ไม่พบผลการค้นหา
รายงานความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่าคนรวยหน้าใหม่กว่า 40% ของทั้งหมดเกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิก โดยเศรษฐีไทยมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 15% ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในไทยยังอยู่ในระดับสูง

บริษัท Capgemini บริษัทที่ปรึกษา บริการด้านเทคโนโลยีและการปฏิรูปดิจิทัล ออกรายงานความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APWR) ประจำปี 2018 ซึ่งตอกย้ำว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีสถานะเป็นแหล่งผลิต “บุคคลที่มีมูลค่าสูง” (HNWI) ที่สำคัญของโลก โดยรายงานดังกล่าวเปิดเผยว่า บุคคลหน้าใหม่ที่มีมูลค่าทางการเงินสูงถึงร้อยละ 41.4 ของทั้งหมดในปี 2017 อยู่ในเอเชียแปซิฟิก และจำนวนประชากรบุคคลที่มีมูลค่าสูงเติบโตขึ้นร้อยละ 12.1 และความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8

รายงาน APWR ยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 มูลค่าของคนรวยในภูมิภาคนี้จะสูงเกิน 42 ล้านล้านดอลลาร์ (1,376 ล้านล้านบาท) แต่อัตราการเติบโตของรายได้จะลดลงจากร้อยละ 9.2 ในปี 2016 เหลือร้อยละ 8.7 แม้เอเชียแปซิฟิกจะเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่ Capgemini เชื่อว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นสำหรับเอเชีย

ตลาดใหม่มีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตของความมั่งคั่งในภูมิภาคถึงร้อยละ 52.9 โดยอินเดียเป็นประเทศที่ความมั่งคั่งและประชากรคนรวยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในบรรดาตลาดใหม่ ขณะที่การเติบโตของประชากรที่มีมูลค่าสูงในตลาดที่ผู้บริโภคมีความพร้อมแล้วอย่างเกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้ทั้งปี 2017 มีบุคคลที่มีมูลค่าสูงถึง 88,200 คนในภูมิภาคนี้

คนรวยในญี่ปุ่นถือเป็นกลุ่มที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์ (252 ล้านล้านบาท) โดยอัตราการเติบโตจากปี 2010 ถึงปี 2017 อยู่ที่ร้อยละ 87 ขณะที่เศรษฐีจีนพยายามตีตื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยความมั่งคั่งของคนรวยในจีนเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ถึง 144 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ (213 ล้านล้านบาท)

รายงาน APWR ระบุว่า คนรวยในเอเชียแปซิฟิกเลือกลงทุนในตราสารทุน หรือ หุ้น เป็นอันดับแรกที่ร้อยละ 26.4 ต่อมาเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด (พันธบัตร ตราสารหนี้ คริปโตเคอร์เรนซี เป็นต้น) ที่ร้อยละ 26.2 ส่วนอันดับสาม ได้แก่ อสังหาริมทรัพม์ที่ร้อยละ 20.1


คนรวยในไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 15% แต่คนจนก็จนลง

รายงาน APWR ระบุว่า ช่วงปี 2017 มีประชากรที่มีมูลค่าสูง 122,520 คน คิดอัตราการเติบโตเป็นร้อยละ 13.6 สูงกว่าสิงคโปร์และจีนที่มีอัตราการเติบโตของประชากรคนรวยที่ร้อยละ 11.5 และ 11.2 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าความมั่งคั่งของคนรวยในไทยอยู่ที่ 600,000 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 20 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นอัตราเติบโตที่ร้อยละ 14.9 สูงกว่าไต้หวันที่เติบโตร้อยละ 13.3 สิงคโปร์ที่ร้อยละ 12.8 และจีนที่ร้อยละ 12.5

แม้นายอุลริค ซาชาว ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในไทยจะลดลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 1990 หลังรายได้ของคนจนเพิ่มขึ้นจาก 3 ทศวรรษก่อน อัตราการว่างงานลดลง การขนส่งสาธารณะดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงสูง

เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์อ้างอิงสถิติจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ระบุว่า ในช่วงปี 2015 - 2016 จำนวนคนจนที่อยู่ในเส้นแบ่งความยากจนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 โดย 5.81 ล้านคนอยู่ในยากความจน หรือมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 88 ดอลลาร์ (2,885 บาท) อาจารย์เดชรัตกล่าวว่า ระบบราชการเปิดโอกาสให้บริษัทยักษ์ใหญ่ฉกฉวยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากโครงการของรัฐมากกว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนจน จากสถิติพบว่า จำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายประจำวันของคนจนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหาร แต่รายได้กลับต่ำลง โดยเฉพาะคนที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม

 

ที่มา : Asia Pacific Wealth Report, Business Wire, Bloomberg, สถานเอกราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน, The ASEAN Post