ไม่พบผลการค้นหา
'เวียดนาม' เสี่ยงโรคอ้วนมากสุดในอาเซียน ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศ เผชิญปัญหาระบบสุขภาพและเงินทุนสำรอง

ภาวะอ้วนกำลังกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ยังสร้างปัญหาให้กับระบบสุขภาพและทุนสำรองของรัฐบาลเช่นเดียวกัน

เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีตัวเลขประชากรที่อยู่ในภาวะอ้วน หรือภาวะที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 25 เพิ่มสูงขึ้นไวที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 38 ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ตามมาด้วยประเทศอินโดนีเซียที่อัตราร้อยละ 33 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ เวียดนามยังมีสัดส่วนประชากรที่อยู่ในภาวะโรคอ้วนน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 3.6 เท่านั้น ขณะที่มาเลเซียมีสัดส่วนประชากรที่มีโรคอ้วนถึงร้อยละ 13.3 และอินโดนเซียที่ร้อยละ 5.7

เศรษฐกิจดีแต่สุขภาพแย่

จากรายงานของ 'ฟิทช์ โซลูชัน มาโคร' การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้นำมา ซึ่งรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ผู้คนหันไปเลือกทานอาหารที่มีคุณภาพน้อยลง นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดเสรีส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องลดต้นทุนให้ต่ำลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพวัตถุดิบ 

"ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารต่ำได้ง่ายขึ้นจากต้นทุนที่ถูก รวมถึงยังมีการเข้ามาของอาหารตะวันตกด้วย"

ประชาชนอ้วนส่งรัฐบาลไม่มีเงิน

ความเสี่ยงจากภาวะอ้วนส่งผลต่อต้นทุนในระบบดูแลสุขภาพของรัฐบาลในหลายประเทศ เพราะต้องเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากโรคที่จะตามมา เช่น โรคเบาหวาน และ โรคหัวใจ 

จากสถานการณ์ข้างต้น มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่แบกต้นทุนด้านระบบสาธารณสุขที่มีต้นเหตุมาจากโรคอ้วนสูงที่สุดในภูมิภาค ถึงประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณสาธารณสุขของประเทศ 

แม้รายงานจะไม่ได้พูดถึงวิธีการที่รัฐบาลแต่ละประเทศในอาเซียนใช้เพื่อจัดการกับงบประมาณด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น แต่ล่าสุด มาเลเซีย ออกกฎหมายเพิ่มภาษีขึ้นเป็น 0.40 ริงกิต (2.99 บาท) ต่อเครื่องดื่มให้ความหวานในบรรจุพัณฑ์ 1 ลิตร ซึ่งรวมทั้งน้ำผลไม้และเครื่องดื่มอัดลม และมีการเริ่มต้นใช้กฎหมายฉบับนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีผลบังคับใช้กับเครื่องดื่มที่มีการเตรียมและขายในร้านอาหารรวมทั้งการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอลต่างๆ

จากข้อมูลของรายงานฉบับนี้ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการเติบโตของเศรษฐกิจและการเติบโตของตัวเลขประชากรที่ประสบปัญหาโรคอ้วน นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านระบบดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีภาคส่วนใดออกมาจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง 

อ้างอิง; Bloomberg, The Edge Markets MY