ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจับ 'ทักษิณ ชินวัตร' คดีเอ็กซิมแบงก์ กำหนดเวลา 3 เดือน หากไม่สามารถจับกุมได้ จะพิจารณาคดีลับหลังจำเลย

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ออกหมายจับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลเมียนมา เนื่องจากผิดนัดไม่เดินทางมาศาลในการพิจารณาครั้งแรก

องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า นายทักษิณ ไม่เดินทางมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือแจ้งเลื่อน มีพฤติการณ์ควรเชื่อว่าหลบหนี จึงให้ออกหมายจับกำหนดไว้ 3 เดือน หากไม่สามารถจับกุมได้ ศาลมีอำนาจให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยในการต่อสู้คดี และให้โจทก์ติดตามผลการจับกุมพร้อมรายงานให้ศาลรับทราบ 

ส่วนที่จำเลยไม่มาศาลในการพิจารณาครั้งแรกให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ จึงให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ต.ค. 2561 โดยให้โจทก์ยื่นบัญชีพยานหลักฐานก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 14 วัน และให้ส่งหมายแจ้งให้จำเลยทราบ หากไม่มีผู้รับให้ปิดหมายต่อไป

วัชระ เพชรทองtitled-1.jpg

'วัชระ' จี้ คสช. และข้าราชการ เร่งดำเนินการ 'คดีเอ็กซิมแบงก์'

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตร มาเป็นใบที่ 4 แล้ว แต่ข้าราชการและรัฐบาลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องปฏิบัติตามหมายจับของศาลกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้มีผลในทางปฏิบัติตามกฎหมายแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่สงสัยว่าหมายจับนายทักษิณ ชินวัตรของศาลฎีกาออกมาถึง 4 ใบแล้ว ทำไมผู้มีหน้าที่รับผิดชอบถึงไม่กระตือรือล้นที่จะดำเนินการให้มีผลบังคับตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด

รัฐบาลควรต้องชี้แจงเรื่องนี้กับประชาชนและชี้แจงกับนานาชาติว่ากรณีศาลฎีกาออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตรนี้เป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องการกลั่นแกล้งทางการเมืองแต่ประการใด และควรเรียกร้องให้ประเทศที่ให้ที่พำนัก นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหลบหนีคดีโทษอาญาหรือหนีหมายจับของศาลไทยให้ส่งตัวกลับประเทศไทยเพื่อดำเนินคดีภายใต้กฎหมายตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมโดยเร็วที่สุด หากประเทศนั้นๆ ไม่ส่งตัวกลับ รัฐบาลควรมีการตอบโต้มาตรการทางการฑูตต่อไป ไม่เช่นนั้นหมายจับของศาลฎีกาก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ หากข้าราชการและรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่บังคับใช้กฎหมายไม่ปฏิบัติตามหมายจับของศาล

คดีนี้สืบเนื่องจากเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้รัฐบาลเมียนมาวงเงิน 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2551 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2560 ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศขณะนั้น) ไม่มาศาลตามนัด จึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับ

ต่อมาหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2560 ทำให้คดีที่จำเลยหลบหนีการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ สามารถนำกลับมารื้อฟื้นพิจารณาต่อไปได้ลับหลังจำเลย

สำหรับคดีนี้เป็นการออกหมายจับที่ 4 ของนายทักษิณ โดยก่อนหน้านี้มีการออกหมายจับในคดีออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิต, คดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ กับกลุ่มกฤษดามหานคร และคดีอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.ทีพีไอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :