งนี้ไปเยอะพอสมควรนะตอนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน

ในทางกลับกัน เรามีความพยายามที่ดีที่จะสอนออนไลน์ แต่ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่า

สำหรับเด็กเล็กมันได้ผลน้อยมาก เราไม่รู้จะบังคับเด็กเล็กอย่างไร และเราก็ไม่ควรบังคับด้วย เด็กเล็กยังอยู่ในวัยที่เหมาะกับการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมกับผู้คน การที่เขาไม่มาโรงเรียนสิ่งเหล่านี้ก็ขาดหายไป เราจะโยนภาระให้ผู้ปกครองทั้งหมดก็ไม่ง่าย สิ่งนี้น่าเป็นห่วงมาก


เราพูดเรื่อง new normal กันเยอะ แต่สำหรับเด็กเล็กมัน new normal ได้ไหม

ผมว่าเรื่องของสุขภาวะ สุขอนามัยคงเป็น new normal ได้ แต่การเรียนรู้ยังยาก สำหรับเด็กเล็ก ผมไม่รู้ว่าเราจะฝืนธรรมชาติการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กได้มากแค่ไหน เรามีงานวิจัยก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมีโควิดด้วยซ้ำว่าการ เอาเด็กไปเรียนรู้ผ่านวิดีโอนั้นได้ผลน้อยมาก 

เพราะฉะนั้น จะ new normal อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียนรู้เท่าที่เราจะมีอย่างน้อยในระยะสั้นไม่ต่ำกว่า 5 ปียังไม่เห็นว่าเราเปลี่ยนอะไรได้มาก ด้วยวิธีที่เรารู้ ด้วยทรัพยากรที่เรามี เรายังคงต้องพึ่งวิธีเดิม หมายความว่าพอสถานการณ์ดีขึ้น เราคงต้องรีบเอาเด็กกลับมาโรงเรียน 


ขนาดเด็กโตก็เจอปัญหาเหมือนกันไหม 

ใช่, ข้อเท็จจริงเราก็เห็นว่าเด็กโตยังมีปัญหามากพอสมควร

แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะได้รับการใส่ใจมากเป็นพิเศษ คือเด็กที่กำลังเปลี่ยนชั้นจาก ป.6 ไป ม.1 จริงๆ อาจจะดูเหมือนไม่ยาก เพราะว่าเขาเด็กโตแล้ว เขาอยู่กับออนไลน์ได้ แต่ปรากฏว่าจากที่ผมติดตามมามันเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ เขากำลังเปลี่ยนโรงเรียน เขากำลังเปลี่ยนเพื่อน เขากำลังจะเป็นวัยรุ่น วัยรุ่นหมายความว่าต้องอยู่กับเพื่อน แล้วการไม่ได้เจอหน้าเพื่อน เป็นเรื่องใหญ่ เรียนออนไลน์มันไม่ใช่แน่นอน

อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือภาระของผู้ปกครอง ในระบบเศรษฐกิจของไทย ผู้หญิงไทยทำงานเยอะมาก ในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าหลายๆ ประเทศ แต่การที่เราปิดโรงเรียนเพราะโควิด มันกระทบกับผู้หญิงเยอะมากๆ 

มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำงานโดยที่มีเด็กเล็กอยู่ที่บ้าน แล้วยิ่งเด็กเล็กต้องเรียนออนไลน์ด้วย นี่ยังไม่พูดถึงคนจนด้วยนะ ที่บ้านมีอยู่ห้องเดียว มีลูกสามคน แต่ละคนอยู่คนละมุม จะเรียนอย่างไร ต่อให้บ้านมีทรัพยากรพร้อมก็ยังไม่ง่าย
อ วีระขาติ เด็ก หอการค้า1.jpg


นี่ไม่ใช่แค่เรื่องทักษะทางการเรียนการสอนแล้ว ? 

มันเป็นเรื่องของสังคมแล้ว ที่เราทั้งหมดต้องตระหนักว่าการที่สามารถนำเด็กมาสู่โรงเรียนคือการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองสามารถกลับไปทำงานได้ สภาพเศรษฐกิจของเขาและประเทศส่วนรวมก็จะดีขึ้น


อาจารย์เคยพูดถึงงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์สำคัญชิ้นนึง ที่ตอบคำถามว่าทำไมสังคมไทยควรลงทุนเพื่ออนาคตของเด็ก โดยเฉพาะที่เรามักชอบอ้างว่าเด็กคืออนาคตของชาติ อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังหน่อย

เป็นงานวิจัยของศาสตราจารย์เจมส์ เฮคแมน จากมหาวิทยาลัยชิคาโก เขาไปตามศึกษาตั้งแต่ผู้ใหญ่แล้วก็ถอยมาเรื่อยๆ จนถึงเด็กเล็ก สิ่งที่เขาพบคือว่าการลงทุนและพยายามทำอะไรที่ดีตอนเด็กเล็ก จะได้ผลตอบแทนดีที่สุดในตอนโตมา 

งานของเขาทำไว้สักประมาณ 50 ปีที่แล้วในสหรัฐฯ ชื่อโครงการ Perry Preschool เป็นโครงการที่ทำที่โรงเรียน Perry โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในเขตยากจน อยู่ในรัฐมิชิแกน เป้าหมายของเขาต้องการแก้ปัญหาอะไรรู้ไหมครับ

ชุมชนย่านนี้เป็นชุมชนคนดำ เด็กวัยรุ่นเรียนมัธยมปลาย เรียนแล้วก็สอบตก ทำอะไรก็ล้มเหลว ผู้ชายติดยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ผู้หญิงท้องก่อนวัยเยอะมาก นักการศึกษาของเมืองเลยคิดกันว่าจะทำอย่างไรดี คำตอบที่ได้จากการวิจัยคือไปเริ่มแก้ที่เด็กเล็ก คนทำมีวิสัยทัศน์มากนะ ตอนนี้ห้าสิบกว่าปีผ่านมาแล้ว เขายังตามไปถามอยู่เลยว่าชีวิตเป็นอย่างไร

กลุ่มตัวอย่างเขามีประมาณ 123 คน สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อมาดูตอนเด็กโตมา อายุสามสิบ สี่สิบ ห้าสิบ สิ่งที่พบชัดเจนมากก็คือ หนึ่ง กลุ่มที่ได้เรียนแบบใหม่และใส่ใจเต็มที่ ใหม่แบบเมื่อห้าสิบปีที่แล้วนะ ได้เงินเดือนสูงกว่า มีงานทำมากกว่า ติดยาเสพติดน้อยกว่า ก่ออาชญากรรมน้อยกว่า และกิจกรรมของเขาก็ทำจริงๆ แค่สองปี ตอนอายุ 3-4 ขวบ เหมือนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเรา มันเหมือนได้วัคซีนที่ดีกว่า ปกป้องตัวเองจากอบายมุขได้มากกว่า เพราะว่ารู้จักดูแลตัวเอง 

แล้วงานอีกชิ้นหนึ่งที่ตามมาที่ผมคิดว่าสำคัญ คือการที่เราใส่ใจเด็กมาก มันได้สองอย่างคู่กัน หนึ่ง มีความรู้ แต่ที่เจมส์ เฮคแมน พูดสม่ำเสมอและมีความสำคัญเท่ากับความเฉลียวฉลาด เขาเรียกรวมๆ ว่า character skill เป็นความมุ่งมั่นที่จะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ self-discipline มีวินัยในตนเอง รู้ว่าตัวเองควรทำอะไรเมื่อไหร่ และ hard work คือพร้อมทำงานหนัก

ที่สำคัญที่เจมส์ เฮคแมน ว่าคือ สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน โดยเฉพาะเด็กกับผู้ใหญ่

อ วีระขาติ เด็ก หอการค้า7.jpg
ถ้าผู้ใหญ่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ส่งเสริมเขาอย่างถูกวิธี รู้ว่าจะคุยกับเขาอย่างไร ใช้ชีวิตกับเขาอย่างไร มันจะเป็นพัฒนาการที่สำคัญ ผลมันจะยั่งยืนยาวนาน ถ้าพูดเป็นผลตอบแทนคือได้ 7 เท่าจากที่ลงทุน นี่คืองานวิจัยชิ้นนี้


