ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะที่ยะลาเริ่มดีขึ้น หลังเกิดฝนตกลงมาช่วยบรรเทา แต่แพทย์ยังให้กลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง

สถานการณ์หมอกควัน จากอินโดนีเซีย ที่เข้าปกคลุมพื้นที่จังหวัดยะลา ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน เป็นต้นมา ทำให้พื้นที่จังหวัดยะลา เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ หรือ PM 2.5 วัดได้สูงสุดเมือวันที่ 24 ก.ย. มีค่าที่ 88 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ ซึ่งถือว่ามีค่าสูงสุดในรอบเดือนที่ผ่านมา นั้น

ในวันนี้ (25 ก.ย.) สภาพสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่จังหวัดยะลา เริ่มลดลง หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา เกิดฝนตกลงมา 2 ระลอก ตั้งแต่ช่วงเย็น และตอนดึก กรมควบคุมมลพิษวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศเมื่อเวลา 06.00 น.อยู่ในระดับ 45 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ทำให้ในบริเวณสวนขวัญเมืองยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา เริ่มมีผู้คนออกมาเดิน วิ่ง และปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพมากขึ้น หลังจากที่ต้องหยุดไปหลายวัน

นายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ ผู้อำนวยสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 สงขลา เปิดเผยว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง วัดค่าได้ อ.เมืองตรัง 26 ไมโครกรัม อ.เมืองพัทลุง 26 อ.เมืองสตูล 32 อำเภอหาดใหญ่ 35 อ.เมืองปัตตานี 25 อ.เมืองนราธิวาส 32 และ อ.เมืองยะลา 45 (สีเหลือง ระดับปานกลาง) จำนวนหน้ากากอนามัย ที่ได้แจกจ่ายไปแล้ว ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง รวม 203,150 ชิ้น พื้นที่ จ.สงขลา จ่ายมากที่สุด คือ 104,500 ชิ้น จังหวัดพัทลุง จ่ายน้อยที่สุด คือ 9,000 ชิ้น จำนวนผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค สะสมตั้งแต่ 9-24 ก.ย. 2562 แบ่งเป็นกลุ่มตาอักเสบ จำนวน 10,530 ราย กลุ่มโรคหัวใจและเลือด จำนวน 205,358 ราย กลุ่มโรคทางเดินหายใจ จำนวน 395,648 รายและกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ จำนวน 36,267 ราย จำนวนผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.สงขลา จำนวน 431,972 ราย จำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด คือ จ.ปัตตานี จำนวน 17,050 ราย ส่วน จ.ยะลา มีผู้ป่วย 59,549 ราย

แต่อย่างใดก็ตามในระยะนี้สภาพอากาศที่แปรปรวนอาจพัดพากลุ่มหมอกควันจำนวนมากเข้ามาปกคลุมในพื้นที่เมืองยะลาอีกระลอก ประชาชนจึงควรติดตามสถานการณ์หมอกควันอย่างต่อเนื่อง และป้องกันสุขภาพตามข้อแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ส่วนกลุ่มเสี่ยงเด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือดควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้นเช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :