ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ เตรียมทุ่มเงินเสริมสภาพคล่องให้ประชาชน-ธุรกิจขนาดเล็ก ชี้หากผ่านสภา เงินจะถึงมือประชาชนใน 3 สัปดาห์

'สตีเวน มนูชิน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับช่องฟ็อกซ์ว่า รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เตรียมแผนอัดฉีดเม็ดเงินไปยังประชาชนชาวอเมริกาด้วยมูลค่ารวมกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 16.2 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยผ่อนคลายสถานการณ์วิกฤตท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

มนูชิน ชี้ว่าหากแผนดังกล่าวผ่านที่ประชุมของรัฐสภา เม็ดเงินการอัดฉีดจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะมอบให้กับประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32,000 บาท และเด็กในจำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 16,000 บาท ซึ่ง มนูชิน ชี้ว่า "สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ก็จะได้เงินทั้งสิ้น 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (97,000 บาท)"

"เราเน้นในการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจและประชาชนอเมริกันอย่างจริงจัง" มนูชิน กล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ยังชี้ว่า เมื่อแผนดังกล่าวผ่านที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาลจะรับดำเนินนโยบายให้เม็ดเงินถึงมือประชาชนภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ พร้อมเสริมว่า รัฐบาลยังมีเม็ดเงินอีกประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.7 ล้านล้านบาทที่จะใช้สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อกระตุ้นไม่ให้เกิดการปลดพนักงาน 

ขณะที่เม็ดเงินอีกราว 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.5 ล้านล้านบาทเป็นงบเพื่อธนาคารกลางของประเทศ (เฟด) และเพื่อการกู้ยืมกับธุรกิจสายการบินและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ 

มาตรการที่ออกมานี้ เกิดขึ้นภายหลังตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ยกคงตกลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานก็เริ่มหันหัวขึ้นเช่นเดียวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลของทรัมป์ได้ออกหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทรัมป์ ก็ได้ผ่านกฎหมายช่วยเหลือเศรษฐกิจมูลค่า 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 270,000 ล้านบาท และเมื่อวันพุธ (18 มี.ค.) ที่ผ่านมา ก็เพิ่งลงนามในแพคเกจช่วยเหลือคนงานและการตรวจโรคฟรีอีก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.25 ล้านล้านบาท 

ในตอนท้าย มนูชิน ยังย้ำว่า หากเม็ดเงินอัดฉีดในรอบแรกไม่เพียงพอ รัฐบาลพร้อมจะอัดฉีดเงินเพิ่มอีกครั้ง ด้วยงบประมาณรองรับอีกราว 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.13 ล้านล้านบาท 

อ้างอิง; Bloomberg, CNBC, WP