ไม่พบผลการค้นหา
เปิดถ้อยคำหญิงเหล็ก 'อดีต กสม.ยุคเผด็จการ' ผลกระทบจาก ‘ไอโอ-อุ้มหาย’ จากลุกขึ้นมาสู้กับอำนาจรัฐ

วันที่ 12 มีนาคม 2547 'ครอบครัวนีละไพจิตร' ได้รับข่าวร้าย 'สมชาย นีละไพจิตร' ทนายความนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกบังคับสูญหายไปอย่างอุกอาจ ท่ามกลางผู้คนบริเวณปากซอยรามคำแหง 69

แม้ผ่านไปหลายปี กลิ่นอายของการบังคับบุคคลสูญหาย ยังปรากฏในสังคมไทยจากอิทธิพลในเงามืด ที่ปกคลุมหลอกหลอนผู้ไม่ยอมจำนนอยู่เสมอ

หญิงคลุมฮิญาบตามอัตลักษณ์ชาวมุสลิม ‘อังคณา นีละไพจิตร’ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ฉายภาพในมุมมองของ 'เหยื่อ' บนเส้นทางอาชีพและขวากหนามเมื่อครั้งต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม


‘ชะตากรรมใต้อำนาจเถื่อน’

“กรณีทนายสมชาย เรานั่งฟังการพิจารณาคดี มันจะมีตำรวจกลุ่มหนึ่งยืนคุยกันหน้ากองบังคับการปราบปราม แล้วมีตำรวจคนหนึ่งไปถามว่ามายืนทำไม ตำรวจกลุ่มนั้นบอกว่าจะไปอุ้มทนายโจร ตำรวจคนที่ถามก็ไปบอกนาย ปรากฏว่านายก็ไม่ได้ห้าม กรณีแบบนี้ถ้ารู้แล้วไม่ห้าม ก็ต้องรับผิดไปด้วย

“อันนี้มันคือวิธีการที่อุกอาจมาก เวลาที่เราอ่านสำนวนคดีทุกอย่างบันทึกในคำพิพากษา คือมันทำให้เราเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายเลย อาจเป็นเพราะเชื่อว่าเขามีภูมิต้านทานมีภูมิคุ้มกัน ยังไงนายก็ต้องช่วย นายก็ต้องปกป้อง”

เธอเล่าทวนความทรงจำเมื่อเธอต้องเผชิญหน้ากับจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย โดยศาลฎีกายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ในคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวและลักทรัพย์ เมื่อปี 2558 หลังพิเคราะห์ว่า

“หลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำส่งศาลไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันความถูกต้องของพยานหลักฐานที่ส่งศาล”

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร   ได้นำชุดครุยของทนายสมชายมาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมทั้งกล่าวถึงความทรงจำเกี่ยวกับทนายสมชาย.jpg
  • อังคณารำลึกถึงคู่ชีวิต


‘ไม่มีศพ-ไม่มีความผิด’

“เจ้าหน้าที่บางคนก็เชื่อว่าปัญหามันจะหายไปถ้าคนๆหนึ่งถูกทำให้หาย เขายังคงมีความเชื่อแบบนี้ตลอด ดังนั้นมันจึงต้องการความจริงใจจากรัฐ ต้องการเจตจำนงทางการเมืองว่ารัฐจะเอาไงรัฐยังอยากปกป้องเจ้าหน้าที่บางคนที่กระทำผิดไหม หรือรัฐมีเจตจำนงทางการเมืองที่ปกป้องคนทุกคนจากการอุ้มหาย”

โดยอังคณาเห็นว่าการบังคับให้สูญหาย โอกาสที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ผู้ปฏิปักษ์รัฐเท่านั้น แต่ในอนาคตหากวันหนึ่งเมื่อผู้นำสูงสุดหมดอำนาจ อาจเผชิญโชคชะตาที่ไม่ต่างกับเธอ

“ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ถูกอุ้มหาย วันหนึ่งอาจจะถูกบ้างก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้างระบบที่ดีสร้างกฎหมายที่ดี มันจะคุ้มครองคนทุกคนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ”

นับตั้งแต่เหตุการณ์ ‘หะหยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา’ ผู้นำจิตวิญญานแห่งชายแดนใต้หายสาบสูญ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 จวบจนกรณี ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ผู้ลี้ภัยการเมืองไทย เมื่อปี 2563

ถือเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าเหยื่อของอำนาจเถื่อน ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

“กรณีคนหายในประเทศไทย ลองไปดูในรายงานหลายๆฉบับ ตั้งแต่สมัยพรรคคอมมิวนิสต์ สมัยเตียง ศิริขันธ์ ปี 2490 สมัยพฤษภาทมิฬก็หาย ซึ่งทุกวันนี้ญาติพฤษภาทมิฬก็ยังพูดกันอยู่ แต่ว่ามันไม่เคยมีคดีไหนขึ้นไปสู่ศาลแล้วมันไม่มีการบันทึก

“น่าแปลกที่ประเทศไทยไปถามรัฐบาลไทยว่ามีคนหายกี่คน ไม่มีใครรู้รัฐบาลก็ไม่รู้ กระทรวงยุติธรรมก็ไม่รู้ กระทรวงต่างประเทศก็ไม่รู้ แต่ตัวเลขคนหายในประเทศไทย มันไปปรากฏที่คณะทำงานด้านบังคับสูญหายของสหประชาชาติ”


ใบหน้าของเหยื่อ

อดีต กสม.เล่าว่าเมื่อปี 2560 ตัวแทนรัฐบาลไทย ได้เข้าชี้แจงที่ประชุมสหประชาชาติ กรณีบังคับสูญหาย โดยตัวแทนไทยได้ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นอนุกรรมการนำทีมเสาะหา

ทนายสมชาย

ทว่าสิ่งที่เธอได้รับฟังมาจากญาติผู้สูญหาย แทนที่จะมีการติดตามค้นหา เจ้าหน้าที่กลับเดินทางไปตามทะเบียนราษฎร์ และขอให้ญาติถอนรายชื่อจากสหประชาชาติ โดยให้เหตุผลว่าร้องเรียนไปก็ไม่เป็นผล

“ถามว่าเมืองไทยมีคนหายไหม ก็ยังมีหน้าตาของเหยื่อ หน้าตาของครอบครัว คือคุณปิดบังความจริงไม่ได้หรอก รัฐอาจจะใช้อำนาจเพื่อทำให้คนกลัวและไม่กล้าที่จะพูด แต่สุดท้ายรัฐก็ปิดบังความจริงไม่ได้”

“หลังจากมีการหายตัวไปของผู้ลี้ภัยทางการเมือง กรณีสุรชัย แซ่ด่าน มาถึงกรณีวันเฉลิม ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจปัญหาบังคับสูญหายมากขึ้น แล้วเรื่องแบบนี้ก็กลายเป็นสาธารณะ ไม่มีใครจะปิดความจริงได้อีกแล้ว”


‘นักปกป้องสิทธิ ผู้ถูกละเมิดสิทธิ’

อังคณา นีละไพจิตร ถือเป็นหนึ่งบุคคลที่ถูกคุกคามจากปฏิบัติการไอโอ (Information Operation) สร้างข้อมูลข่าวสารบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการใช้เพศสภาพเป็นเครื่องมือการเมือง นับตั้งแต่การออกมาเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน

"ที่มีข่าวว่าเอ็นจีโอรับเงินเอ็นอีดี รับเงินยิว ตัวเราไม่เคยรับเงินเอ็นอีดีเลย ไม่ได้รับทุนต่างประเทศมาด้วยซ้ำตั้งหลายปีแล้วไม่เคยรับเลย สุณัยเองเขาก็ไม่เคยรับแต่กลายเป็นว่ามันเผยแพร่ไปเยอะมาก"

โดยมีหลายคนบอกเธอว่าทำไมไม่ออกมาพูดถ้าไม่ได้ทำ แต่อังคณามองว่าสังคมควรจะตรวจสอบมากกว่าที่จะให้เธอออกมาพูด เพราะเหยื่อต่อให้ออกมาพูดเท่าไหร่มันก็ไม่มีใครฟัง

ด้วยเหตุนี้สิ่งที่อังคณาปรารถนาให้เกิดขึ้น คือการตรวจสอบอย่างแข็งขันโดยภาครัฐ และหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพราะไม่ใช่แค่เธอเท่านั้นที่ถูกคุกคาม แต่นักกิจกรรมการเมืองหญิงหลายคนก็ถูกกระทำเช่นเดียวกัน

“ถามว่าคุณพุทธิพงษ์เดือดร้อนไหม รัฐมนตรีไม่เคยเดือดร้อนเวลาเราถูกไอโอ แจ้งความเท่าไหร่ไม่เคยถามสักคำ ถ้าถามความรู้สึกส่วนตัว เราก็จะบอกว่าการนิ่งเฉยของรัฐ มันก็คือการส่งเสริมให้มีการใช้วิธีนอกระบบ หรือวิธีการคุกคามคนที่ทำงานสิทธิมนุษยชนต่อไป”


‘กสม.ใต้อุ้งเผด็จการ’

หลังการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มันสวนทางกับระบบปกครองแบบเผด็จการ อังคณาตัดสินใจถอดหมวก กสม. หลังทำหน้าที่ในวาระที่ 3 เมื่อรู้สึกว่าสิ่งที่ยึดมั่นถูกปิดกั้นจากอำนาจ

"เมื่อไหร่เราพูดความจริงไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ก็ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร คือรับเงินเดือนแล้วรับเงินตอบแทนแล้วยังไง เราไม่ได้มีชีวิตอยู่ได้เพราะด้วยเงิน อันนี้คือศักดิ์ศรีของเรา"

เธอบอกว่าหลักการสำคัญของ กสม.คือการทำงานอย่างกล้าหาญไม่เกรงกลัวอิทธิพล แต่ว่าถ้า กสม.ล่าช้าไม่ทันการณ์มันไม่มีประโยชน์ พร้อมยกกรณีสลายการชุมนุมราษฎร วันที่ 17 พฤศจิกายน ที่มีการฉีดแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำผสมสารเคมี บริเวณหน้ารัฐสภา

อังคณาได้เอ่ยถาม กสม.ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ว่าออกแถลงการณ์ด่วนได้หรือไม่ เพราะเหตุการณ์เริิ่มทวีความรุนแรง แต่กลับไม่ได้คำตอบเธอจึงปรึกษาอดีต กสม. ก่อนออกแถลงการณ์ในนามผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

"ในเอเชียมีสถาบันสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่อง ฟิลิปปินส์เขาวิจารณ์ประธานาธิบดีเขาไปตรงๆเลย กรณีช่วงสงครามยาเสพติด แล้วเขาก็ไม่กลัวถูกตัดงบเหลือหนึ่งดอลลาร์ แต่สภาเขาถ่วงดุลกับรัฐบาลได้ สภาอนุมัติงบประมาณให้สถาบันสิทธิฟิลิปปินส์ แต่กรรมการสิทธิไทยจุดยืนอยู่ตรงไหน ตรงนี้มันเป็นข้อท้าทายมากว่ามีแล้วไม่มีประโยชน์ก็อย่ามีไปเลย"

87458623_10158899112153268_6923563387972485120_n.jpg

อ่านเพิ่มเติม








พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog