อันดับ 3 พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.เขต 33 เสียง คาดว่าได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 58 เสียง รวม 88 เสียง
อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขต 33 ที่นั่ง คาดว่าได้บัญชีรายชื่ออีก 21 ที่นั่ง รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 54 เสียง
อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทยกวาด ส.ส.เขต 39 ที่นั่ง และคาดว่าได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาเติมเต็มอีก 13 ที่นั่ง
นี่คือผลการเลือกตั้งของ 5 พรรคการเมืองที่ได้คะแนน ส.ส.สูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้
หากย้อนไปก่อนวันเลือกตั้งที่ 24 มี.ค. 2562
พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนมาโดยตลอดว่าจะไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่ร่วมมือ คสช. ในการสืบทอดอำนาจ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่
พันธมิตรทางการเมืองในปีกประชาธิปไตย หลังผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.ออกมา แม้จะไม่มีคำประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ในขณะที่พรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรฝ่ายคสช. ประกาศจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อสมัยที่ 2
คือพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย
ขณะที่พรรคการเมืองขั้วที่ยังไม่แสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการจะเลือกข้างฝ่ายใด
ประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้พบบทเรียนความพ่ายแพ้ที่สุดภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคที่ชื่อ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ซึ่งเป็นการแพ้เลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 หลังประกาศจุดยืนด้วยการไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่านการชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กลายเป็นผลสะเทือนให้ฐานเสียงเดิมเปลี่ยนไปเข้าคูหากาพรรคพลังประชารัฐ
"จะร่วมกับพลังประชารัฐมั้ย ผมก็บอกผมพูดชัดแล้ว อะไรที่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ อะไรที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เราไม่ร่วม แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐ เขาไม่มี 2 เงื่อนไขนี้ ก็คุยกันได้" นายอภิสิทธิ์ ปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2562 ประกาศย้ำจุดยืนก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในอีก 2 วันหลังจากนั้น
และคำประกาศในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลสะเทือนมายังยอด ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่สอบตกเมื่อพ่ายแพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐในหลายเขตที่เป็นฐานเสียงเดิม
ขณะที่ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้คะแนนนิยมทั่วประเทศมาเป็นอันดับ 1 คือ 7.9 ล้านเสียง แต่ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 2 ประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย
"พรรคพลังประชารัฐยังคงยืนยันแนวทางที่เราได้ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าพรรคใดรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้" นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุ
และทำให้พรรคการเมืองซีกประชาธิปไตยคัดค้านกับท่าทีของพรรคพลังประชารัฐทันที
เมื่อพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งคาดว่าได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 11-12 ที่นั่ง ท้วงติงพรรคพลังประชารัฐที่เสียมารยาททางการเมือง
"พรรคพลังประชารัฐมาเป็นที่ 2 ควรมีมารยาท หยุดการเคลื่อนไหว อย่างพรรคเสรีรวมไทยไม่แสดงตัวที่จะตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุ
ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองซีกประชาธิปไตยจึงนัดหมายพรรคการเมืองพันธมิตรผนึกกำลังแถลงข่าวจุดยืนเดินหน้าตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยด้วยตัวเลข ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 เสียง
ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย โดยจะมีพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่
หากผลการรวมตัวในสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงไม่ต่ำกว่า 250 เสียง
นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองที่เหลือจะมีเสียงในสภาไม่เกินกึ่งหนึ่งกลายเป็นเสียงข้างน้อยในทันที
เสียงข้างน้อยในสภาที่แน่ชัดคือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย
ในขณะที่พรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนอย่างแน่ชัด ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา จะเป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะทั้ง 4 พรรคมีจำนวน ส.ส.รวมกันไม่ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง
เสียงไม่ต่ำกว่า 50 ที่นั่ง ของพรรคภูมิใจไทยจึงมีราคาในการต่อรองทางการเมืองทันที
หากจับคำพูดของ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่พูดล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2562 จะพบว่ามีอาการแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ฟันธงว่าจะเลือกข้างใด
"พรรคภูมิใจไทยไม่เคยพูดว่าจะไม่เอานายกฯ ที่ไม่มาจาก ส.ส."
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ยังยืนได้ไหมว่าจะไม่สนับสนุนนายกฯ ที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ทว่า 'อนุทิน' ตอบว่า "ผมไม่เคยพูดคำนี้ น้องชอบพูดคำนี้ ผมไม่เคยพูดคำว่าไม่สนับสนุนนายกฯที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ผมบอกว่าพรรคภูมิใจไทยจะไม่สนับสนุนให้นายกฯ ที่มีเสียงข้างน้อยเป็นนายกฯ"
คำประกาศยืนยันของ 'อนุทิน' จึงทำให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประกาศท่าทีทางการเมืองยืนข้างฝ่ายประชาธิปไตย ออกปากชวนให้ 'อนุทิน' มายืนข้างพรรคการเมืองฝ่ายเดียวกัน โดยลอยแพ และโดดเดี่ยวให้พรรคพลังประชารัฐเป็นเสียงข้างน้อยในสภาล่าง
และหากย้อนไปจับคำพูดของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2562 ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง 2 วัน
เขาย้ำจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยไว้อย่างน่าคิดว่า "ภูมิใจไทยจะให้อันดับ 1 ตั้งรัฐบาลก่อน
"ภูมิใจไทยจะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีทางการเมืองให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญก็คือ ภูมิใจไทยจะสนับสนุนผู้นำ หรือรัฐบาลที่มีความมั่นคง ไม่ใช่สนับสนุนเข้าไปแล้วทำงานไม่ได้"
"พรรคอันดับ 1 ส่วนใหญ่เขาจะรวบรวมอยู่แล้ว รวบรวมไม่ได้ก็เป็นพรรคอันดับ 2 สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์" อนุทิน ขยายความเพิ่มเติม
'อนุทิน' ยังปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เสียงถึงขั้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้
ด้วยสภาพการเมืองหลังการเลือกตั้งเป็นการแบ่งขั้วสองข้างอย่างชัดเจน
ด้วยที่นั่งในสภาไม่มีที่ว่างขั้วที่สามให้นั่งได้ เพราะต้องเลือกว่าจะเป็นซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
การเดินเกมรุกทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตยในวันที่ 27 มี.ค. เพื่อรวมเสียงเบื้องต้นอย่างต่ำ 250 เสียงไว้
จึงเสมือนเป็นการกดดันให้พรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจน ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกข้างฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจ คสช.
การเมืองไทยหลังเลือกตั้งจึงไม่ใช่การเมืองสามก๊กตามที่พรรคการเมืองบางพรรคประกาศไว้ จนพบบทเรียนที่แสนเจ็บปวดในวันนี้!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง