ไม่พบผลการค้นหา
จาก 'โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย' ถึงการออก 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' สู่การฝึกอาชีพ ตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 5 หมื่นล้าน โมเดลแก้ปัญหาความยากจนยุครัฐบาล คสช. กับการใช้งบประมาณรวมๆ กว่า 1.2 แสนล้านบาท ช่วยคนไทยหายจนได้หรือไม่?

รัฐบาล 'คสช.' เริ่มต้นโครงการ 'ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ' ครั้งแรกในปี 2559 โดยมีการเปิดให้ลงทะเบียนผ่านธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค. 2559 โดยในรอบนั้น กำหนดคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนไว้ ว่าต้องมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ซึ่งพบว่า มีคนลงทะเบียนทั้งสิ้น 8.3 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านคน และ ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกรอีกราว 2.9 ล้านคน

จากนั้นรัฐบาล 'ชิมลาง' จัดสวัสดิการให้ด้วยวิธีการ 'แจกเงิน' เข้ากระเป๋าให้ ซึ่งผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับการโอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 3,000 บาท/คน ส่วนผู้มีรายได้มากกว่า 30,000-100,000 บาท/ปี ได้รับการโอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 1,500 บาท/คน โดยจ่ายระหว่างวันที่ 1-30 ธ.ค. 2559 และต่อมาได้ขยายออกไปให้จ่ายจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2560 เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรค เช่น ผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้ การตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จล่าช้า เป็นต้น

เบ็ดเสร็จแล้วในเวลานั้น รัฐบาลใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 19,290 ล้านบาท แบ่งเป็น การจ่ายให้แก่ 'ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร' ราว 5.4 ล้านคน เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 12,750 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการจ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกร

'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อ้างถึงเหตุผลที่รัฐบาลต้องใช้วิธีแจกเงินเข้ากระเป๋าผู้มีรายได้น้อยรอบนั้นว่า เนื่องจากระบบอีเพย์เม้นต์ (ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์) ที่จะใช้สำหรับจัดสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยเรื่องค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าเดินทาง ยังไม่พร้อม

ผู้มีรายได้น้อยจากลงทะเบียนปีแรก 8.3 ล้านคน สู่ปีที่สอง เพิ่มเป็น 14.1 ล้านคน

ต่อมา เมื่อเข้าสู่ปี 2560 รัฐบาล 'คสช.' จัดให้มีการเปิดรับลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นใหม่อีกครั้ง ในช่วงระหว่างวันที่ 3 เม.ย.-15 พ.ค.2560 โดยกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงทะเบียนในรายละเอียดมากขึ้น ประกอบด้วย 1) ต้องมีสัญชาติไทย 2) ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 3) ว่างงานหรือมีรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2559 ไม่เกิน 100,000 บาท 4) ทรัพย์สินทางการเงิน ไม่เกิน 100,000 บาท และ 5) หากมีที่อยู่อาศัยบ้านหรือทาวเฮ้าส์ต้องมีพื้นที่ ไม่เกิน 25 ตารางวา หรือมีห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร ส่วนกรณีที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ และหากมีที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

พร้อมกับเปิดให้ลงทะเบียนได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น เช่น ผ่านธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย กรมบัญชีกลาง (คลังจังหวัด 76 แห่ง) กรมสรรพากร และ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 แห่ง ซึ่งพบว่า มีผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน ผ่านคุณสมบัติประมาณ 11.4 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ประมาณ 8.3 ล้านคน ที่เหลือมีรายได้ 30,000-100,000 บาท/คน/ปี

ทั้งนี้ การจ่ายสวัสดิการแห่งรัฐในรอบปี 2560 ครม. เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 50,000 ล้านบาท (ภายหลังถูกตัดในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เหลือ 46,000 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเงินที่จะต้องมีการ 'เติม' ลงใน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ทุกเดือน รวมแล้ว 41,940 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้ในการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนเหล่านี้

สำหรับเงินที่เติมในบัตร จะแบ่งออกเป็น 2 หมวด ได้แก่ หมวดการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ประกอบด้วย 1) วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตดุดิบเพื่อการเกษตรจากร้านธงฟ้า โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี จะได้รับ 300 บาท/คน/เดือน ส่วนผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท จะได้รับ 200 บาท/คน/เดือน และ 2) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3เดือน และ หมวดการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย 1) วงเงินค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาท/คน/เดือน 2) วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท/คน/เดือน และ 3) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท/คน/เดือน

นอกจากนี้ ในส่วนของ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' นั้น ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2560 อนุมัติให้กรมบัญชีกลาง ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้งบฯ กลาง จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1,581 ล้านบาท ในการดำเนินการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้เริ่มแจก 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า "บัตรคนจน" ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2560 และ ผู้ถือบัตรก็เริ่มต้น "รูดบัตร" ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นมา

จากนั้น กระทรวงการคลัง ก็เดินหน้ามาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ เรียกว่า "บัตรคนจน เฟส 2" เพื่อพุ่งไปสู่เป้าหมายการลดจำนวนคนจน (ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ รายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี) ให้น้อยลง หรือหมดไป โดยตลอดเดือน ก.พ. 2561 มีการเปิดให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการอยู่แล้วเข้ามาแจ้งความประสงค์ที่จะขอเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

เล็งตั้ง 'กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก' เป็น 'กองทุนถาวร'

'สุทธิรัตน์ รัตนโชติ' อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า จะมีการประเมินผลโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อดูว่าจะมีนโยบายต่อไปอย่างไร หลังจากดำเนินโครงการมา 8 เดือน ได้มีการใช้เงินจาก 'กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก' ไป 27,000 ล้านบาท เพื่อเติมเงินในบัตรเดือนละ 3,000 ล้านบาท (จากเงินกองทุนที่มีอยู่ 46,000 ล้านบาท)

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่โครงการนี้อีกรวมกว่า 53,000 ล้านบาท จากงบประมาณเพิ่มเติมปี 2561 จำนวน 13,872 ล้านบาท และ จากงบประมาณปี 2562 อีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งทางกรมบัญชีกลางเตรียมเสนอกฎหมายเพื่อยกระดับกองทุนดังกล่าวให้เป็นกองทุน 'ถาวร'

'พรชัย ฐีระเวช' ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการฝึกอาชีพว่า ได้มีการสัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer: AO) ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา รวมทั้งได้มีการขยายเวลาการสัมภาษณ์ถึงเดือน พ.ค. 2561 เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเองและรายได้ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

พบว่ามีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแสดงความประสงค์เข้าร่วมการพัฒนาตนเองเป็นจำนวนมาก โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในกลุ่มนี้จะได้รับการเติมเงินส่วนเพิ่ม (200 หรือ 100 บาท/คน/เดือน) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ที่ไม่ประสงค์จะพัฒนาตนเอง กระทรวงการคลังจะเริ่มหยุดการเติมเงินส่วนเพิ่มดังกล่าวในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป

"การดำเนินการในขั้นตอนถัดไป คือ การส่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้หน่วยงานพัฒนาเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาตามแผนการพัฒนาตนเองที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละราย ได้แจ้งความประสงค์ไว้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการพัฒนาตนเองดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และจะแจ้งความคืบหน้าให้สาธารณชนรับทราบเป็นระยะต่อไป" นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากนี้คงต้องติดตามการประเมินผลว่า การฝึกอบรมอาชีพจะทำให้คนเหล่านี้มีรายได้เพิ่มจนพ้นเส้นความยากจนได้ขนาดไหน ซึ่ง รมว.คลังเคยประกาศไว้ว่า ต้องประเมินทุก ๆ 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขของผู้ที่ไม่เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ ที่เบื้องต้นพบว่า จะมีไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านราย ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการเติมเงินเพิ่มให้ แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่าเรื่องเงิน คือ คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สุดท้ายแล้ว รัฐบาล คสช. ไม่สามารถ "เคลม" ได้ว่า ได้แก้ปัญหา จนกระทั่ง ...คน (รายได้ต่ำกว่าเส้นความ) ยากจน" หมดไปจากประเทศไทยแล้ว