ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายประชาธิปไตยของฮ่องกงแพ้การเลือกตั้งซ่อมแบบย่อยยับ ทำให้หลายคนกังวลเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกงในมือจีนแผ่นดินใหญ่

ผู้สมัคร ส.ส.ฮ่องกงฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยไม่สามารถคว้าเก้าอี้ในสภานิติบัญญัติทั้ง 4 ที่นั่งกลับคืนมาได้ ในการเลือกตั้งซ่อมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ฝ่ายสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ได้ที่นั่งเพิ่ม 2 ที่นั่ง ซึ่งการพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยกังวลว่าฮ่องกงจะถูกจีนแผ่นดินใหญ่ควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ฮ่องกงจัดการเลือกตั้งซ่อม เพื่อหาสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวน 4 ที่นั่ง แทน ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตย 4 คนที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 2016 แต่ถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากพวกเขาประท้วงไม่ยอมกล่าวสาบานตนเข้ารับตำแหน่งโดยแสดงความจงรักภักดีต่อจีนแผ่นดินใหญ่

ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยจึงเดิมพันว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะเป็นการลงประชามติว่าชาวฮ่องกงเห็นด้วยกับการตัดสิทธิ์ ส.ส.ที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่แอ็กเนส เจา ถูกสั่งห้ามไม่ให้ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมอีกครั้ง แต่การเล่นบทบาทเหยื่อที่ถูกรัฐกลั่นแกล้งกลับไม่สามารถจูงใจให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้มากพอ

ชัยชนะที่หดหู่ = ความพ่ายแพ้

คะแนนที่นายอาวหนกฮีน ผู้สมัครคนสำคัญที่ลงสมัครเลือกตั้งแทนนายนาธาน เหลา ก็ยังน้อยกว่าที่คาดไว้มาก เมื่อเทียบข้อมูลกับการเลือกตั้งปี 2016 พบว่า คนที่เคยลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในครั้งก่อนได้หันมาเลือกผู้สมัครที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่กันมากขึ้น แม้สุดท้ายนายอาวจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม ทำให้นายอาวออกมาเปิดเผยว่านี่เป็นชัยชนะที่น่าหดหู่มากสำหรับเขา

ความพ่ายแพ้ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งนี้คือการแพ้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของนายเอ็ดเวิร์ด หยิ่ว นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 16 คน ขณะที่ฝ่ายหนุนจีนมี 17 คน และหมายความว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจในการวีโตในสภานิติบัญญัติฮ่องกง ซึ่งอาจแก้ไขกฎหมายให้จีนแผ่นดินใหญ่เข้ามามีอำนาจควบคุมฮ่องกงได้มากขึ้น และจะทำให้การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยฮ่องกงยากลำบากขึ้นอีก

คนรุ่นใหม่เบื่อการเมือง

การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ได้กลายเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง เพราะพวกเขาไม่สามารถทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันได้มากพอ โดยการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิประมาณร้อยละ 40 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 2.1 ล้านคน จากที่เคยมีคนไปใช้สิทธิถึงร้อยละ 58.3 ในการเลือกตั้งปี 2016

ซูซาน เปปเปอร์ นักเขียนและนักวิชาการฮ่องกงแสดงความเห็นว่า แม้จะไม่เห็นสถิติของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เธอสันนิษฐานว่าคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนประชาธิปไตยน่าจะไม่ไปลงคะแนน เพราะพวกเขารู้สึกว่าความฝันที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยภายใต้การปกครองของจีนได้สลายไปแล้ว และคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็จะถูกตัดสิทธิ์ไปอยู่ดี พวกเขาจึงคิดว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะไม่สร้างความแตกต่างใด

ฮิปสเตอร์เกินไป?

สำนักข่าวเซาท์ไชน่า มอร์นิง โพสต์ วิเคราะห์ว่าเหตุผลที่ทำให้นายหยิ่วและฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้หนัก เพราะพวกเขาไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จะวางแผนการหาเสียงที่เหมาะสม เห็นได้จากการเสนอนโยบายและหาเสียงด้วยวิธีที่แหวกแนวเกินไป เช่น การไปหาเสียงกับคนปั่นจักรยาน แทนที่จะไปเคาะประตูตามการเคหะของรัฐ เพื่อนำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ ในขณะที่คู่แข่งของเขาทำงานใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มาเป็นสิบปีแล้ว

นายหมาหง็อก นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง อธิบายว่าการปั่นจักรยานหาเสียงของนายหยิ่วอาจดึงดูดคนให้ไปเลือกตัวเองได้ร้อยละ 10 ซึ่งเป็นจำนวนที่มีค่าสำหรับการลงสมัคร ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ แต่คนเพียงร้อยละ 10 ไม่เพียงพอที่จะชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

ประชาธิปไตยของชนชั้นกลางกลุ่มเดียว?

นักวิเคราะห์ยังมองว่าฝ่ายประชาธิปไตยประเมินความนิยมของตัวเองสูงเกินไป ทำให้พวกเขาหาเสียงอยู่แต่กับฐานเสียงเดิมของพวกเขา นั่นก็คือคนชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ในขณะที่ชนชั้นแรงงานอาจไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยมากเท่ากับปัญหาปากท้อง ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องหาวิธีที่ดีกว่านี้ในการนำเสนอแนวคิดของตัวเอง และสื่อสารกับผู้มีรายได้น้อยอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะพวกเขาไม่มีทางเอาชนะฝ่ายหนุนจีนได้ด้วยฐานเสียงชนชั้นกลางเพียงกลุ่มเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: