ไม่พบผลการค้นหา
10 คำถาม เปิดใจ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถึงมุมมองต่อคนรุ่นใหม่ ฝ่ายอนุรักษนิยม ชนชั้นนำ และหนทางตามวลีแห่งประวัติศาสตร์ที่ว่า“Thailand is the land of compromise” จะเป็นไปได้อย่างไร ณ จุดที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านอย่างถึงราก

‘วอยซ์’ สัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ถึงบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่สอนให้มนุษยชาติเรียนรู้การประนีประนอม โดยเฉพาะทางการเมืองที่กำลังแหลมคมขึ้นทุกวินาที


อาจารย์มองเห็นพลังคนรุ่นใหม่เวลานี้อย่างไร หลายคนบอกคนรุ่นอาจารย์ตามเด็กไม่ทันแล้ว โดยเฉพาะการพูดเรื่องการเมือง

นักวิชาการอาจจะดูจืดไปเลยนะ เหมือนกับกลายเป็นพูดอ้อมค้อมไปก็ได้ จะหาคนพูดชัดๆ ตรงๆ ยากมาก เหมือนเจเนอเรชันของคนรุ่นผม นักวิชาการรุ่นผมเนี่ย เราเติบโตมาในบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าคนรุ่นปัจจุบันไม่ใช่ 

คนรุ่นปัจจุบันเขาเกิดประมาณก่อน-หลัง ค.ศ. 2000 หรือก่อน-หลัง พ.ศ. 2549 เขาเติบโตมาในบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง เขาอยู่ในโลกข้อมูลข่าวสารซึ่งมันล้นเหลือ เขาเลือกได้ คนรุ่นผมถึงเบบี้บูมเมอร์หาข้อมูลยาก ห้องสมุดก็ใช้ไม่ได้ 

อย่างผม ผมเป็นคนรุ่นอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรานั่งคิดถึงช่วงเวลาของเราสมัยเรียนหนังสือ ผมเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ปี 2503-2507 ตอนนั้นห้องสมุดแค่มีไว้อย่างนั้น ไม่ค่อยมีคนเข้า เราไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการแสวงหาค้นคว้าความรู้เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเราจะตื่นเต้นมากเมื่อเราไปเรียนหนังสือที่เมืองนอก ได้ไปเจอห้องสมุดดีๆ โดยเฉพาะที่ Cornell University


ตอนอาจารย์ไปเรียนที่ Cornell ยุคนั้น ความรู้มันน่าศิวิไลซ์ แล้วในแง่ความกลัวในการวิพากษ์การเมืองไทย เหมือนหรือต่างกับคนรุ่นปัจจุบันไหม

คนรุ่นผมไม่ได้มีความกลัวเท่าไหร่นะ ใช้คำว่ากลัวอาจจะไม่ใช่คำที่ถูกต้อง เพียงแต่เราไม่กล้าพูดอะไรบางอย่างที่คนรุ่นปัจจุบันพูด ถ้าอธิบายด้วยภาษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผมคิดว่ามันเป็นกระบวนการทางสังคม ฝรั่งบอกว่าเป็น socialization เราถูกเลี้ยงอย่างนั้นมา เติบโตอย่างนั้นมา พ่อแม่เราก็เป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์เราเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราก็เป็นอย่างนั้น มันไม่ง่ายที่จะแหกคอก

มนุษย์ทั่วไปก็อยากเหมือนคนอื่น เราไม่อยากจะเป็นตัวแปลกประหลาดใช่ไหมครับ (นิ่งคิด) อืม จริงๆ พูดว่ากลัวก็อาจจะใช้ได้ แต่ผมกลับมองว่าบางทีเราอาจไม่กล้าด้วยก็ได้


ถ้ารุ่นอาจารย์ถูก socialize มาตลอด ทำไมรุ่นลูกรุ่นหลานถึงขาดจากกระบวนการ socialize แบบคนรุ่นอาจารย์ไปแล้ว วันนี้พวกเขาพังเพดานที่เคยกดไว้ออกไปแล้ว

สภาพสังคมมันต่างกัน ผมคิดว่าคนรุ่นปัจจุบันเขามองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก จะใช้คำว่า globalization ก็ได้ เพราะเราอยู่ในสมัยโลกาภิวัตน์ เขาไม่ได้ถูกพรมแดนหรือเขตแดนจำกัดตัวเขาอีกแล้ว

คนรุ่นผมและต่อจากนั้นคือเบบี้บูมเมอร์ เรามองไปรอบๆ บ้าน เราไปไม่ไกลเกิน ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ ไปไม่เลยอำเภอแม่สาย มองไปไม่ข้ามแม่น้ำโขง พรมแดนอันยาวไกลระหว่างไทยกับพม่า เราก็ข้ามไม่ได้ ยิ่งกัมพูชา รุ่นผมก็ตัดไปความสัมพันธ์กับเขา คนรุ่นผมรังเกียจ มันเป็นรุ่นที่ไทยแพ้คดีเขาพระวิหารครั้งแรก ยิ่งเมื่อเป็นสมัยสงครามเย็นด้วยแล้ว เราไปไหนไม่ได้เลย

ถ้าคิดๆ ไปนะ เวลานั้นเรามองไปที่เชียงรุ่ง ยูนนาน คุนหมิง กวางสี กวางตุ้ง มันเต็มไปด้วยความน่ากลัว แต่คนรุ่นปัจจุบันไม่ใช่ คนรุ่นผมจะไปไหนได้ เมื่อก่อนไปง่ายที่สุดคือไปปีนัง ตอนเป็นนักศึกษา เราจะไปต่างประเทศก็คือไปแค่ปีนัง ไม่เลยสิงคโปร์ ส่วนอินโดนีเซียก็เป็นเหมือนดินแดนต้องห้ามนะ เพราะเป็นสมัยของนายพลซูฮาร์โต เป็นดินแดนที่ต่อต้านความคิดทางฝ่ายซ้าย ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านจีนแดง จีนแผ่นดินใหญ่คือจีนแดง หรือใกล้ที่สุดคือฟิลิปปินส์ 

ตอนผมเรียนหนังสือ เราฝันว่าถ้าเราไปเรียนหนังสือต่อเมืองนอก ถึงไปอังกฤษไม่ได้ ไปอเมริกาไม่ได้ ขอไปฟิลิปปินส์ก็ยังดีนะ สมัยนั้น University of the Philippines เป็นมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย ไม่ใช่สิงคโปร์ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นโลกของคนรุ่นผมมันถูกล้อมไว้ด้วยบริบททางการเมือง

สัมภาษณ์ อ.ชาญวิทย์


แต่วันนี้เราพ้นยุคสงครามเย็นมาหลายทศวรรษแล้ว อาจารย์มองเห็นเงื่อนไขอะไรที่ฝ่ายความมั่นคงไทยยังมองคนรุ่นใหม่ไม่ต่างจากยุคนั้น

สงครามเย็นจบไปเมื่อ ‘ประธานาธิบดีนิกสัน’ ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ ‘เหมา เจ๋อ ตุง’ ‘โจว เอินไหล’ ส่วนประเทศไทย ยุคสงครามเย็นก็น่าจะจบไปช่วงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ กับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ คือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ไปเปิดความสัมพันธ์กับจีนในปี 2518 มันก็น่าจะจบไปตรงนั้น

แต่ผมคิดว่าที่มันน่าจะยังอยู่กับเรา จะเรียกว่าวาทกรรมก็ดี จิตใต้สำนึกก็ดี ของคนที่ยังมีอำนาจ มีบารมีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งระดับรัฐบาล ระดับพรรคการเมืองบางพรรค ระดับกองทัพ ชนชั้นนำ ผมว่ายังไม่หลุด 

ถ้าเราดูอายุของคุณประยุทธ์ก็ดี คุณประวิตรก็ดี ผมว่าเขาเติบโตมาจากบรรยากาศของสงครามเย็น และผมคิดว่าลึกๆ เขาอาจจะยังไม่หลุดจากตรงนั้น

แม้ว่าเขาจะปลุกความสัมพันธ์อันดีกับจีนในปัจจุบันก็ตาม แต่เหมือนกับว่าลึกๆ ในแง่ socialization เขาอาจจะยังไม่หลุดออกมาก็ได้ 

ถ้ามองผลประโยชน์ทางการเมือง การที่เขาถ้ายังยึดอยู่กับความเชื่อของโลกเมื่อ 40-50 ปีมาแล้ว มันก็อำนวยประโยชน์ให้เขาในแง่ของการเมืองภายใน ทำให้เขาสร้างอำนาจต่อไป คือสร้างความกลัว

แต่ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่สุดแล้วกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์มันก็ยกเลิกไปแล้วในสมัยของรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย คุณคิดดู ถ้าไม่ยกเลิก ไทยจะไปติดต่อค้าขายกับใครได้อย่างไร แม้กระทั่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยที่ยังใช้ชื่อประเทศสยาม เราก็ไม่เคยปิดประเทศเลย


นอกจากทัศนะของผู้นำประเทศ-กองทัพ-ชนชั้นนำ ที่ไม่หลุดจากยุคสงครามเย็นแล้ว มรดกอย่างหนึ่ง ที่ตกค้างมาก็คือ ม.112 อาจารย์เคยร่วมรณรงค์ให้มีการแก้ไข 112 (คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มองปรากฎการณ์ 112 วันนี้อย่างไร

ตอนที่เราเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ผมคิดว่ายังเป็นการเคลื่อนไหวในหมู่นักวิชาการ คนที่จุดประเด็นก็คือกลุ่มนิติราษฎร์ แล้วผมก็เห็นด้วยในนหลักการว่าควรจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ควรจะต้องมีการปฏิรูป แล้วเราก็รณรงค์ให้คนมาร่วมลงนามแก้ไขด้วย คนมาลงชื่อเยอะเลย 3 หมื่นกว่าคน แต่น่าเสียดาย เพราะว่าพรรคเพื่อไทยไม่ให้ความสนใจ ข้อเสนอเราถูกปัดทิ้ง วันนั้นเราไปยื่นต่อรัฐสภา แล้วก็จบลงด้วยรัฐสภาไม่รับ

ต่อมาที่ปัจจุบัน มาถึงคนรุ่นนี้ เขาเรียกร้องการยกเลิก ไปไกลกว่าแค่แก้ไข ถ้าพูดประเด็นนี้อย่างชัดเจนจริงๆ ผมคิดว่า 112 มันเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ แต่มันกลับเป็นกฎหมายมีความย้อนแย้งในตัว 

ในความพยายามที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกด้านหนึ่งกลับมีส่วนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าพูดในแง่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มันเคยมีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคณะราษฎร กฎหมายนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่มีแล้วใช่ไหม เรามามีมาตรา 112 ในปัจจุบัน ซึ่งมาเกิดขึ้นใหม่ทีหลังในสมัยรัชกาลที่ 9 และยังถูกเพิ่มโทษให้รุนแรงจำคุกสูงสุดในโลกถึง 15 ปี ในช่วงรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ในแง่การฟ้องร้องคดี ใครฟ้องก็ได้ กล่าวหาต่อสถานีตำรวจที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าต้องพูดกันให้ชัดเจน ทั้งในแง่ของนิติศาสตร์และประวัติศาสตร์ มันเป็นกฎหมายที่ย้อนแย้ง ในสมัยรัชกาลที่ 9 เองก็เคยมีพระราชดำรัสว่าการใช้กฎหมายนี้อาจจะเป็นอันตรายก็ได้


นอกจากเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก 112 แล้ว เสียงของฝั่งรอยัลลิสต์ก็ไม่เบา อาจารย์มองอย่างไร กังวลใจไหมว่าภาพแบบ 6 ตุลาฯ จะฉายซ้ำ

กรณีของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ชุมนุมเมื่อกรกฎาคม 2563 เป็นสิ่งที่ผมประหลาดใจนะ แล้วไม่คิดว่าจะได้เห็นด้วยซ้ำ ประหลาดใจมากๆ ว่าความกล้าของเขาเรียกว่าทะลุทะลวงข้อจำกัดเนี่ย ผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมี กลับไม่พยายามหาทางมาเจอกัน ผมว่าน่าวิตก น่าห่วงมากๆ

สถานการณ์โดยรวมซีเรียสนะครับ แต่ถามว่าน่าหมดหวังไหม น่าท้อถอยไหม ไม่นะ ผมว่าใช้คำว่าน่าจะยังมีโอกาส ถึงแม้ว่าผมจะไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่ผมอายุ 80 แล้ว เห็นโลกมายาวนานแล้ว ถ้าเรามองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศของเรา และในโลกทั้งใบ ในที่สุดคงจะผ่านไปได้

ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง Guns, Germs, and Steel มันทำให้ผมนึกถึงว่าครั้งหนึ่ง โลกเราเจอโรคระบาดร้ายแรงมากในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 มันคือกาฬโรคหรือที่เรียกว่า Black Death ในเมืองไทยถูกรู้จักกันในนามของโรคห่า อาจจะเคยได้ยินว่า “โรคห่าลงกินเมือง” พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่าแล้วมาสถาปนากรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 1893 ยุคนั้นมีคนตายเยอะมาก 

แต่หลังจากนั้นก็มาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในบ้านเราคือการสถาปนากรุงศรีอยุธยา การล่มสลายของมหาอาณาจักรนครวัด นครธม ในที่สุดแล้วอยุธยากลายเป็นเจ้าดินแดนแถบนี้ คู่แข่งใหม่ของอยุธยาก็ไม่ใช่กัมพูชาแล้ว กลายเป็นพม่า แต่ความรุ่งเรืองของสยามในอดีตมันเป็นผลพวงมาจากโรคระบาดในวันนั้น

ตรงนี้ทำให้ผมคิดว่า ถ้าเรามองวิกฤตปัจจุบันคือโควิด-19 ในที่สุดแล้วผมว่ามนุษย์มันก็หาทางออกจนได้ แน่นอนอาจจะมีคนตายจำนวนมาก การระบาดรอบสองที่เรากำลังเจออยู่ มันก็ทำให้เราวิตกกังวลอย่างมาก แล้วมันระบาดมาพร้อมๆ กับการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่

ถ้ามองโดยรวมแล้ว สังคมไทยก็คงจะฝ่าข้ามไปได้ แต่จะข้ามไปอย่างไรก็พูดยากนะ เพียงแต่ในแง่ของการเป็นมนุษย์ ถ้าอยู่ไปโดยไม่มีความหวังก็ไม่มีประโยชน์ มนุษย์อยู่ได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า hope ว่าอะไรๆ จะต้องดีขึ้นในที่สุด ถึงแม้ว่ามันจะมีความมืดบอด ความท้อแท้อะไรก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าสำหรับคนหนุ่มคนสาว เขามองอะไรที่เป็นความหวัง ความกล้า 

สัมภาษณ์ อ.ชาญวิทย์


พออาจารย์มองเห็นความหวัง แปลว่าทุกฝ่ายคงกลับมาคุยกันได้ใช่ไหม เหมือนดั่งประโยคที่ว่า “Thailand is the land of compromise” 

ผมคิดว่าคำว่า “Thailand is the land of compromise” เป็นคำที่งดงามมากๆ และเป็นคำที่โดยใครก็ตามรวมทั้งผมด้วยก็คงหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น ผมว่ามันเป็นวาทกรรม เป็นแนวคิดที่ว่าคนไทยมีอันนี้ แต่ในความจริงทางประวัติศาสตร์ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าเราเชื่อว่ามันมีอยู่ในนี้ (ชี้ที่หัวตัวเอง) ก็น่าจะเป็นคุณสมบัติของเรา เราก็ต้องฝ่าฟันไปให้ถึงจนได้ 

ผมอยากเชื่อว่าผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมี คนที่อยู่ในชนชั้นปกครอง เขาจะ compromise เมื่อเขารู้ว่าถ้าไม่ compromise เขาก็อาจจะพัง เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ผมว่าสังคมอาจจะมาถึงจุดนี้ก็ได้แล้ว ถ้าเราไม่ compromise เราพังกันหมด ไม่มีใครได้ 

ผมว่าหลายสังคมได้ผ่านไปแล้ว สังคมไทยอาจจะยังไม่ผ่าน มันเกือบจะผ่านนะ ในช่วงของการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ยังไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นคนรุ่นปัจจุบันอาจจะมาทำต่อก็ได้

แต่ว่าในที่อื่นๆ ในโลกใบใหญ่ใบนี้ กรณีชัดเจนอย่างมากๆ คือ United Kingdom เขาผ่านตั้งแต่แมกนาคาร์ตา ตั้งแต่ Bill of rights เขาผ่านตั้งแต่สงครามกลางเมือง และเขารู้ว่าในที่สุดแล้วถ้าจะอยู่กันได้ มันต้องประนีประนอม อังกฤษคือต้นแบบของการประนีประนอม รักษาทั้งสถาบันเก่าเอาไว้ได้ และมีความเป็นประชาธิปไตยแบบโลกสมัยใหม่ 

ที่ไปอย่างรุนแรงสุดขั้ว อย่างกรณีปฏิวัติของฝรั่งเศส 1789 ก็ดี ไปจนรุนแรงกระทั่งในที่สุดแล้วต้องหันกลับมาว่า โอเค ไปไกลถึงขนาดนั้น แล้วก็ย้อนแย้งกลับไปสู่การรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ใหม่ ไปถึงขนาดยกเลิกสถาบันกษัตริย์อีกที มาจนกระทั่งถึงเป็นสาธารณรัฐอย่างปัจจุบันเนี่ย ก็รู้แล้วว่ามันผ่านความเจ็บปวดอย่างรุนแรงมาก ในที่สุดแล้วก็ต้องประนีประนอมอย่างที่เราเห็นกัน 

ที่ใกล้ตัวเราก็คือประวัติศาสตร์ของจีน จากการสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง การขึ้นมาของสาธารณรัฐ พลิกกลับไปกลับมาในสมัยของซุนยัดเซ็นกับหยวนซื่อไข่ กลับไปกลับมาระหว่างเจียงไคเช็คกับเหมาเจ๋อตง มาจนกระทั่งปัจจุบัน โอ้โห มันเจ็บปวดมากๆ เลยนะ รวมทั้งสหภาพโซเวียตซึ่งกลายมาเป็นรัสเซียปัจจุบัน ที่ไปสุดขั้ว

ผมว่าทุกชาติผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว ที่มันน่าเสียดายก็คือว่าผู้ปกครอง ทหาร ตำรวจ พลเรือนเนี่ย เอาเข้าจริงต้องเรียนประวัติศาสตร์มากๆ แล้วต้องเรียนประวัติศาสตร์ฉบับซึ่งไม่ใช่ฉบับที่ถูกบังคับให้เรียนกัน  มันต้องเรียนประวัติศาสตร์ฉบับที่มันเป็นทางเลือกอื่นๆ จะได้ประวัติศาสตร์มาช่วยสอนเราว่า

ถ้าเราไม่ต้องการให้สังคมเราผ่านความเจ็บปวดเนี่ย ประวัติศาสตร์สอนให้เราประนีประนอม

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีวาทกรรมนี้อยู่ในความเชื่อของเรา เราต้องทำให้มันเป็นความจริงให้ได้


แล้วฝ่ายปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมล่ะ อาจารย์มองเห็นใครที่พอจะเจรจาประนีประนอมได้ไหม มีใครที่ฉลาดพอที่จะเตือนผู้มีอำนาจได้บ้างว่าสังคมไทยกำลังถลำลึกไปทางอำนาจนิยม

วันนี้น่าเสียดายนะ อย่างตัวผมเนี่ย เป็นแฟนหนังสือของอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผมมีหนังสือของอาจารย์คึกฤทธิ์เยอะมากๆ พ่อผมเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับอาจารย์คึกฤทธิ์ที่สวนกุหลาบ แล้วพ่อก็ชอบอาจารย์คึกฤทธิ์มาก ดังนั้นผมก็อ่านตามพ่อมาตลอด ผมว่าท่านเป็นอนุรักษนิยมที่มีสติปัญญามากๆ 

อีกคนหนึ่งที่ผมนับถือมากๆ และทำให้ผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ผมเคยไปอยู่กระทรวงการต่างประเทศมา 3 เดือน ผมชื่นชมคนแบบคุณอานันท์ ปันยารชุน คุณถนัด คอมันตร์ มากๆ 

ถ้าเรามาดูดีๆ นะ นั่นคือคนที่ด้านหนึ่งเขาเป็นปัญญาชน รู้ทันโลก และมีความเป็นผู้นำด้วย แต่ปัจจุบันนี้พอมองไปทั่วๆ น่าท้อแท้นะ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการก็ดี ที่ดูจะเป็นเนื้อเป็นหนังมีน้อยมากๆ ผมไม่ขอเอ่ยนามนะครับ ยิ่งเป็นนักการเมืองแล้วยิ่งน่าสงสาร คนฉลาดๆ ไม่มีแล้วเหรอ หายไปไหนหมด นี่ก็ทำให้ผมรู้สึกน่าวิตกและหดหู่นะ


ถ้ามีคนแบบที่อาจารย์อยากเห็น การพูดคุยเจรจากันมันยังเป็นไปได้ง่ายกว่าใช่ไหม

ใช่, และผมคิดว่าเหมือนที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยบอกไว้ซึ่งสำคัญมากๆ คือคำว่า "ถ้า" ฝรั่งบอกว่าเป็น "IF" มันเป็น "IF" ที่ต้องเขียนด้วยอักษรตัวใหญ่ ถ้าผู้มีอำนาจ มีบารมี สถาบันหลักๆ ของไทยคิดว่า "ถ้า" ไม่ประนีประนอม มันก็พังกันหมด ตรงนี้แหละคือคำว่า "ถ้า"

ผมอยากจะเชื่อว่ามันอาจจะเป็นไปได้ ถึงจุดหนึ่งด้วยความจำเป็นว่า เฮ้ย ถ้าไปอย่างนี้ต่อไปมันพังกันหมดนะ ก็อาจจะประนีประนอมกันได้ แน่นอน, ถ้ามันไม่ผ่านคำว่า “ถ้า” อันนี้ มันก็พังกันหมด 

ผมว่าเอาเข้าจริงแล้ว ความอยู่รอดก็เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ ความอยู่รอดอาจจะเป็นตัวกำหนดก็ได้ อาจจะไม่ใช่อุดมการณ์อะไรเลยก็ได้ อาจจะเป็น survival ธรรมดานี่แหละ อันนี้เราก็หวังในสัญชาตญาณที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์  


ไม่ใช่ทั้งขวาหรือซ้าย แต่กลับมาเป็นคนปกติ ?

ใช่ๆ (ยิ้ม)

ธิติ มีแต้ม
สื่อมวลชน
27Article
0Video
0Blog