จากงานวิจัยของเจมส์ เฮคแมน พอกลับมามองเด็กในสังคมไทย อาจารย์มองเห็นความท้าทายอะไรบ้าง

ภาพใหญ่เราให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในรายละเอียดมันยังวุ่นวายพอสมควร สำหรับผมคิดว่าความท้าทายนอกจากกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม อีกอย่างหนึ่งคือ การอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองไทย ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่รักลูกนะ คนไทยรักลูก คนไทยดูแลเป็นอย่างดี แต่ปัญหาที่เราเห็นก็ไม่ใช่ความผิดของผู้ปกครองเสียทีเดียว ผมว่าอาจจะถึงเวลาที่เราอาจจะต้องปรับตัวจริงจัง นี่เป็นโจทย์สาธารณะ

ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก ถ้าย้อนกลับไปที่ศาสตราจารย์เฮคแมน สิ่งที่เขาสนใจมากๆ ไม่ใช่เรื่องโรงเรียน เขาสนใจว่าผู้ใหญ่จะเล่นกับเด็กอย่างไร มันไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มันมีแนวทางอยู่ เขาเชื่อว่าวิธีสอนดีที่สุดไม่ใช่เอาตำราไปแจก ไม่ใช่ไปนั่งเลคเชอร์ แต่คือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เกิดการซึมซับ ทั้งวิธีการคุย วิธีนำเสนอของเล่น วิธีเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือก ได้คิด ได้ทำ ทั้งหมดนี้เราเห็นว่าค่อนข้างเป็นอุปสรรคในสังคมไทยพอสมควร 

อาจด้วยความรักมาก ห่วงมาก ผู้ปกครองไทยหลายคนก็ไม่ค่อยให้เด็กได้เลือกนัก เพราะกลัวจะเลือกผิด แต่งานวิจัยสมัยใหม่พบว่าการส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสได้เลือกตั้งแต่เล็กๆ ให้เขาเรียนรู้ว่าเขามีสิทธิ์เลือก มีกระบวนการที่ดี เขาจะส่งต่อกระบวนการเหล่านี้ต่อไปในคนรุ่นลูกเขา
อ วีระขาติ เด็ก หอการค้า5.jpg


“การศึกษา” บรรจุไว้แค่ในรัฐธรรมนูญไม่พอ แต่ต้องกระจายอำนาจด้วยไหม ?

จริงๆ ท้องถิ่นสำคัญมาก หวังว่าถ้าได้เลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จเร็วเนี่ย ท้องถิ่นจะลุกขึ้นมาแล้วก็ดูแลกันจริงจัง ประเด็น parenting ที่ผมว่า จำเป็นสำหรับท้องถิ่นมาก 

เรามีโอกาสที่ดีเพราะโครงสร้างของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเราถูกสร้างมาค่อนข้างดี ผมทำมาหกปีที่แล้ว โครงการ RIECE Thailand พยายามไปส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กระดับตำบล สนุกสนานมาก เราเห็นความหวัง แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกที่ เราเจออุปสรรคมากมาย แต่มันยังมีความหวัง

เรากำลังมองอยู่ว่าอยากจะร่วมมือกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะในชุมชนที่ด้อยโอกาส หวังว่ามันจะเกิดผลเช่นเดียวกัน และเราจะตามดูด้วยว่าเด็กพัฒนาไปอย่างไร 


ถ้าสวมแว่นนักเศรษฐศาสตร์ เราจะมองประเด็น parenting อย่างไร

เพราะการศึกษาต้องอาศัยแรงจูงใจเยอะ และท้องถิ่นก็ตอบสนองต่อผู้ปกครองอยู่แล้ว ผมพูดเสมอว่าการศึกษาเนี่ย ท้องถิ่นอาจจะยังดูว่าด้อย แต่ผมเปรียบเทียบง่ายๆ 2-3 ปีที่แล้ว มีข่าวว่ามีครูบางโรงเรียนของส่วนกลางทำร้ายเด็ก ถามว่าเกิดการลงโทษอะไร ก็แค่ย้ายครู 

ถ้าเป็นท้องถิ่น ครูคนนั้นอยู่ไม่ได้นะครับ เพราะว่าชุมชนเขาดูแลกันจริงจัง ผู้ปกครองมีสิทธิ์มีเสียง นี่เป็นสามัญสำนึกที่ทำให้เรารู้สึกว่าท้องถิ่นต้องการกำลังและอำนาจ เพราะแรงจูงใจมันมากจากในระดับที่เล็กที่สุด 

เราเชื่อว่ามันต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ถามว่าระดับนโยบายทำได้ไหม เหมือนที่รู้ว่าปัจจุบันอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่การเปลี่ยนแปลงมันเกิดจากระดับรากหญ้า และผมว่าต้องอาศัยท้องถิ่น การกระจายอำนาจคือหัวใจสำคัญ เราไม่มีทางเลือกอื่น เราต้องกระจายอำนาจ

เพราะฉะนั้น นักเศรษฐศาสตร์อย่างผมหรือศาสตราจารย์เฮคแมนสนใจเรื่องผู้ปกครอง เรารู้ว่ายาก สอนผู้ปกครองสิบคนก็ต้องสอนสิบแบบ แต่ข้อดีของมันมีอยู่หนึ่งอย่าง ผู้ปกครองทุกคนมีแรงจูงใจที่จะทำดีกับลูก มากกว่าคนอื่นทำให้เสมอ นี่เป็นแรงจูงใจที่เราเห็น


เรื่องเด็กเล็กไม่ใช่แค่เรื่องเด็กเล็ก เรื่องการศึกษาก็ไม่ใช่ปัญหาแค่โควิดและผู้ปกครอง อาจารย์มีโจทย์อะไรในใจที่อยากเห็นสังคมไทยตระหนัก

ถ้าเราเชื่อว่าโลกในอนาคตเป็นโลกที่ซับซ้อนขึ้น เทคโนโลยีจะมีความซับซ้อนขึ้น และเราก็คิดซับซ้อนขึ้นด้วย อย่างน้อยเด็กรุ่นใหม่ก็ต้องพร้อมที่จะรับอะไรใหม่ๆ เด็กที่จะไปอยู่ในโลกอนาคต ผมว่าต้องเป็นเด็กที่ได้รับการปลูกฝังว่าชีวิตเขามีสิทธิ์เลือกและเลือกอย่างเข้าใจ สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้สอนโดยการพูดหรือสั่ง แต่มันสอนโดยการกระทำ อบรม ผ่านกระบวนการ 

ถ้าเราทำแบบเดิมด้วยความรัก ด้วยความห่วงใยที่มากเกินไปจนเขาถูกปิดโอกาสที่จะเลือก มันเป็นไปได้ที่ประชากรในอนาคตของเราจะตามโลกไม่ทัน


เงื่อนไขลักษณะแบบครอบครัวไทยมีผลไหม

ปรากฏการณ์ทางสังคมโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่เรามีข้อมูล เราพบว่าเด็กส่วนใหญ่ เด็กปฐมวัย อยู่ในบ้านที่มีผู้ปกครองอื่นแต่พ่อแม่ตัวเองไม่ได้อยู่ด้วยถึงร้อยละ 40 ในแง่หนึ่งก็มีข้อดี แปลว่าสังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีครอบครัวขยาย มีคุณตาคุณยายพร้อมช่วยดูแลหลาน ไม่ใช่เรื่องผิด

แต่ประเด็นคือคุณตาคุณยายจะเข้าใจความซับซ้อนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร และเขาควรจะทำตัวอย่างไรกับเด็ก จะพัฒนาเด็กอย่างไรร่วมกัน ให้เด็กพร้อมใช้ชีวิตในอนาคตที่ซับซ้อนแน่นอน นี่เป็นประเด็น parenting ที่ผมสนใจ 

ถ้าผมเดินเข้าไปดุ่ยๆ แล้วบอกว่าผมเป็นดอกเตอร์นะ ยายเชื่อผม ยายก็จะมองหน้าผม ยายเลี้ยงลูกมาแล้วแปดคน เอ็งเป็นใคร แต่ถ้าเราไปลองเล่นกับเด็กแล้วชวนคุณยายมาเล่นด้วย อาจจะมีโอกาสมากกว่า แล้วข้อมูลดีๆ ทุกวันนี้เยอะมาก มีหมอเก่งๆ มาเขียนเรื่องดีๆ เยอะ มีพ่อแม่ติดตามเป็นแสนๆ 

แต่ผมมักพูดท้าทายเสมอเวลาไปเวทีไหนๆ ว่า ผมอยากจะชวนให้คนที่พยายามทำเรื่องการศึกษาคิดไปอีกหนึ่งสเต็ป เพราะสิ่งที่เรากำลังคิดว่าดีในปัจจุบันนี้มันเหมาะกับชนชั้นกลาง เหมาะกับคนมีการศึกษา แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาย่อย มาปรับเปลี่ยน ให้มันเข้ากับคนที่เขาอยู่ในอีกบริบทหนึ่ง นี่เป็นความท้าทายมากๆ 

อ วีระขาติ เด็ก หอการค้า09.jpg


อาจารย์เห็นแสงสว่างบ้างไหม ทั้งช่วงใกล้ๆ นี้ จนถึงระยะยาว

อย่างแรกคือฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ผู้ปกครองที่หวังดีกับเด็ก เพราะว่าท่านคือเงื่อนไขสำคัญว่าเด็กจะได้ไปโรงเรียนหรือไม่ ต่อให้เรายังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก เราก็ยังมีโอกาสที่จะเปิดโรงเรียนได้ 

สอง เราต้องทำอะไรมากกว่าแค่เปิดเรียนไหม อย่างที่บอกไป ที่ผ่านมาเราพบว่าเด็กเล็กมีภาวะถดถอยทางการเรียน ความรู้มันไม่ได้เต็มที่อย่างที่ควรจะได้ และก่อนหน้านี้เราก็ได้ไม่เยอะหรอก แต่ความจริงถอยไปไกลกว่าที่คิด เพราะฉะนั้นเราต้องหาวิธีเอามันกลับมา 


ควรเริ่มจากอะไรบนเงื่อนไขสถานการณ์โควิดและรากปัญหาการศึกษาไทย

ผมคิดแบบตรงไปตรงมาที่สุด ง่ายที่สุด แทบจะไม่ต้องคิดอะไร ต้องสอนชดเชยครับ ซัมเมอร์เปิดสอนให้เด็ก นั่นคือข้อเสนอของผม เปิดเรียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การตรวจคัดกรองภาครัฐควรจะต้องดูแลให้ดี ทำให้เป็นระบบทั่วประเทศ

ภาษาชาวบ้านคือราวกับว่าไม่มีปิดเทอม หรือจะรียกว่าซัมเมอร์แคมป์ก็ได้ แล้วทำให้มันเหมาะสม ผมเชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำต้องทำงาน ผู้ปกครองจะเบาแรงได้มาก นี่คือระยะสั้น

ระยะกลางและยาว พูดไปทุกคนก็ขำ ต้องยกระดับคุณภาพโรงเรียน วิธีที่จะพาเด็กกลับมาที่ดีที่สุดคือต้องยกระดับคุณภาพโรงเรียนกลับมา ที่เหลือก็เป็นรายละเอียด สำหรับผมอยากเน้นเรื่อง parenting ที่อธิบายไปแล้ว

เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีวิกฤตอะไรเข้ามาอีกในอนาคต ปกติร้อยปีมีครั้งหนึ่งที่เราเจอโรคระบาดขนาดนี้ เพราะฉะนั้นบทเรียนอย่างหนึ่งที่เราเห็น แม้เราจะรู้ว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ได้พร้อมดูแลเด็กตลอดเวลา แต่เราก็ต้องเสริมกำลังให้ผู้ปกครองมีความพร้อมมากกว่านี้ ผมว่าจุดอ่อนที่ผ่านมาคือเราไม่เคยเตรียมความพร้อมด้านนี้เลย


ถ้าจะเรียนชดเชย บรรดาครูอาจจะบอกว่าล้าแล้ว ขอพักหน่อยได้ไหม

ผมคิดว่าทุกคนคงต้องถอยหนึ่งก้าวแล้วถอนหายใจลึกๆ ว่าทุกคนต้องเสียสละร่วมกัน มันไม่มีทางอื่นจริงๆ กระทรวงที่ดูแลก็ต้องไปดูว่าค่าตอบแทนเป็นอย่างไร เพราะว่าทุกคนก็ไม่ได้หยุดมาก่อน 

คนขับแกร็บก็ไม่เคยได้หยุด ถ้าคนขับแกร็บหยุด คนอื่นก็ไม่ได้กินข้าว ผู้นำประเทศก็อาจต้องช่วยกันเชิญชวนกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจและรู้สึกดีกับการที่เขาจะต้องเสียสละ ผมมั่นใจว่าครูทั่วประเทศน่าจะพร้อมเสียสละ อาจจะ 1-2 ปีข้างหน้า

การสอนชดเชย ผมไม่คิดว่าปีเดียวด้วย เพราะเราปิดมาหลายเดือน พูดง่ายๆ ดูจากข้อมูล เด็กเล็กถดถอยไปเกือบ 100% เราปิดหกเดือนเราก็ต้องหาวิธีชดเชยหกเดือน เด็กโตปิดหกเดือนอาจจะต้องชดเชยไป 80% ว่าตามอายุก็ว่าไป นั่นหมายความว่าทุกๆ ปี จากนี้ไป 2-3 ปีข้างหน้า เราอาจจะต้องทำอย่างนี้ไปต่อเนื่อง

เพื่อไม่ให้เด็กกลุ่มนี้เขาโตมาเป็นพวก lost generation คืออยู่ดีๆ เขาก็ดรอปลงไป ความน่ากลัวคือตอนเขาจบออกไปทำงาน เขาจะไม่สามารถแข่งขันกับเจเนอเรชันก่อนหน้าและหลังเขาได้ แต่มันไม่ใช่ความผิดของเขา และก็ไม่ใช่ความผิดของบริษัทหรือคนจ้างงานที่จะตอบสนองในตอนนั้น หน้าที่เราวันนี้คือทำอย่างไรให้เขากลับมาอยู่ในจุดที่เหมาะสมก่อนที่เขาจะออกไปสู่ตลาดแรงงาน
อ วีระขาติ เด็ก หอการค้า15.jpg


แล้วเด็กจะเหนื่อยไปไหม ถ้าระบบการศึกษาแบบเก่าจะสอนชดเชย

ต้องไม่ใช่การเรียนการสอนแบบอัดเข้าไป ไม่ใช่การเร่งให้ทัน แต่เป็นการใช้เวลาให้เหมาะสม ในสถานการณ์แบบนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอัดทุกอย่างๆ เพราะมันไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าจะอัด ผมว่าภาครัฐน่าจะอัดทรัพยากรเข้าไป ทั้งความทุ่มเทและกระบวนการต้องยกระดับ ไม่ใช่ไปกดดันเขาเร็วเกินไป


อะไรบ้างที่อาจารย์กังวลในการสอนชดเชย

ใน 1-2 ปีข้างหน้า ครูที่จะรับเด็กต่อชั้นขึ้นไปต้องทำความเข้าใจด้วยว่าเด็กที่เผชิญโควิดวันนี้เขาจะมาด้วยความพร้อมน้อยกว่ารุ่นอื่นๆ ครูต้องถอยตัวเองลงมารับ เด็กก็จะไม่กดดัน ไม่ใช่ว่าเราเปิดเทอมมาปุ๊บ เด็กจะกลับไปเหมือนเดิมได้ปกติ

อีกอันหนึ่งซึ่งมันคงเกิดโดยธรรมชาติของมัน การที่เด็กได้กลับมาอยู่ในสภาพโรงเรียน ด้วยระยะเวลาที่มากเท่าๆ เดิม ทักษะทางสังคมของเขา การเข้ากับเพื่อน เขาจะค่อยๆ กลับมาสู่จุดเดิมได้ มันไม่ใช่แค่ความรู้ มันเป็นเรื่องสังคม เพราะฉะนั้นสังคมมันต้องการเวลา เรารู้จักเพื่อนคนไหน ถ้ารู้จักมานาน เราก็สนิทสนม เวลาจะเป็นตัวช่วย เราต้องพยายามใช้เวลาให้คุ้มค่า 


อาจารย์เคยพูดถึงปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยอนุบาลไปชั้นประถม สถานการณ์แบบนี้น่ากังวลไหม

ช่วงรอยต่อเปลี่ยนชั้นเรียนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก พอมีโควิดยิ่งหนัก โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างอนุบาลกับประถมหนึ่ง ความคาดหวังเดิมผู้ปปกครองและโรงเรียนมันก็สูงอยู่แล้ว พอมีโควิดมันยิ่งกดดันเด็ก ถ้าเราตั้งมาตรฐานเหมือนเดิมว่าเด็กจะขึ้น ป.1 ต้องเก่งแบบนั้นแบบนี้ มันจะกระโดดไม่ไหวแล้วจะตกกันหมด เหมือนเรากระโดดข้ามกำแพงไม่ได้ เพราะเราล้ามาก 

มีงานวิจัยว่า มนุษย์เราอยากจะเรียนรู้ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง เราต้องมีโอกาสที่จะทำสำเร็จก่อน ถ้าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าฉันจะทำอะไรไม่สำเร็จ คนส่วนใหญ่ก็จะลืมมันไปเลย ไม่ทำดีกว่า แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็บอกอีกว่าคนเราอยากเรียนรู้หรืออยากทำอะไรก็ต่อเมื่อสิ่งที่ทำนั้นมันมีความท้าทายพอ แต่ก่อนมันอาจจะท้าทายประมาณหนึ่ง เด็กอาจจะโอเค แต่ตอนนี้มันความท้าทายสูงขึ้น เด็กหลายคนก็อาจจะรู้สึกว่าทำไปทำไม ฉันทำไม่สำเร็จหรอก มันไม่เกิดความภูมิใจ เราก็ไม่อยากให้เด็กรู้สึกแบบนั้น มนุษย์จริงๆ ทำอะไรชอบมีความภูมิใจเพื่อจะหล่อเลี้ยงจิตใจตัวเอง ถ้าคนเราขาดความภูมิใจผมว่าน่าเป็นห่วง


แปลว่าโรงเรียนต้องไม่ควรตั้งโจทย์ว่าต้องการรับเด็กเก่ง แต่ควรเริ่มจากการเยียวยา ?

แน่นอน โรงเรียนคงอยากได้เด็กเก่งๆ เข้าไป แต่ปัญหาของสังคมคือปัญหาของการที่เราต้องไม่พยายามปล่อยให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่โควิด เราต้องพยายามช่วยคนที่อยู่หางแถวให้ขยับขึ้นมา 

หน้าที่ของรัฐไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องไปสนใจว่าเด็กเก่งๆ จะทำได้แค่ไหน หน้าที่ของรัฐคือวางโครงสร้างให้เอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับทุกคน แล้วพวกเขาไปค้นหาเองได้

โจทย์ตอนนี้คือกลุ่มที่เขาถดถอย จะทำอย่างไรให้ไม่ถดถอยไปมากกว่านี้ และพาเขากลับมา กลุ่มนี้อย่างไรก็ต้องเป็นโฟกัสแรกของรัฐ ประชากรเรามี 70 ล้านคน เราต้องพยายามพัฒนาคนส่วนใหญ่ เพราะ GDP ของประเทศมาจากคนส่วนใหญ่ เราจะพัฒนาประเทศได้ก็เพราะคนส่วนใหญ่มีโอกาสที่เท่าเทียม เราไม่สามารถพัฒนาประเทศได้ด้วยการหยิบขึ้นมาพันคนแล้วทำให้เป็นจีเนียส เราพัฒนาประเทศได้ด้วยการที่ทำให้ทุกคนมีศักยภาพ เราต้องเริ่มจากตรงนี้

อ วีระขาติ เด็ก หอการค้า .jpg


ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ภาครัฐยังไหวไหม สังคมจะมั่นใจว่ารัฐบาลจะกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้อย่างไร

ทำไมเรามีรัฐบาล รัฐบาลคืออะไร รัฐบาลคือคนที่คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นก่อน เมื่อไหร่ที่รัฐบาลไม่มีความเชื่อมั่น ทุกอย่างพังหมด ผมสอนเศรษฐศาสตร์ ชอบที่สุดคือเวลาได้สอน 

ผมว่ามันคงจะไม่ผิดกฎหมายที่ผมบอกว่านี่คือเศษกระดาษ (หยิบธนบัตรออกมาจากกระเป๋าเงิน) นี่คือกระดาษใบหนึ่ง แต่มันมีค่าเพราะอะไร เพราะเราเชื่อว่ามันมีค่า ความเชื่อนั้นมาจากไหน เพราะเราเชื่อว่าภาครัฐบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม 

เงินมีค่าก็เพราะเราเชื่อว่ามันมีค่า ถ้าประเทศไหนเขาไม่เชื่อรัฐ เงินมีค่าไหม ใส่กระสอบไปยังไม่มีค่าเลย ความเชื่อมั่นมันมีค่ามหาศาลมาก รัฐไม่มีอะไรนอกจากความเชื่อมั่น รัฐไม่ได้เป็นคนสร้าง GDP รัฐคือคนใช้เงินของคนอื่นเพื่อคนอื่น 

เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องตระหนักเสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำ ไม่ใช่ไปชี้ว่าบอกให้ใครทำอะไร แต่รัฐมีหน้าที่บอกว่าสิ่งที่ฉันพยายามจะช่วยทุกคนทำ ฉันมีหลักมีการ ฉันมีความน่าเชื่อถือ

แบงก์ชาติทำไมมีศักดิ์ศรี ทำไมเราควรจะเชื่อเงินที่แบงก์ชาติพิมพ์ออกมา เพราะแบงก์ชาติมีนโยบายที่น่าเชื่อมั่นให้สังคมเชื่อว่าคุณจะทำอย่างเป็นระบบ รัฐก็เช่นเดียวกัน แล้วยิ่งผ่านช่วงโควิดมา ผมว่าเราเห็นแล้วว่ามันมีค่าขนาดไหน

ผมพูดเรื่องความคาดหวังมาสักพักแล้ว ฟังแล้วอาจจะดูแย่หน่อย แต่การที่แต่ก่อนเราชื่นชมกับการที่เราไม่มีผู้ติดเชื้อเลย สมัยโควิดระลอกแรก สุดท้ายเสียงชื่นชมนี้มันกลายเป็นความคาดหวังและกลับมาแว้งกัดเราเอง

รัฐทำให้ความคาดหวังของคนไปค้างอยู่กับตัวเลขในอดีตว่าเคยเป็นศูนย์ ทั้งที่จริงๆ มันไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะต้องไปหวัง การจะเปลี่ยนความคิดแค่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐจะต้องกลับมายืนอยู่ในจุดที่ยอมรับความจริงก่อน

กลับมาที่ประเด็นเด็กกับการศึกษา กระทรวงศึกษาฯ ก็เช่นเดียวกัน สื่อสารให้มันชัด ความคาดหวังคืออะไร มันไม่ใช่ว่าเด็กนักเรียนไทยจะไม่มีใครติดโควิดเลย นอกจากเราไม่ทำอะไรเลย ซึ่งไม่มีทางเป็นอย่างนั้น ความคาดหวังตรงนี้สำคัญ ไม่ใช่โย้ไปเย้มา แบบนี้ลำบากกันทุกคน

รัฐไม่ใช่เราๆ ท่านๆ ที่ตื่นมาอยากทำอะไรก็ทำ รัฐจะต้องชัดเจนว่าเดือนข้างหน้าจะทำอะไร หกเดือนข้างหน้าจะทำอะไร หนึ่งปีข้างหน้า สิบปีข้างหน้าจะทำอะไร เพราะการขยับของคุณมันมีความหมายกับคนมากมายมหาศาล

รัฐไม่ควรจะเป็นนักบริหารรายวัน เพราะแนวทางของรัฐมันกำหนดชะตาชีวิตของคน คุณต้องสม่ำเสมอว่าจริงๆ คุณกำลังจะเดินอย่างไร แน่นอนคุณต้องปรับตัวเมื่อมีข้อมูลที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ตื่นเช้ามาทำอย่างนี้ พรุ่งนี้จะทำอย่างอีกอย่าง ประชาชนจะไม่มีทางรู้เลยว่าต่อไปชีวิตจะต้องดำเนินอย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ของภาครัฐสำหรับการเปิดประเทศ
อ วีระขาติ เด็ก หอการค้า0.jpg

ภาพ : วิทวัส มณีจักร

ธิติ มีแต้ม
สื่อมวลชน
27Article
0Video
0Blog