เบนนี่ ไท่ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง, ชูหยิ่วหมิง ศาสนจารย์ชาวคริสต์วัยเกษียณ และเฉินคินมัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ถูกเบิกตัวขึ้นศาลฮ่องกง ในวันที่ 19 พ.ย. 2561 เนื่องจากทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าปลุกปั่นและก่อกวนความสงบของสาธารณะ เพราะเป็นผู้จุดประกายให้เกิดการชุมนุมต่อเนื่อง 79 วันในย่านเซ็นทรัลของฮ่องกงเมื่อปี 2557 เพื่อเรียกร้องให้จีนเคารพหลักการประชาธิปไตยและให้สิทธิประชาชนชาวฮ่องกงได้เลือกผู้บริหารเขตฮ่องกงโดยตรง
สื่อมวลชนต่างเรียกการชุมนุมในปี 2557 ว่า 'การปฏิวัติร่ม' หรือ 'ขบวนการอ็อกคิวพายเซ็นทรัล' ส่วนแกนนำอีก 6 คนที่เหลือจะถูกเบิกตัวขึ้นศาลภายใน 20 วันต่อจากนี้
ก่อนที่แกนนำทั้ง 3 คนจะเดินทางไปที่ศาลในย่านเวสต์เกาลูนเมื่อ 19 พ.ย. กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงนับร้อยคนได้รวมตัวกันถือร่มสีเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์การชุมนุมเมื่อปี 2557 เพื่อให้กำลังใจและร่วมอ่านแถลงการ��์ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และประชาธิปไตยต่อไป
"การดำเนินคดีพวกเรา แสดงให้เห็นว่าจีนไม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นทุกวัน และจีนอาจเป็นภัยคุกคามต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย" เฉินคินมานกล่าวกับสำนักข่าวเอพี พร้อมระบุว่าพวกเขาทั้งหมดจะให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา เพราะไม่ถือว่าการชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองจะเป็นการยั่วยุปลุกปั่น และย้ำว่า ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ทำผิดอะไร
ขณะที่เบนนี่ ไท่ ระบุว่า พวกเขาจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง และสิ่งที่จะได้รับการจากต่อสู้ในชั้นศาลครั้งนี้ก็คือการสานต่อขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในนามของอารยะขัดขืน และจะเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวฮ่องกงไม่หมดหวังเรื่องประชาธิปไตย จึงหวังว่าการเผชิญหน้ากับคดีในศาลจะกระตุ้นให้ชาวฮ่องกงที่เคยสนับสนุนขบวนการอ็อกคิวพายฯ จะยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยต่อไป แม้จะอยู่ในภาวะสิ้นหวังก็ตาม
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงยกฟ้องแกนนำขบวนการอ็อกคิวพายฯ ทั้งหมด พร้อมเตือนว่า รัฐบาลจีนต้องไม่กดดันฮ่องกง และควรเคารพในสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงตามที่เคยยอมรับเงื่อนไขของอดีตรัฐบาลอังกฤษก่อนจะส่งคืนฮ่องกงให้แก่จีนเมื่อปี พ.ศ.2540
พร้อมกันนี้ HRW ยังระบุด้วยว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมอ็อกคิวพายฯ ถูกดำเนินคดีไปแล้วราว 200 คน ทั้งที่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามปกติ ขณะที่โจชัว หว่อง, อเล็กซ์ เจา และนาธาน เหลา อดีตแกนนำขบวนการเยาวชน นิสิต นักศึกษาฮ่องกง ถูกดำเนินคดีและลงโทษให้บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะไปแล้วตั้งแต่ปี 2559 แต่ก็ยังมีความพยายามจะใช้กฎหมายเลงโทษพวกเขาอีกระลอก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมและสมควรประณาม
อย่างไรก็ตาม แคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน ยืนยันว่าการดำเนินคดีแกนนำและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอ็อกคิวพายฯ เป็นการบังคับใช้อำนาจตามกฎหมายตามปกติ พร้อมทั้งแถลงตอบโต้กลุ่ม ส.ส.อังกฤษ ซึ่งยื่นหนังสือเรียกร้องให้ฮ่องกงและจีนยกฟ้องแกนนำการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่หล่ำกล่าวว่า ส.ส.อังกฤษกลุ่มดังกล่าวกำลังแทรกแซงกิจการภายในของจีนและฮ่องกง ซึ่งผิดมารยาททางการเมือง
ที่มา: AP/ Washington Post/ Guardian/ Reuters/ Hong Kong FP/ Human Rights Watch
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: