ไม่พบผลการค้นหา
สัมภาษณ์ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีต กรรมการ ป.ป.ช. ต่อการไม่ให้ประกันตัวเหล่าราษฎร คดี 112 และการเตือนสติผู้คนในแวดวงตุลาการต่อวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้น

ในวันที่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกรณีไม่ให้ประกันตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและเยาวชนในคดี 112 เราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าคนในแวดวงคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ และมองสถานการณ์ทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่ ‘พังฝ้าพังเพดาน’ กันอย่างไร  ‘วอยซ์’ จึงพูดคุยกับอดีตผู้พิพากษาอาวุโสแทน เพื่อเป็นภาพสะท้อนความคิด รวมถึงแสวงหาข้อชี้แนะที่อาจมีต่อผู้คนในแวดวงยุติธรรม  - สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อาจารย์สมลักษณ์นับเป็นผู้พิพากษาหญิงคนแรกๆ ของประเทศไทย ทำงานตั้งแต่ในยุคที่ผู้หญิงยังไม่สามารถเป็นผู้พิพากษาศาลอาญาได้จึงต้องไปประจำอยู่ศาลเยาวชน จากนั้นเติบโตตามสายอาชีพตามลำดับปกติจนกระทั่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และเมื่อพ้นจากตำแหน่งก็เป็นคณะกรรมการป.ป.ช.ที่แต่งตั้งโดย คมช. อย่างไรก็ตาม แม้แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แต่เธอยืนยันว่าทำงานตามหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยยกตัวอย่างการเป็นกรรมการเสียงข้างน้อยอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม คดีที่สำคัญที่สรุปสำนวนไม่ชี้มูลความผิดผู้มีอำนาจ เช่น การสลายม็อบ 7 ต.ค.51 และการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร ฯลฯ

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อาจารย์สมลักษณ์ยังเป็นคนในแวดวงตุลาการที่ให้สัมภาษณ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2560 องค์กรอิสระ หรือแม้กระทั่งแวดวงตุลาการอยู่เสมอ มาถึงวันนี้ซึ่งประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองแหลมคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เธอยังคงให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่างผู้ที่รักทั้งสถาบันตุลาการและสถาบันกษัตริย์ แต่ที่พิเศษกว่าคนรุ่นเดียวกันเห็นจะเป็นความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและเด็กรุ่นใหม่ อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะเธออยู่กับคนรุ่นใหม่มายาวนาน เป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับการชอบอ่าน ชอบฟังสิ่งต่างๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง

“36 ปีที่อาจารย์เป็นผู้พิพากษา ไม่เคยเป็นเจ้าของคดี 112 ไม่มีการกล่าวหากันเรื่องคดี 112 นานๆ จะมี นี่เป็นเรื่องภาวะที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองจริงๆ แล้วมีคนที่ดึงเอามาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสว่าท่านเดือดร้อน พระมหากษัตริย์เดือดร้อน เพราะต่างประเทศเขาถาม ทำไมเหรอ เพราะเขาพูดได้ วิจารณ์ได้ แต่ของเราติดคุก ติดคุกนานด้วย ท่านเคยเตือน เตือนคุณทักษิณตอนนั้น แต่แน่นอน คำสอนอันนี้ใช้ได้กับนายกฯ ทุกคน”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เด็กๆ ลุกขึ้นมาประท้วง มีการแจ้งข้อกล่าวหา 112 ไม่ให้ประกันตัว ทำให้เกิดคำวิพากวิจารณ์ศาลอย่างมาก อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร และมีคำแนะนำอย่างไรต่อแวดวงตุลาการ ?

ขอเรียนไว้อย่างนี้ว่าที่อาจารย์จะพูดทั้งหมดนี้ไม่ได้มีความเกลียดชังอะไรกับสถาบันตุลาการ โดยเฉพาะศาลยุติธรรม อาจารย์เป็นผู้พิพากษาอยู่ในสายยุติธรรมทั้งหมด 36 ปี มีความแนบแน่นกับทั้งตัวบุคคล ทั้งระเบียบปฏิบัติ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความรักใคร่ ความห่วงใย

พอมีปรากฏการณ์ไม่ให้ประกันตัวคดี 112 อาจารย์ก็โทรไปคุยกับผู้พิพากษาผู้ใหญ่หลายคนซึ่งเป็นลูกศิษย์ ถามว่าในการที่ศาลไม่ให้ประกันตัวแกนนำเด็กๆ มีการพูดกันเป็นการภายในไหมว่ามันเนื่องจากอะไร เขาก็บอกว่า เขาห่างออกมาและไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร แต่เท่าที่ทราบไม่มีการพูดอะไร

แน่นอนว่า คดี 112 ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ศาลดูอย่างเคร่งครัดและมีที่ไม่ให้ประกันตัว พอวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดก็จะลงโทษหนัก ไม่รู้มันอยู่ในจิตใจของผู้พิพากษา มันเป็นอย่างนั้น อาจเป็นเพราะว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะตามรัฐธรรมนูญ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ฟังได้อย่างนั้น

แต่นั่นเป็นเหตุการณ์สมัยโน้น มันเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องว่ากันตามนั้น ความคิดดั้งเดิม แต่ผู้พิพากษาสมัยนี้ต้องเปลี่ยนความคิด เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองมันไม่เหมือนเดิม มันมีการแตกแยกกัน และหลายกลุ่มก็มีการใช้มาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือในการทำให้อีกฝ่ายเป็นคนไม่ดี พูดว่าตัวเองหรือพวกของตัวมีความจงรักภักดีเหลือเกิน สุดชีวิต สุดจิตใจ แล้วไปว่าอีกฝ่ายว่าจะล้มล้าง โดยไม่ฟังเหตุฟังผลว่าที่เขาพูดเขาพูดอย่างไร

การที่เขาพูดเพื่อปฏิรูป หมายความว่า เรามีพ่อมีแม่ สมมติพ่อแม่เราไปเสพยา เรามีความทุกข์ เราไม่อยากให้ใครมาว่ากล่าวพ่อแม่เรา เราจะทำอย่างไร ไม่ใช่โกรธคนที่เขามาว่า เราต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรที่จะเตือนพ่อแม่เรา เตือนด้วยความเคารพว่าให้มีการเปลี่ยนแปลง นี่ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีใครมากล่าวหา เราอย่าไปโกรธคนที่มากล่าวหา แต่เราต้องมาดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันของเรา และต้องมาช่วยกันผดุง การธำรงรักษาไม่ใช่การล้มล้าง การล้มล้างคือ ไม่ได้ทำอะไรให้มันดีขึ้นเลย แต่ว่ากล่าวอย่างเดียว เหยียบย่ำอย่างเดียว อันนั้นไม่ได้

อาจารย์ฟังอย่างน้องมายด์ เหมือนกับว่าเขาตั้งข้อสังเกตบางสิ่งบางอย่างซึ่งมีข้อเท็จจริงอย่างที่เขาว่าด้วย และนี่เป็นความเห็นของเขาว่าควรทำอย่างนั้นสิ อย่างนี้สิ อันนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการล้มล้าง น่าจะมาคุยกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันจริงไหมที่ต่างประเทศเขาว่ากล่าวสถาบันเราเพื่อการที่เราจะแก้ไข เช่น อาจจะต้องออกแถลงการณ์ว่ามันเป็นอย่างไร หรืออาจมีการร่างกฎหมายให้สถาบันอยู่ในที่สูงไม่มายุ่งการเมือง ไม่มายุ่งกับบุคคลคณะใดคณะหนึ่งทั้งสิ้น ให้เป็นที่เคารพจริงๆ อันนี้เราทำการเพื่อธำรงรักษาไม่ใช่การล้มล้าง

ภัสสราวารี ธนกิจวิบูลย์ผล มายด์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ฉะนั้นเมื่อบ้านเมืองมันเป็นลักษณะอย่างนี้ ศาลก็ต้องปรับความคิด ไม่ใช่เอาความคิดเดิมมา ต้องปรับ ต้องปรับให้ดี เหตุการณ์บ้านเมืองมันไม่เหมือนเดิม ท่านจะคิดแบบเดิมไม่ได้ ท่านต้องเปลี่ยน ก่อนที่จะไม่ให้ประกันเขา ก่อนที่จะไปลงโทษเขาหนัก ต้องคิดให้ดี เพราะการทำงานศาลต้องอยู่บนความศรัทธาของประชาชน เมื่อไรที่เกิดวิกฤตศรัทธาในศาล ในสถาบันศาล ผู้พิพากษาทำงานยาก หรือทำงานแทบไม่ได้เลย

อาจารย์อยากจะเตือนว่า ท่านอย่าเพิ่งไปโกรธสังคม ท่านคิดก่อนว่า ทำไมสมัยก่อนเราจึงเป็นที่เคารพอย่างจริงใจของสังคม แต่ตอนนี้ทำไมมันเปลี่ยนไปอย่างนี้ ท่านกลับมาดูท่าน กลับมาดูผู้พิพากษา ความประเพฤติปฏิบัติตนของผู้พิพากษามันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปไหม มันมีสถาบันอื่น เช่น ฝ่ายการเมือง นิติบัญญัติ อะไรแบบนี้เข้ามาเกี่ยวข้องบ้างไหม แล้วท่านแก้ไขตัวท่านเองก่อน เพราะการแก้ไขตัวเองทำง่าย ความนับถือ ความศรัทธามันอยู่ในหัวใจคน ไปบอก บังคับเขาไม่ได้ 

กรณีไม่ให้ประกันตัว เหตุผลที่ศาลให้ อาจารย์มองอย่างไร ?

ในแง่ของกฎหมายเราจะมี นอกจากรัฐธรรมนูญที่บอกว่าถ้ายังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดต้องถือว่าผู้นั้นยังบริสุทธิ์ จะกระทำกับเขาอย่างนักโทษนั้นไม่ได้ หลักใหญ่เลยที่ทำไม่ได้ จะทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติ แล้วกฎหมายอะไรบัญญัติในเรื่องการประกันตัวก็คือ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 กับ มาตรา 108/1

ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ

1)     ความหนักเบาแห่งข้อหา

2)     พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด

3)     พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

4)     เชื่อถือผู้ร้องขอหลักประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

5)     ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

6)     ภัยอันตรายที่ได้รับหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด

7)     ในกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์หรือผู้เสียหายแล้วแต่กรณี ศาลรับประกอบการพิจารณาได้

ทีนี้เรื่องการปล่อยชั่วคราว โดยหลักคือทุกเรื่องต้องให้ประกัน ส่วนเหตุผลการสั่งไม่ให้ คือ

1)     ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

2)     ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

3)     ผู้ต้องหารหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

4)     ผู้ร้องขอหลักประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

5)     การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

เราลองพิจารณา จำเลยจะหลบหนีไหม จะหลบหนีไปไหน เด็กนี่มีเงินจะไปอยู่ต่างประเทศไหม อย่างคุณทักษิณเขามีทางที่จะไป นี่ไปไม่ได้อยู่แล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ยุ่งได้เหรออยู่ที่ตำรวจ ไม่ได้อยู่แล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุหรืออันตรายประการอื่น มีไหม อาจารย์นึกไม่ออกนะว่าเด็กแกนนำพวกนี้จะไปก่อเหตุอันตรายอะไรอื่น ผู้ร้องขอหลักประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ มันก็ไม่มีเหตุอะไรที่ไม่น่าเชื่อถือ บางทีก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยไปประกัน การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรค เป็นอุปสรรคอะไรจะไปฆ่าพยานเหรอ มันก็ทำไม่ได้ เมื่อมันไม่เหตุตามมาตรา 108/1 อย่างที่อาจารย์ว่า มันไม่เหตุเลยที่ศาลจะอ้างไม่ให้ประกัน

ทีนี้ที่เขาอ้างอาจารย์ก็ไม่เห็นคำสั่ง แต่ที่ออกสื่อทั้งหลายคือ จะไปทำผิดอีก เขายังไม่ได้ทำผิดนะ ท่านรู้แล้วเหรอว่าเขาทำผิด ท่านยังไม่ได้สืบพยานเลย แล้วไปว่าเขาทำผิดอีก ในเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาเด็ดขาด รัฐธรรมนูญบอกแล้วว่าจะไปสันนิษฐานว่าเขาทำผิดไม่ได้ แล้วจะไปปฏิบัติกับเขาเหมือนผู้กระทำความผิดก็ไม่ได้ด้วย ฉะนั้น ต้องระมัดระวังในการจะสั่งอะไรออกไป แต่ถ้าจะให้ประกันโดยมีเงื่อนไขทำได้ วางเงื่อนไขเลยว่าให้ทำยังไงๆ อันนี้มีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อาจารย์ก็จะเตือนศาลนิดหนึ่งด้วยความหวังดีจริงๆ ถ้าท่านจะไม่ให้แกนนำประกันตัว ท่านต้องหาเหตุผลตามมาตรา 108/1 ให้ได้ก่อน ท่านสั่งอย่างนี้ไม่ได้ มันจะเกิดวิกฤตศรัทธา อาจารย์ไม่ได้พูดลอยๆ เพราะมันมีเหตุการณ์แล้วที่เด็กไปยืนหน้าศาล พ่อแม่ของเด็กเขาไปยืน ขอให้ปล่อย

เพนกวิน อานนท์ ศาลอาญา.jpg


ถ้าอาจารย์ยังนั่งเป็นผู้พิพากษา แล้วต้องพิจารณาประกันเด็กๆ ท่ามกลางการกดดันอีกฝ่ายที่ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ท่ามกลางรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อาจารย์ต้องประเมินอะไรบ้าง หรือสามารถทำตามประมวลกฎหมายอาญาเป๊ะๆ ได้เลย?

ตอนอาจารย์เป็นกรรมการ ปปช. ในคดี 7 ตุลา ที่คุณสมชายเป็นนายกฯ บิ๊กจิ๋วเป็นรองนายกฯ ท่านพัชรวาทเป็นผบ.ตร. อาจารย์ไม่ได้ไปทับถมกรรมการปปช.อีก 8 ท่านนะ แต่จะพูดย้ำให้ฟังว่า อาจารย์เป็นคนเดียวที่มีความเห็นแย้ง โดยอาจารย์เห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดไม่มีความผิด อาจารย์ทำงานจะดูกฎหมาย ดูเหตุดูผล ดูข้อเท็จจริง แล้วก็เขียนความเห็นแย้งอธิบายละเอียด มีหลายคนถามว่า อาจารย์สมลักษณ์ทำไปได้ยังไง 8 คนเขาเห็นอย่างหนึ่ง แล้วตอนนั้นเสื้อเหลืองแรงมาก สังคมแรงมาก น้องโบว์เสียชีวิต เขากำลังจะเอาคุณสมชายออกให้ได้ แต่เราดูแต่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เราไม่ไปดูตัวบุคคล แล้วเราก็ไม่ได้รู้จักใครฝั่งนั้นด้วย

มีคอลัมน์หนึ่งในมติชน พูดว่าเป็นกรรมการปปช.ที่พูดถึง "เจตนาพิเศษ" ว่าบุคคลเหล่านี้ที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด ทั้งนายกฯ รองนายกฯ ผบ.ตร. ไม่ได้มีเจตนาพิเศษจะไปทำร้าย ที่เกิดการตายกันอะไรกันนี้ ถือว่าเขาไม่ผิดตามมาตรา 157 มันต้องมีเจตนาพิเศษที่ทำให้เกิดความเสียหาย

อาจารย์ทำตามอำนาจหน้าที่ อาจารย์มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ อาจารย์ก็ทำตามหน้าที่ แล้วหน้าที่ของอาจารย์ก็ใช้กฎหมายเป็นหลักในการวินิจฉัย และไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสังคมที่อาจไม่ตรงกับหลักกฎหมาย ว่าตามกฎหมาย ขณะนี้สังคมอาจจะโกรธอาจารย์ แต่ต่อไปเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติเขาจะเข้าใจ แล้วเขาจะเห็นว่าเราทำหน้าที่ของเราไปโดยบริสุทธิ์ด้วยซ้ำ ปราศจากอคติ และอคติมีนิดหนึ่ง ภยาคติ คือ ลำเอียงด้วยความกลัว เราอย่าไปกลัว แล้วอาจารย์ก็ยังอยู่ ไม่มีอะไร ไม่มีใครมาขู่เข็ญอะไร

อาจารย์อยากจะบอกท่านผู้พิพากษาปัจจุบันนี้ ท่านอย่าไปเกรงอะไร ถ้าท่านทำถูก มีเหตุมีผลทางกฎหมาย มีข้อเท็จจริงที่เราจะอ้างได้ เราตอบสังคมได้ ท่านทำไปเถอะ อย่าไปกลัวว่า ถ้าท่านไปทำตามผู้มีอำนาจ อำนาจมันไม่อยู่กับใครตลอดไป มันมีวันต้องหมดไป ถ้าท่านทำตามกฎหมาย ทำตามความถูกต้อง ท่านจะอยู่ได้ในสังคม ประชาชนเขาจะเป็นกำแพงให้ท่านอิงอยู่ แต่ถ้าท่านไปอิงผู้มีอำนาจล่ะก็ ถ้าผู้มีอำนาจเขาหลุดไปเมื่อไร ท่านก็ไป

ผู้พิพากษาก็โตมากับตำราเล่มเดียวกัน หล่อหลอมความคิดมาเหมือนคนในสังคมเหมือนกัน ถ้าสถาบันตุลาการต้องปรับตัว ลำพังสถาบันตุลาการเองเพียงพอไหมหรือต้องยกเครื่องอะไรใหม่ มีกระบวนไหนที่จะเป็นไปได้

ถ้าจะให้ดีที่สุดคือ ระบอบประชาธิปไตยของเรามี บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ถ้าทั้งสามอำนาจได้มาตกลงกันแล้วปรับเหมือนกัน จะไปได้สวย แต่ในฐานะที่เราไม่สามารถพูดให้นิติบัญญัติกับบริหารเขาทำอะไรได้ อาจารย์ก็ได้แต่พูดเตือนทางฝ่ายตุลาการ ฝ่ายตุลาการทำก่อนเถอะ

มีวันหนึ่งอาจารย์ตื้นตันใจ มีเด็กคนหนึ่งลูกศิษย์ รู้สึกตอนนี้เขาเป็นเลขาธิการ ปปช.จังหวัดอะไรไม่รู้ เขาถามว่าอาจารย์ยังสุขภาพดีไหม อาจารย์บอกสุขภาพกายยังปกติ แต่สุขภาพใจกังวลเรื่องบ้านเมือง เป็นห่วงโดยเฉพาะในสายของกระบวนการยุติธรรม เขาเขียนมาพออ่านนี่ อาจารย์จะร้องไห้ เขาทำให้เรามีความรู้สึกดี

เขาเขียนมาว่า ศิษย์ขอกราบคารวะในอุดมการณ์และหัวใจที่ยึดมั่นในความยุติธรรมของอาจารย์เป็นที่สุดเลยครับ กระผมจะยึดมั่นและยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ไปจนเกษียณอายุราชการ

ไม่เสียแรงไหมที่เราเหน็ดเหนื่อยสอนเขา เพราะเวลาอาจารย์สอนหนังสืออาจารย์ไม่ได้สอนเฉพาะกฎหมาย การที่ลูกศิษย์อาจารย์ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 อันดับ 2 อาจารย์ดีใจด้วย หรือไปเรียนปริญญาโทปริญญเอกในต่างประเทศดีใจด้วย แต่จะดีใจที่สุดเมื่อลูกศิษย์ของอาจารย์เป็นนักกฎหมายที่ดี ที่มีอุดมการณ์ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม เพราะนักกฎหมาย โอกาสที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมมีมาก ถ้าเขาไม่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของนักกฎหมายที่ดี

อาจารย์ไม่กลัวโดนกล่าวหาเป็น ‘พวกล้มเจ้า’?

คุณตาอาจารย์เคยเป็นพระอาจารย์ของเจ้าฟ้าพิษณุโลกประชานาถ ลูกของรัชกาลที่ 5 ชีวิตอาจารย์พัวพันกับในวังตลอด คุณปู่ของอาจารย์เป็นหมอเป็นแพทย์แผนโบราณ มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวโรสถประสิทธิ์ ได้พระราชทานนามสกุล นัยนะแพทย์ เพราะคุณปู่เก่งมากทางรักษาตา ความแนบแน่นกับสถาบันนั้นมีมาก ดูได้จากตระกูล และอาจารย์ให้ความเคารพมาตลอด อาจารย์เคยถวายการสอนพระองค์ภาตอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ มันไม่มีหรอกที่อาจารย์จะไปหวังร้ายกับสถาบัน ไม่มีเลย แต่อาจารย์พิจารณาความคิดความอ่านด้วยหัวใจที่เป็นกลางจริงๆ เพราะอาจารย์ไม่ได้เป็นพวกใคร ไม่ได้เป็นพวกเสื้อเหลือง พวกเสื้อแดง

อาจารย์รู้สึกว่าเด็กๆ ยุคนี้ก้าวร้าว ไม่เคารพผู้ใหญ่ไหม

อย่างมายด์ อาจารย์ไม่รู้สึกว่าก้าวร้าว เขาพูดความเห็นของเขา และมันมีข้อเท็จจริงอะไรไหม มันมีข้อเท็จจริงที่เยอรมันที่ส.ส.เอาไปพูดเรื่องสถาบันเรา เราต้องมาดูเหมือนกันว่ามันเป็นยังไง มันจริงไม่จริง ที่มายด์พูด ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัติย์กลายเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มันก็จริงเหมือนกัน

อาจารย์มีความคิดอยู่อย่าง ถ้าอาจารย์เป็นนายกฯ นะ อาจารย์จะเชิญพวกแกนนำมาเลยมา คุยกันเลย มาทุกคนเลยมาคุยกัน อะไรที่ทำได้ ฟังด้วยเหตุผลแล้วทำได้ ไม่ว่าการแก้กฎหมาย การปฏิรูปอะไรเนี่ยทำให้ อะไรที่ทำไม่ได้จะบอกเขาเลยว่าทำไมทำไม่ได้ เหตุผลคืออะไร ทำไมไปปล่อยให้เขาเดินตามถนน ไม่รู้นะคิดอย่างนี้จะถูกหรือเปล่า เรียกมาเลยมาพูดกันให้หมดสิ้นข้อกังขา ไม่ใช่ว่ากันไปว่ากันมา

ปลายปีได้ยินคำว่า Thailand is the land of compromise มันเป็นไปได้ไหมที่นอกจากสถาบันตุลาการจะกลับมาอยู่ในหลัก แต่ในเชิงวัฒนธรรมสังคมมันจะเกิดขึ้นตามประโยคของพระองค์ท่าน

อาจารย์ว่าทำได้ ผู้ใหญ่อย่าไปวางหลักว่า ฉันจะต้องเอา มาถึงบ้านฉันต้องมากราบฉันก่อน อาจารย์มีหลานผู้ชายสองคน มาไหว้มั่งไม่ไหว้มั่ง บางทีมันก็ว่าเรานะ เราไม่เก่งเทคโนโลยี หนูมาทำให้คุณยายหน่อยลูก มาทำเสร็จมันก็ว่าเรานะ แหม คุณยายนี่ไม่รู้เรื่องเลย ถ้าเป็นผู้ใหญ่หัวเก่าเขาโกรธแล้วนะ หรือเพื่อนหลานถาม ทำไมคุณยายตัวเล็กจัง ก็ตอบว่าคุณยายตอนเกิดไม่มีนมกิน ขาเลยไม่ค่อยยาว คุณยายเป็นคนโบราณไงลูกตัวเลยเล็ก เราต้องพยายามปรับตัว อย่าไปยึดมั่นว่า เด็กมันไม่เคารพ อย่าไปคิดว่าเด็กมันร้ายกับเรา สมัยอาจารย์ เราเห็นผู้ใหญ่ต้องหลีกให้ไปก่อน นี่เขาไม่หลีก เขาถือว่าทุกคนเท่ากัน ก็ต้องคิดว่าสมัยใหม่มันเป็นแบบนี้แหละ ไม่งั้นอาจารย์จะสอนเด็กได้เหรอ

คุณค่าของโลกสมัยใหม่ เช่น เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน อยู่ในระบบวิธีคิดของศาลบ้างไหม

อาจารย์ออกมาจากสถาบันศาลยุติธรรมสิบปีแล้วนะ แต่ตอนสมัยอาจารย์อยู่ เช่น ระบบของการแต่งตั้งผู้พิพากษา เขาถือหนักแน่นเรื่องระบบอาวุโส เขาไม่ข้ามระบบอาวุโสกันเด็ดขาด ซึ่งมันเหมาะกับอาจารย์เพราะอาจารย์ไม่ค่อยหาเจ้านาย ทำงานไป พอถึงเวลามันไม่มีใครข้ามเราได้ เขายังยึดมั่นระบบเดิม ระบบอาวุโส แต่งานผู้พิพากษามันอาจเป็นงานที่ทุกคนมีความรู้เท่าๆ กันอยู่แล้ว

ในเรื่องระบอบประชาธิปไตยมีการพูดไหมในวงการศาล ก็ไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไหร่ มีแต่พูดกันเรื่องการปฏิบัติตัว การวางตัวของผู้พิพากษา ถ้าจะเห็นว่าคนไหนดูสมัยใหม่ เขาจะแสวงหาด้วยตัวเขาเอง

อาจารย์เคยเขียนบทความเตือน คุณรู้ใช่ไหมว่า หลังจากมีปฏิวัติรัฐประหาร ตามกฎหมายมันคือกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่คณะปฏิวัติไม่ติดคุกกันมาตลอด อาจารย์จุฬาฯ คนหนึ่ง ชื่ออะไรจำไม่ได้ บอกศาลนี่ล่ะคือตัวการที่สนับสนุนให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะศาลมีแนวบรรทัดฐานตั้งแต่ปี 2496 จนกระทั่งมาถึงปี 2561 2562 ว่า เมื่อกระทำการปฏิวัติรัฐประหารประสบผลสำเร็จ คำสั่งของหัวหน้าปฏิวัติรัฐประหารนั้นถือเป็นกฎหมาย แนวบรรทัดฐานคือถือเลยว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะมีผู้พิพากษาท่านหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ชื่อท่านกีรติ กาญจนรินทร์ ท่านเขียนดีมาก อาจารย์ยังจำได้ บอกว่า ศาลไม่ได้หมุนความคิดไปตามระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้มีความรู้ในการจะรักษาระบอบประชาธิปไตย ศาลไปรับรองคนที่กระทำความผิด ไม่นับถือในความยุติธรรมตามธรรมชาติ โดยให้ผู้กระทำความผิดได้รับผลดีมาบริหารประเทศ

อาจารย์เขียนบทความเลยว่า ควรเปลี่ยนแนวบรรทัดฐานเสียที เพราะโลกเขาเปลี่ยนแล้ว แนวบรรทัดฐานศาลฎีกาเป็นสิ่งที่นักกฎหมายหรือผู้พิพากษาเขายึดถือกัน แต่เมื่อบ้านเมืองมันเปลี่ยน สภาวะมันเปลี่ยน ท่านเปลี่ยนสักทีสิ นักข่าวเขาถามอาจารย์ว่าถ้าปฏิวัติสำเร็จแล้วลงโทษแล้วจะเอาใครมาบริหารประเทศ อาจารย์บอกมันไม่ยากหรอก เมื่อท่านทำเสร็จแล้วเพื่อบ้านเมือง ท่านก็รับโทษเสียก่อน เป็นกบฏก่อน เข้าคุกไป คนที่เขาจะนิรโทษกรรมท่านคือสภา คือประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากการทำปฏิวัติรัฐประหารของท่าน เขาก็จะออกกฎหมายมานิรโทษกรรมท่าน ท่านก็ออกมาจะมาบริหารอะไรก็ได้ เพราะเหตุว่าท่านทำความดี ถึงจะผิดกฎหมายก็ตาม

เรื่องนี้มีปรากฏอยู่แล้วในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฝ่ายญี่ปุ่นยกพลขึ้นทางใต้ของเรา ตอนนั้นจอมพลป.ยอมให้ขึ้นเพราะมันมากันเยอะเลย แล้วมันเป็นความผิด ตอนหลังญี่ปุ่นแพ้ เขาให้ส่งจอมพลป.ไปรับโทษประหารชีวิตที่ศาลเขา ปรากฏว่า เราเห็นความดีของจอมพลป. ถึงจะทำผิด ศาลก็วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.อาชญากรสงครามนี้ออกหลังการกระทำของจอมพลป. ดังนั้นใช้ย้อนหลังให้เป็นโทษไม่ได้ แต่จอมพลป.ยอมติดคุกอยู่ 159 วันโดยเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม เคารพต่อหลักนิติธรรม ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง นี่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

การตรวจสอบถ่วงดุลศาลมีทางเดียวคือ คณะกรรมการตุลาการ (กต.) อาจารย์คิดว่าระบบที่เป็นอยู่นั้นดีไหมหรือควรปรับปรุงอย่างไร

กต.ปกติที่เป็นมาเขาเป็นอิสระ มีทั้งหมด 15 คน มาโดยการเลือกของผู้พิพากษาตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มี 2 คนที่มาจากวุฒิสภา อาจารย์ว่าเกาะเกี่ยวกับประชาชนบ้างก็จะดี คือ กต.ให้มาโดยสภา ศาลอาจเสนอชื่อไปแล้วบรรยายมาว่ามีประวัติอย่างไร มีอะไรเป็นจุดสนใจ ให้สภาเขาวินิจฉัย เพราะเราถูกวิจารณ์ว่า การแต่งตั้งการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาดูเหมือนปิดเลย ประชาชนเขาไม่รู้ว่าเขาเป็นไงมาไง จึงให้เสนอชื่อให้ผู้แทนเลือก แต่ผู้แทนอาจจะไม่รู้จักผู้พิพากษาเพียงพอก็ให้เขาเสนอชื่อมา

อีกส่วนหนึ่งคือให้มีสัดส่วนผู้พิพากษาที่เกษียณแล้วบ้าง เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ ไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของผู้ใดแล้ว น่าจะกล้าพูดสิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา