ไม่พบผลการค้นหา
'สรรเสริญ' โต้ 'สุดารัตน์' โพสต์เฟซบุ๊กติง 'ทำบัตรคนจน เหมือนระบบอนาถา' แจงรัฐบาลไม่เคยแบ่งแยกประชาชน ฟาก อดีต ส.ส. ปชป. อัดไทยนิยมยั่งยืนลอกประชานิยม 'ทักษิณ' เตือนระวังถูกเปิดโปงทุจริตหลังหมดอำนาจ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง "อย่าทำให้คนไทยไม่เท่ากันด้วยบัตรคนจน" โดยระบุว่า รัฐบาลนี้ให้ผู้ถือบัตรคนจนรักษาฟรี เป็นการแบ่งแยกคนรวยคนจน ว่าคุณหญิงสุดารัตน์อาจจะไม่ได้ศึกษาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยมองปัญหาจากความคิดของตัวเองเป็นหลัก เพราะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรักษาฟรีนั้น เป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในกฎหมายให้ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ไม่ได้มีผลต่อสิทธิรับการรักษาที่ฟรีอยู่แล้ว และเมื่อดูจากเนื้อหาที่คุณหญิงสุดารัตน์เขียนก็น่าจะหวังผลทางการเมือง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมากกว่าที่จะเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับสังคม คล้ายกับที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยถูกกล่าวหาว่า จะยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาต (คสช.) เน้นย้ำเสมอว่า คนไทยทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการหรือประกันสังคมจะได้รับสิทธินี้ ซึ่งเป็นการรักษาฟรีด้วยคุณภาพที่ดีทัดเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ แต่หากใครมีกำลังพออยากจะร่วมจ่ายกับภาครัฐก็สามารถทำได้ 


"รัฐบาลนี้ไม่เคยแบ่งแยกประชาชน มีแต่นักการเมืองบางกลุ่มบางคนที่ชอบใช้วาทกรรมแบ่งแยกคนรวยคนจนให้เกิดความขัดแย้ง" นายสรรเสริญ กล่าว


สรรเสริญ​ แก้วกำเนิด.jpg

พร้อมทั้งย้ำว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการพัฒนาไปมาก ทั้งเรื่องงบประมาณรายหัวที่รัฐสนับสนุน ประเภทของโรคและยาที่เพิ่มขึ้น และอีกหลายเรื่อง จนได้รับการยกย่องชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ

ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินั้น เป็นการรวมบุคคลหรือหน่วยงานที่หลากหลายกระจายไปทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยราชการที่มีภารกิจด้านสุขภาพ สภาวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

อดีต ส.ส. ปชป.ย้อนรัฐบาลประยุทธ์ใช้ 'ไทยนิยมยั่งยืน' ไม่ต่าง 'ประชานิยม' ยุคทักษิณ

ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ว่า ไม่ต่างอะไรกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่พล.อ.ประยุทธ์ เคยด่าไว้เลยแม้แต่น้อย เพราะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ในรัฐบาลชุดนี้เคยเป็นรองนายกฯ สมัยนายทักษิณจึงลอกเลียนแบบได้อย่างแนบเนียน มีทั้งขัอดีและข้อเสียติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น 

ข้อดีคือดูเสมือนว่าเงินลงไปถึงมือชุมชน ข้อด้อยคือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบราชการและการทุจริตจะเป็นทวีคูนภายใต้อำนาจของม.44 เพียงแต่ว่ารอเวลารัฐบาลชุดนี้จะหมดอำนาจเท่านั้นเอง การทุจริตต่างๆ ก็จะเปิดเผยยิ่งกว่าดอกเห็ด

เพราะโครงการไทยนิยมยั่งยืน คือโครงการเอาเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศไปหว่านโปรยทุกหมู่บ้านนับแสนๆ ล้านบาท ลงหมู่บ้านละ 2 แสนบ้าง ผ่านบัตรโครงการสวัสดิการคนจนให้ไปซื้อที่ร้านประชารัฐ ปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาทบ้าง ยิ่งใกล้เลือกตั้งก็จะลดแหลกแจกแถมเติมเงินให้ยิ่งกว่าซานตาครอส ทั้งนี้มีเป้าหมายเดียวเพื่อหาคะแนนนิยมให้กับพล.อ.ประยุทธ์ให้สืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ อีกสมัยซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย 

ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนโครงการประชานิยมแบบนี้ว่าจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนคนยากจนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว

วัชระ เพชรทอง  Template.jpg


"ไม่ว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณเพิ่มมากขึ้นอีกกี่แสนล้านบาทในช่วงไตรมาสสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แต่ถ้ายังกดหัวพี่น้องประชาชนด้วยอำนาจเผด็จการเศรษฐกิจและการเมืองแบบนี้ ก็ไม่อาจจะเอาชนะใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้ อาจเป็นเพียงการถูกใจชั่วขณะของบรรดาลิ่วล้อพรรคการเมืองในเครือข่ายของคสช.เท่านั้น" นายวัชระกล่าว

'คุณหญิงสุดารัตน์' ติงรัฐทำคนไทยไม่เท่ากันด้วยบัตรคนจน

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าที่ผ่านมาของวันนี้ (15 ต.ค.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง "อย่าทำให้คนไทยไม่เท่ากัน ด้วยบัตรคนจน" โดยระบุว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องยึดหลักความทัดเทียม ที่คนไทยทุกคนจะต้องได้รับสิทธิ และโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพทัดเทียมกัน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของประชาชน จึงต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

แต่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี กลับมีมติอนุมัติกฎหมายตั้งซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ โดยให้มีภาคประชาชนเพียง 3 คน จาก 45 คน ซึ่งที่เหลือส่วนมากเป็นข้าราชการ และมีเอกชนตัวแทนบริษัทยาข้ามชาติมาเป็นกรรมการ แล้วประชาชนอยู่ตรงไหนคะ?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลนี้ ได้ประกาศให้ผู้ที่ถือ 'บัตรคนจน' รักษาฟรี ทั้งที่ในความเป็นจริงประชาชนทุกคน ที่ได้รับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ได้รับการรักษาฟรีอยู่แล้ว โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นคนจน แต่รัฐบาลกลับมีมติ ครม. ให้ผู้ถือบัตรคนจนรักษาฟรี ซึ่งกลายเป็นเรื่องแบ่งแยกคนจนคนรวยย้อนกลับไปเหมือนยุค 'บัตรอนาถา' สำหรับคนจน เหมือนเมื่อสมัยปี 2518 ซึ่งอาจจะเป็นการเปิดช่องแบ่งแยกคนจนออกไป และอาจทำให้มีการเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งถือเป็นการขัด 'หลักการ' ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างร้ายแรง 

ขอย้ำว่าหลักการของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค คือต้องการให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยคุณภาพดีทัดเทียมกัน โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ คนรวยหรือคนจน ไม่ใช่คนจนต้องรักษาแบบอนาถา และนี่คือหัวใจของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มิใช่เรื่องที่ใครจะพยายามเอาเรื่องการรักษาฟรีไปหาเสียงอย่างผิดๆ โดยทำให้ "หลักการ" ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันยอมไม่ได้ค่ะ

พร้อมลงแฮกแท็ก #คนไทยต้องเท่ากัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :