ในบริบทการเมืองไทย แม้เราไม่อาจแบ่งแนวคิดทางการเมืองเป็น ขวา-ซ้าย ได้แบบสากล อีกทั้งในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ปีกอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยม (รอยัลลิสต์) ก็ใช้คำ ‘ประชาธิปไตย’ เช่นเดียวกับปีกเสรีนิยม จนเกิดความสับสนและแย่งชิงนิยามความหมายกันมาโดยตลอด ถึงอย่างนั้น เราก็พอมองเห็นร่องรอยความต่างอย่างสำคัญได้ กลุ่มอนุรักษ์นิยมรอยัลลิสต์ที่เรียกรวมๆ ง่ายๆ ว่า ‘ฝ่ายขวา’ มีความปรารถนาในการรักษาสถานะเดิมหรือธรรมเนียมที่ตกทอดสืบมา บนพื้นฐานของความไม่เท่ากัน-ช่วงชั้นของคน และมีแนวโน้มต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ขั้วตรงข้ามยืนยันต้องการความเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนไหวบนฐานคิด ‘คนเท่ากัน’
ความขัดแย้งทางแนวคิดนี้ปรากฏอยู่ตลอดเส้นทางประชาธิปไตยไทย หลายครั้งนำไปสู่ความรุนแรงหรือโศกนาฏกรรมทางการเมือง ในปัจจุบัน ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘(คณะ)ราษฎร 2563’ ที่มีข้อเรียกร้องแหลมคมยิ่งอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็มีกระแสความเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาที่ดำเนินอยู่คู่ขนานโดยมีความคิดจุดยืนในทางตรงกันข้าม แต่ปฏิบัติการของฝ่ายขวายุคใหม่ยังเป็นสิ่งที่สังคมมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ‘วอยซ์’ จึงรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจแนวคิด ความหลากหลายของกลุ่ม กระทั่งปฏิบัติการที่อาจแตกต่างจากอดีตที่เราเคยรับรู้
การปรากฏตัวของกลุ่มขวาใหม่ที่ชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นหลังกรณีล้อมขบวนเสด็จของพระราชินี เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 สัปดาห์ต่อมาก็เกิดกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ พร้อมเครือข่าย 33 กลุ่ม ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าว พร้อมประกาศเชิญชวนผู้ที่จงรักภักดีออกมาร่วมแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันฯ 5 เดือนต่อมากลุ่มนี้เคลื่อนไหวอีกครั้งที่เซ็นทรัลเวิลด์ หลังปรากฏข่าวเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม
“จริงๆ อาชีวะสนใจการเมืองมานานแล้ว อยู่คู่ขนานกันมาตั้งแต่รุ่นกระทิงแดง (2516-2519) เป็นการ์ด เป็นกำแพงด่านหน้าให้กับนักศึกษา แต่พอมาวันนี้ นักศึกษาเขาไปฝั่งโน้นกันเยอะ เขาซึมซับเรื่องที่บางครั้งมันก็จริง บางครั้งก็ไม่จริง เราไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่าเรื่องที่เขารู้มันไม่จริง” อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ ‘เต้ บุรณพนธ์’ เคยให้สัมภาษณ์ (6 มี.ค.64)
อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี
ท่อนฮุกเพลง อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี ประพันธ์คำร้องโดย เทพนม สุวรรณะบุณย์ กลายเป็นคำขวัญของกลุ่มนี้ซึ่งมีบทบาทเป็นหัวขบวน รวมทั้งเป็นตัวกลางประสานเครือข่ายต่างๆ โดยทางกลุ่มประกาศชัดว่าจะยึดหลัก ‘สันติวิธี’ ไม่ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว หากไม่ถูกยั่วยุหรือทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยจากฝั่งตรงข้ามก่อน
อย่างไรก็ดี แม้เหตุการณ์แสดงพลังโดยส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางดังกล่าว แต่ก็มีรายงานการทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่างที่เข้าไปแสดงสัญลักษณ์ในพื้นที่ชุมนุมของพวกเขาอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น
ชุดดำ แว่นดำ หมวกดำ ปกปิดใบหน้ามิดชิด อกขวาของเสื้อติดธงชาติไทย ด้านหลังมีข้อความ “ในเงามืด จักมีเรา เฝ้าบัลลังก์” คือ เครื่องแต่งกายของกลุ่ม ‘ฉก.องค์ดำ’ หรือ ชุดปฏิบัติการณ์พิเศษเฉพาะกิจองค์ดำพิทักษ์องค์ราชัน หรือ กลุ่มนักรบองค์ดำสองคาบสมุทร
นักรบองค์ดำหมายเลข 044 บอกเล่าที่มาของกลุ่มในรายการ เยาวชนค้นหาความจริง ที่มีคชโยธี เฉียบแหลม เป็นผู้ดำเนินรายการว่า เดิมกลุ่มมีชื่อว่า นักรบศรีวิชัย สองคาบสมุทร เคยมีบทบาทในช่วงปี 2548-2552 เป็นการ์ดช่วงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุม ปรากฏตัวอีกครั้งช่วงปี 2556-2557 ที่ กปปส.เคลื่อนไหว แต่หลังเกิดกรณี ‘มือปืนป๊อบคอร์น’ จึงเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็นนักรบองค์ดำฯ จนมาปัจจุบัน
กลุ่มดังกล่าวมี สุเมธ ตระกูลวุ่นหนู เป็นหัวหน้ากลุ่ม และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปัจจุบันหลังมีการบุกบ้านชายคนหนึ่งที่จังหวัดระยอง เพราะเขาแสดงความเห็นถึงสถาบันฯ ผ่านเฟซบุ๊ก ภาพที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์คือ ชายคนดังกล่าวก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์ ล้อมรอบด้วยสมาชิกกลุ่มนักรบองค์ดำฯ
"ปัจจุบันเรารบกันด้วยสื่อครับ เพราะน้องๆเยาวชนจำนวนมากกำลังหลงผิดและโดนล้างสมองจากคนที่คิดไม่ดีต่อสถาบันฯ เราเลยมีแนวความคิดว่าจะสู้ด้วยสันติวิธี... แต่ถ้าสถานการณ์สุกงอม คือควบคุมอะไรไม่ได้แล้ว เมื่อนั้นเราพร้อมปกป้องชาติและสถาบันฯ จนตัวตายครับ" สุเมธ ตระกูลวุ่นหนู หัวหน้ากลุ่มนักรบองค์ดำ เปิดใจผ่านเพจนักรบองค์ดำ สองคาบสมุทร
ช่วงปี 2564 ปรากฏกลุ่ม ศชอ. หรือ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด Bully ทางสังคมออนไลน์ โดยมี แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นประธานกลุ่ม และ พลดล พรหมภาสิต เป็นเลขาฯ
ศชอ.เคลื่อนไหวในโลกโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทั้งเฟซบุ๊กและ TikTok ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและเป็นยามเฝ้าจอคอยตรวจสอบผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่พวกเขาเห็นว่าหมิ่นสถาบัน แล้วนำหลักฐานไปแจ้งความดำเนินคดี มาตรา 112 , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีสมาชิกกลุ่มกระจายอยู่ทั่วประเทศ
"ประชาชนโดนบูลลี่ก็แจ้งเรามา ถ้าเจตนารมณ์เราคือช่วยเหลือคนที่ถูกบูลลี่ ตอนนี้สถาบันฯ ก็โดนบูลลี่เหมือนกัน" เลขาฯ ศชอ. กล่าวในรายการ ขอชัดชัด ช่อง TOP NEWS (21 เม.ย.64)
ก่อนหน้านี้ กลุ่มเรียกตนเองว่า ‘Avengers’ (ชื่อทีมซุปเปอร์ฮีโร่ในหนังภาพยนต์) โดยให้เหตุผลว่า คนที่จะมาเป็นสมาชิกกลุ่มได้ต้องแข็งแกร่งและใจกล้า ไม่กลัวโดน ‘ทัวร์ลง’ แต่ล่าสุดเมื่อต้น มิ.ย. ทางกลุ่มเรียกตัวเองใหม่ว่า ‘กองทัพมินเนี่ยนปกป้องสถาบันฯ’
“เราถูกตั้งฉายาเป็นไดโนเสาร์บ้าง เป็นสลิ่มบ้าง ล่าสุดเราถูกตั้งฉายาเป็นมินเนี่ยน เพราะว่ามินเนี่ยนใส่เสื้อเหลือง เขาเหน็บแนมว่า ใส่เสื้อเหลืองแล้วทรงพลัง ซึ่งก็เป็นพลังรักชาติรักแผ่นดิน และด้านล่างก็จะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีของสถาบันฯ เลยแต่งประชดกันไปซะเลย” วริศนันท์ ศรีบวรกิตติ์ หนึ่งในสมาชิก ศอช. ให้สัมภาษณ์สื่อ (1 มิ.ย. 64)
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2563 ศอช. เดินทางไปรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี และได้รับลายพระหัตถ์ให้กำลังใจจากพระองค์ “ขอบคุณที่เป็นกำลังที่แข็งแรง ขอให้ทุกท่านประสบความสุข ความเจริญถ้วนหน้าค่ะ” ข้อความนี้ถูกนำมาทำเป็นป้ายที่ ศอช. นำติดตัวมาด้วยเมื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้อื่น (1 มิ.ย.64)
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดจงรักภักดีต่อสถาบันฯ มี กิตติศักดิ์ หรือนัท เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเหตุที่ที่ใช้ ‘ไท’ แบบไม่มี ย.ยักษ์ ว่าต้องการสื่อถึง ประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ถูกครอบงำจากชาติตะวันตก รวมถึงการได้รับอิสรภาพจากการเลิกทาสสมัย ร.5 ปัจจุบันกลุ่มไทรักษามีเครือข่ายแยกออกไปอีก 3 กลุ่ม คือ สถาบันหลักและการชุมนุม, Vnew, นักเรียนดี โดยมีสมาชิกคนทำงานกว่า 40 คน ทั่วประเทศ โดยมีอายุตั้งแต่ 30 ปีลงมา ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษาเป็นสมาชิกกลุ่ม
จุดเด่นของกลุ่มนี้คือ ให้ความรู้ประวัติศาสตร์จารีตกระแสหลักผ่านการปราศรัย-เฟซบุ๊กเพจ และตอบโต้โดยตรงกับข้อมูลที่กลุ่มราษฎรปราศรัย เช่น เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ หรือประวัติศาสตร์คณะราษฎร เป็นต้น
กลุ่มไทรักษาเป็นกลุ่มเดียวที่เสนอยกเลิกการสวมเสื้อสีเหลืองมาชุมนุมและเสนอให้สวมเสื้อขาวแทน โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้สีของพระราชาแปดเปื้อนความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น (กล่าวในไลฟ์เพจไทรักษา เมื่อ 30 พ.ค. 64) ดังเช่นกรณีการปะทะกันของผู้ชุมนุมเหลือง-แดงเมื่อ 2 ก.ย.2551 ที่แยก จปร. จนมีผู้เสียชีวิตเป็นเสื้อแดงชื่อ ณรงศักดิ์ กรอบไธสง และกรณีเสื้อเหลืองปะทะกับกลุ่มราษฎรที่แยกเกียกกายเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63
อย่างไรก็ดี กลุ่มต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนของกลุ่มขวาใหม่ที่เคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-2564 ทั่วประเทศไทย ในส่วนกลุ่มย่อยอื่นๆ สามารถดูได้ในตารางด้านล่างสุดของบทความนี้
กลุ่มคนที่ชูสโลแกนปกป้องสถาบันฯ ในช่วงปี 2563-2564 มีวิธีการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบและกระจายหน้าที่กัน ทั้งการออกมาตอบโต้การกระทำของกลุ่มคณะราษฎร, การไล่ฟ้องมาตรา 112 ในโลกออนไลน์, แถลงการณ์เร่งดำเนินคดี-ถอนประกันต่อแกนนำ, การนัดหมายรวมตัวแสดงพลังทั้งในกรุงเทพฯ, และต่างจังหวัด รวมถึงการเดินทางไปกดดันผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันฯ ถึงหน้าบ้าน
เราสามารถจำแนกรูปธรรมความเคลื่อนไหวได้ 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.ปฏิบัติการกดดันถึงตัว
กลุ่มนักรบองค์ดำฯ, กลุ่มนักรบศรีวิชัย เป็นต้น ใช้วิธีบุกถึงบ้านผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันฯ มีการประสานผ่านกรมการปกครอง ผู้นำชุมชน เพื่อกดดันให้เป้าหมายได้สำนึกผิด และกราบขอขมาต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ตัวอย่างเช่น
“บัดนี้ ข้าพเจ้านาย xxx ได้สำนึกผิดในการกระทำของข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจึงกราบขอพระองค์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้แก่ข้าพพุทธเจ้าด้วยเถิด และข้าพเจ้าจะไม่กระทำการมิควร ล่วงเกิน จาบจ้วง ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป หากภายภาคหน้าข้าพเจ้าได้กระทำการผิดตระบัดสัตย์ล่วงเกินต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีก ขอให้ข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้าเป็นอันวิบัติทั้งสิ้น หรือให้เจอแต่โชคร้ายในชีวิตตลอดกาล แต่หากข้าพเจ้าทำตามสัจจะวาจาที่ได้ให้ไว้ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ตราบชั่วชีวิตกัลปาวสานเถิด สาธุ สาธุ สาธุ” ข้อความปฏิญาณตนที่ทางกลุ่มนักรบองค์ดำให้อ่านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ก่อนกราบพระบรมฉายาลักษณ์
อย่างไรก็ตามกลุ่ม ‘We volunteer’ ในฐานะ ‘ศูนย์ร้องทุกข์ช่วยเหลือราษฎรจากการคุกคามโดยกลุ่มอ้างปกป้องสถาบันฯ’ รวบรวมเคสที่มีผู้เข้ามาแจ้งถูกคุกคามจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ได้ทั้งหมด 6 กรณี จาก จ.ระยอง, จ.เพชรบูรณ์, จ.สมุทรปราการ, จ.พิษณุโลก และจังหวัดอื่นๆ (อัพเดต 12 มิ.ย. 64)
เมื่อเป้าหมายดำเนินการขอขมาแล้วก็จะไม่มีการดำเนินคดี อย่างกรณีแรก บุญเลิศ แวววับศรี ผู้ใหญ่บ้าน ต.ทุ่งควายกิน ยืนยันว่าไม่มีการดำเนินคดีต่อชายคนดังกล่าวต่อแม้หลังเหตุการณ์จะมีตำรวจเชิญผู้ใหญ่บ้านไปสอบปากคำ รวมถึงกรณีหญิงสาวเพชรบูรณ์ก็ไม่มีการดำเนินคดีต่อเช่นกัน
2.ตำรวจออนไลน์
ศชอ.เคลื่อนไหวแบบเฝ้าหน้าจอ (Monitor) ตรวจดูการแสดงความเห็นเชิงหมิ่นสถาบันในโลกออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก, TikTok และ Instagram โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมส่งหลักฐาน ภาพหน้าจอ ตัวตนผู้เขียนข้อความ พร้อมส่งลิงก์ต้นทางมาให้ทางเพจ ศชอ.ตรวจสอบ คัดกรอง ก่อนรวบรวมเอกสารส่ง ปอท. โดยทางกลุ่มประกาศว่าจะรวบรวมหลักฐาน ส่ง ปอท. ในทุกๆ 10 วัน หลังจากนั้นทางกลุ่มจะส่งเอกสารแจ้งให้เจ้าตัว และที่ทำงานต้นสังกัด/ สถานศึกษา (กรณีนักเรียนนักศึกษา) ทราบผ่านทางทางอีเมลหรือแชทเฟซบุ๊ก และติดตามบทลงโทษจากทางต้นสังกัด หากต้นสังกัดไม่มีบทลงโทษ ทางกลุ่มดังกล่าวจะดำเนินมาตราการทางสังคมต่อไป
ปัจจุบัน กลุ่ม ศชอ.ยื่นเอกสารฟ้องดำเนินคดีมาตรา 112 ให้ ปอท. ไปแล้วอย่างน้อย 2 คือ เมื่อ 1 มิ.ย. 64 จำนวนกว่า 41 ราย และ 10 มิ.ย. 2564 จำนวนกว่า 90 ราย (10 มิ.ย.64) หนึ่งในนั้นมีเยาวชนอายุ 14 ปี ที่ จ.พิษณุโลกรวมอยู่ด้วย โดยส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษา, คนทำงาน, ผู้ประกอบการอิสระ, บุคลากรทางการแพทย์ และข้าราชการ เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อ 27 มิ.ย. 64 ทางกลุ่ม ศชอ.ได้โพสต์ 'แผนที่ 112' ผ่านเพจ ศชอ. โดยระบุพิกัด ใบหน้าบางส่วน และโลโก้สถานที่ทำงานหรือสถานศึกษาต้นสังกัดของผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันฯ ทั่วประเทศจำนวน 1,208 คน ผ่าน (บันทึกเมื่อ 6 ก.ค. 64) Google Map อย่างไรก็ตามสังคมส่วนหนึ่งได้ตั้งคำถามและกังวลถึงความปลอดภัยต่อการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว หรือ การชี้เป้าล่าแม่มดหรือไม่
"อย่าเพิ่งรีบตาย พวกเราเพิ่งเริ่ม ตอนนี้กองทัพมินเนียนกำลังสร้างแผนที่ 112 เพื่อเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์พวก CIA ออนไลน์ ให้มียอดจากพวกสามกีบได้เยอะขึ้น ช่วยผู้ประกอบการอิสระสามกีบ ข้าราชการสามกีบและที่ทำงาน นักเรียนนักศึกษาและสถาบัน บุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล 9ฯ9 บนแผนที่บางคนไม่ใช่จะได้พิซซ่าแค่ถาดเดียว เรากำลังจะบอกพวกมันว่า เดือนมหามงคลที่จะมาถึง มึงอย่าซ่ามากนัก" ข้อความในไลน์ official ของกลุ่ม ศชอ.
ล่าสุด กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์' ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เนื่องจากเป็นการกระทำที่มีเจตนาแสดงให้เห็นว่าต้องการจะแจ้งต่อสาธารณชนว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่กระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ชัดเจนว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ และอาจจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท, ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ และความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ และถึงแม้กลุ่มดังกล่าวจะใช้รูปแบบการเปิดเผยใบหน้าและปิดคาดดวงตาไว้ แต่หากคนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ก็ถือว่าเป็นความผิด
ต่อมาเมื่อ 28 มิ.ย. 64 เวลาประมาณ 15.00 น. เพจ ศชอ. ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฟซบุ๊กระบุว่า "เนื้อหานี้ไม่พร้อมใช้งานในขณะนี้" เนื่องจากทาง บริษัท Google ออกมาประกาศว่า ได้ลบหน้าเว็บแผนที่ออกแล้ว เนื่องจากขัดต่อนโยบายของ My Maps ฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
3. ตอบโต้ด้วยข้อมูล
กลุ่มนักเรียนดี, Vnew, กลุ่มเยาวชนช่วยชาติ, กลุ่มคลื่นซัดเป็ด, Next Gen คนรุ่นใหม่รักสถาบันฯ และกลุ่มไทรักษา เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ยึดถือความจงรักภักดีต่อสถาบัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มไทรักษา โดยมี กิตติศักดิ์ หรือนัท เป็นผู้นำกลุ่ม เนื่องจากเป็นกลุ่มเดียวที่เคลื่อนไหวด้วยชุดข้อมูลและให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์กระแสหลัก อีกทั้งยังเป็นกลุ่มเดียวที่ตั้งปฏิญาณว่าจะไม่เรียกม็อบคณะราษฎรว่า “สามกีบ” โดยให้เหตุผลว่า ต้องให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่าย และจำเป็นต้องต่อสู้ด้วยภาพลักษณ์ที่ดี ไม่โจมตีเพื่อสร้างความเกลียดชัง
เมื่อ 1 มิ.ย.64 ช่วงที่พรรคก้าวไกลอภิปรายร่างงบประมาณ 2565 เกี่ยวกับงบสถาบันกษัตริย์ จำนวน 3.37 หมื่นล้าน 2 วันต่อมา กลุ่มไทรักษา นำป้ายข้อความ “ในงบสถาบัน 3.3 หมื่นล้าน กว่า 1.5 หมื่นล้าน คืองบโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่สร้างรายได้ให้ประชาชนตามต่างจังหวัดอยู่ในตอนนี้” ไปชูที่บริเวณสกายวอร์ค MBK พร้อมแฮชแท็ก #ควรได้รับความเป็นธรรม โพสต์ดังกล่าวได้รับการแชร์จำนวน 6,800 แชร์ (13 มิ.ย. 64)
ต่อมา เมื่อ 24 มิ.ย. 64 ช่วงที่ม็อบราษฎรจัดกิจกรรมชุมนุมในวาระ 'วันอภิวัฒน์สยาม' ที่สกายวอร์ก กลุ่มไทรักษาก็นำป้ายข้อความ "คณะราษฎร์ ครองอำนาจกว่า 25 ปีทำการรัฐประหารถึง 6 ครั้ง หากรัฐประหารทำให้ประเทศไม่พัฒนา คณะราษฎร์ คือสาเหตุทั้งหมด" มาชูกลางพื้นที่กิจกรรมชุมนุมของกลุ่มราษฎร
“เขาเป็นมิตรดีนะ เขาเห็นเสื้อไทรักษาเขาก็แค่มอง อย่างมากก็แค่ซุบซิบยิ้มกันเท่านั้น แต่ไม่มีมาบอกว่า ไอ้นี่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งผมมองว่าเขาก็มีสปิริตอยู่ระดับหนึ่ง มันไม่ได้อันตรายอะไรเลย บรรยากาศมันเอื้อต่อการเคลื่อนไหวของเราด้วยซ้ำ มันมีเพาเวอร์มากพอที่จะส่งข้อมูลของเราได้กว้างไกลขึ้น จากสภาพแวดล้อมที่รู้สึกว่าเขาจะไม่กระทืบเรา” นัท กล่าวถึงความกังวลเรื่องความปลอดภัยในวันที่เข้าไปชูป้ายในม็อบราษฎร
นอกจากนี้กลุ่มไทรักษายังมีบทบาทถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กเพจไทรักษาถึงพระราชกรณีกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกเล่าประวัติศาสตร์จารีตกระแสหลัก และร่วมปราศรัยในการชุมนุมกลุ่มปกป้องสถาบันตามเวทีต่างๆ
“การจะปกป้องสถาบันฯ ได้ดีที่สุด ทำให้สถาบันฯ มั่นคงที่สุด... เราต้องใช้ความจริง ไม่ใช่ไปบังคับให้ใครกราบรูปในหลวง” ‘นัท’ หัวหน้ากลุ่มไทรักษากล่าวในเฟซบุ๊กไลฟ์ 30 พ.ค. 64
4. แสดงพลังในสถานที่ราชการ
กลุ่มข้าราชการ ท้องถิ่น ประชาสังคมในต่างจังหวัด มีการนัดหมายรวมตัวกันในวันสำคัญต่างๆ ของราชวงศ์จักรีทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความภักดีต่อสถาบันเป็นวาระประจำปี หากนับตั้งแต่ปี 2559 มีเหตุการณ์สำคัญอย่างน้อย 3 เหตุการณ์ที่เป็นหมุดหมาย คือ วันสวรรคต ร.9 (13 ต.ค.) วันพระราชสมภพสมเด็จย่า (21 ต.ค.) วันสวรรคต ร.5 (23 ต.ค.)
อย่างไรก็ดี เราพบว่าเฉพาะในเดือนตุลาคม ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ ‘ราษฎร63’ เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นปฏิรูปสถาบัน จัดชุมนุมถี่ๆ ก็เป็นปีแรกที่มีจำนวนกิจกรรมรวมตัวแสดงพลังความจงรักภักดีโดยสวมเสื้อเหลืองของข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในต่างจังหวัด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กระจายในหลายพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 13-31 ต.ค. รายละเอียดมีดังนี้
21 ตุลาคม 2563 จังหวัดสุรินทร์
21 ตุลาคม 2563 อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง และ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
21 ตุลาคม 2563 จ.สมุทรปราการ
21ตุลาคม 2563 ม.รามคำแหง
22 ตุลาคม 2563 จ.ปัตตานี
23 ตุลาคม 2563 จ.ชุมพร
23 ตุลาคม 2563 อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
23 ตุลาคม 2563 จ.ระนอง
23 ตุลาคม 2563 จ.ตรัง
23 ตุลาคม 2563 จันทบุรี
23 ตุลาคม 2563 จ.เชียงใหม่
23 ตุลาคม 2563 จ.แม่ฮ่องสอน
24 ตุลาคม 2563 จ.สุราษฎร์ธานี
25 ตุลาคม 2563 จ.ระยอง
25 ตุลาคม 2563 จ.ยะลา
27 ตุลาคม 2563 สวนลุมพีนี กทม.
31 ตุลาคม2563 ม.รามคำแหง
โดยใจความของข้อความแสดงเจตนารมณ์ปกป้องสถาบันฯ แต่ละจังหวัดเป็นไปในลักษณะเดียวกันว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยความมั่นคงของชาติ
“คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านเมืองของเราขณะนี้ กำลังประสบปัญหาวิกฤตด้านความมั่นคงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และมีกลุ่มที่มีความพยายามเผยแพร่ข้อมูลและแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพื่อยุยงปลุกปั่น ก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทั้งการปราศรัยจาบจ้วงให้ร้ายและการสื่อสารไปในทางลบ…ซึ่งความรุนแรงของปัญหานี้นับวันจะยิ่งมีมากขึ้นอันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ...” สุรเชษฐ์ ประยืนยง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองสงขลา กล่าวในเวทีแสดงเจตนารมณ์ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา พร้อมพสกนิกรกว่า 15,000 คน (23 ต.ค.63)
มาตรา 5 และ มาตรา 50 ในรัฐธรรมนูญ
หลังเกิดกรณีนักรบองค์ดำฯ บุกบ้านชายชาวระยองกดดันให้ขอขมา สังคมตั้งคำถามกันมากว่า ปฏิบัติการดังกล่าวนับเป็น ‘ศาลเตี้ย’ หรือไม่ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา กลุ่มนักรบองค์ดำฯ แถลงชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กพร้อมยืนยันว่าพวกเขาปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 และ มาตรา 50 อนุ 1
มาตรา 5
" รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
มาตรา 50 (1)
“มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
หากพิจารณาทีละส่วน จะพบว่า มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็คือ มาตรา 7 ซึ่งถูกชูเมื่อครั้ง พมธ.เคลื่อนไหวในปี 2548-2549 โดยตีความกฎหมายนี้เพื่อขอ “นายกพระราชทาน” และนั่นเป็นจุดแตกหักให้แนวร่วมของ พธม.จำนวนหนึ่งไม่ร่วมเดินต่อบนเส้นทางการต่อต้านรัฐบาลทักษิณของ พธม. เพราะมองว่าเป็นการตีความที่หลุดออกจากเส้นทางประชาธิปไตย เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา ‘ช่องโหว’ ของกฎหมายที่ถูกฉวยใช้ตีความในวิกฤตการเมืองซึ่งก็ยังคงสภาพนั้นอยู่จนปัจจุบัน
หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ มาตราลักษณะนี้ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกๆ หากแต่ปรากฏครั้งแรกในธรรมนูญชั่วคราวปี 2502 สมัยรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ธรรมนูญของคณะรัฐประหารมักเขียนกันสั้นมาก กรณีนี้มีเพียง 20 มาตรา ในมาตราสุดท้ายจึงบัญญัติปิดท้ายไว้ว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัยให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด”
ฉบับอื่นต่อหลังจากนั้นบางฉบับก็ตัดท่อนอื่นๆ ออกเหลือเพียงการระบุถึงสถานะกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเท่านั้น จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นเอง จึงมีการแยกข้อความออกเป็น 2 มาตราและตัดอำนาจชี้ขาดของสภาหรือ ครม.ออกไปให้เหลือเพียงการดำเนินรอยตาม “ประเพณี”
มาตรา 6 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้มิได้
มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนมาตรา 50 ว่าด้วยหน้าที่ของบุคคลนั้น พบครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2492 ยุคจอมพล ป. บัญญัติไว้สั้นๆ เพียงว่า “บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้” ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2495 จึงเขียนยาวขึ้นเป็น “บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมายป้องกันประเทศ ช่วยเหลือราชการโดยเสียภาษีอื่นๆ ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” จากนั้นข้อความทำนองนี้ปรากฏสืบต่อมาจนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ยาวบ้าง สั้นบ้าง
นอกเหนือจาก 2 มาตราดังกล่าวที่กลุ่มนักรบองค์ดำกล่าวถึง ยังมี 'มาตรา 52' หมวดหน้าที่ของรัฐ ในรัฐธรรมนูญ 2560 ข้อความว่า
"รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ แห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ กําลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย"
ที่กลุ่ม 'คลื่นซัดเป็ด' (คนรุ่นใหม่ปกป้องสถาบันฯ) นำมาใช้เป็นเหตุผลในการปกป้องสถาบันกษัตริย์อีกด้วย
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์มากขึ้น กระทั่งเรื่องนี้ถูกบรรจุลงในข้อเรียกร้องการปฏิรูปของกลุ่มราษฎรอย่างเป็นทางการ ทว่ายังคงมีกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เช่น กิตติศักดิ์ นัท ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ไทรักษา’
นัท เติบโตมาในจังหวัดพิษณุโลก ก่อนเข้ามาเรียน ม.ปลาย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะรัฐศาสตร์ ที่กรุงเทพฯ เขาสนใจอ่านประวัติศาสตร์และเรื่องที่เกี่ยวกับสงครามโลก โดยหนึ่งในหนังสือที่เขาอ่านแล้วชอบมากที่สุดคือ '70 นักสู้แห่งเกาะตะรุเตา' ซึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยช่วงหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชปี 2476 ส่งผลให้เขามีมุมมองต่อคณะราษฎรว่าเป็นผู้ร้ายหรือปีศาจที่เข้ามาทำลายโอกาสของประเทศที่ควรจะมีประชาธิปไตยที่ดีเหมือนประเทศอื่นๆ
"ถ้าบอกว่าการรัฐประหารทำให้ประเทศไม่พัฒนา คณะราษฎร คือต้นเหตุ"
นัทยังเปิดเผยอีกว่า เขาชื่นชอบ 'พระองค์เจ้าบวรเดช' เป็นอย่างมาก เพราะเป็นทหารของฝั่งเจ้าและเป็นคนที่มีอุดมการณ์จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง และเขาดีใจมากเมื่อทราบข่าวว่ากองทัพบกตั้งชื่อห้องใหม่ ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพบกว่า 'บวรเดช' เมื่อปี 2562 และในอนาคตหากได้เคลื่อนไหวทางการเมืองจะนำ 'พระองค์เจ้าบวรเดช' มาชูเป็นตัวละครในประวัติศาสตร์ฝั่งปกป้องสถาบันฯ เช่นเดียวกับกลุ่มราษฎร ที่ชูคณะราษฎร
นัท เชื่อโดยสนิทใจว่า หากไม่มีสถาบันฯ จะเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และส่งผลกระทบต่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งสถาบันฯ ยังมีบุญคุณต่อประชาชนมาตั้งแต่อดีต เช่น ทรงประดิษฐ์อักษรไทย ปกป้องแผ่นดินทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นมาได้จนปัจจุบัน
“การมีเสาหลักอยู่ในประเทศ นำพามาซึ่งความสงบ ถ้าขาดเสาหลักไปแล้ว มันจะเกิดการจลาจล เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และส่งผลต่ออนาคต ส่งผลต่อการเรียน การงาน ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราถึงต้องดำรงสถาบันฯ ไว้” นัท ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์' ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อ 14 มี.ค. 64
แม้นัทจะมองเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ต่างออกไป แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขากลับเห็นตรงกันกับกลุ่มราษฎรว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาที่ต้องแก้ไขเป็นรายประเด็น เช่นการมีอยู่ของ ส.ว.แต่งตั้ง แต่หากจะตั้ง สสร.แก้หมวด 1 หมวด 2 เขายังคงไม่เห็นด้วย ซึ่งในข้อเรียกร้อง 3 ข้อของราษฎร เขาเห็นด้วยเพียงข้อเดียวคือ การแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนการปฏิรูปสถาบันนั้นไม่เห็นด้วย 100% ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ออกไปนั้นถือเป็นเรื่องการเมืองที่เขาไม่ขอยุ่งเกี่ยว
“หมวด 1 หมวด 2 ถูกแตะด้วยคนที่ตะโกนด่าสถาบันฯ อยู่กลางสนามหลวง มันไม่ได้ถูกแตะด้วยคนที่รักสถาบันฯ อย่างแท้จริง” นัท กล่าว
นัทให้ความเห็นต่อว่า กฎหมายมาตรา 112 ยังคงจำเป็นต้องมีอยู่แต่ต้องบังคับใช้ให้เหมาะสม หรือบังคับใช้กับคนที่หมิ่นสถาบันฯ จริงๆ ไม่ใช่นำมาใช้เพื่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะหากนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง สุดท้ายมาตรา 112 ก็กลับมาทำร้ายสถาบันฯ เอง ด้วยน้ำมือของคนที่อ้างว่ารักสถาบันฯ เขายกตัวอย่างกรณีแม่ของ 'จ่านิว' ที่ถูกแจ้งความมาตรา 112 จากการพิมพ์ข้อความว่า "จ้า" ในช่องสนทนาของเฟซบุ๊ก ล่าสุด ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทรัชทายาทฯ ตามฟ้อง
“112 มีมาเป็นร้อยปีแล้ว...เราไม่สนับสนุนให้แก้ และเราไม่สนับสนุนให้เพิ่มโทษด้วย อยากให้คงไว้ บังคับใช้เป็นเคสๆ ไป อย่างเคสที่ต้องบังคับใช้ด่วนคือพวกแกนนำ แต่กับเด็กที่โดนล่อลวงไป รัฐควรมองว่าเขาหมิ่นเพราะอะไร เพราะไอโอ หรือมีการจ้าง หรือเขาถูกล่อลวงและคิดไม่ตกผลึกจริงๆ แต่ถามว่าต้องจับไหม จับ แต่จับแล้วไม่เห็นด้วยที่จะลงโทษเต็มอัตรา เพียงจับเพื่อทำให้เขารู้ว่าเขาผิด เราไม่สนับสนุนให้ต้องฆ่ากัน ต้องเอากันให้ถึงที่สุด เราก็เป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกัน เด็กๆ เขาเข้าใจผิด เขาไม่ได้มีเจตนา” นัท กล่าว
“กฎหมายเดิมมันดีอยู่แล้ว แต่อยากให้ไปแก้ไขตรงกระบวนการบังคับใช้มากกว่า ให้วิเคราะห์ว่าฟ้องเพราะอะไร มันใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเปล่า ให้มันไปอยู่ที่อัยการ แต่ถามว่าจะให้ไปแก้ตัวบทกฎหมายยังไม่เห็นด้วย” นัท กล่าว
ประเด็นเรื่องการรับรองรัฐประหาร หรือ การลงพระปรมาภิไธยที่กลุ่มราษฎรกล่าวถึงนั้น นัทมองว่าท่านทรงลงพระปรมาภิไธยเพียงแค่ 'รัฐธรรมนูญชั่วคราว' เท่านั้น มิใช่การเซ็นรับรองรัฐประหารอย่างที่กำลังถกเถียงกันในสังคม และการที่ท่านทรงลงพระปรมาภิไธยเนื่องจากไม่มีอำนาจปฏิเสธ หรือไม่มีอำนาจในทางบริหาร
"ที่ท่านทำไปเพราะท่านไม่ต้องการแทรกแซงการเมือง การไม่เซ็นนั่นแหละคือการแทรกแซง"
นัทกล่าวต่อว่า แต่มีเหตุการณ์อยู่ครั้งหนึ่งที่ท่านทรงไม่ลงพระปรมาภิไธย คือ เหตุการณ์ 'กบฏยังเติร์ก' ช่วงปี 2524 เนื่องจากผู้ก่อการไม่ประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหาร
“ที่พูดกันมันก็ไม่ใช่การเซ็นรัฐประหาร แต่มันคือการเซ็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เซ็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่คณะรัฐประหารตั้งมา แล้วท่านไม่มีอำนาจปฏิเสธ เพราะว่ามันเป็นอำนาจบริหารที่ท่านไม่มีสิทธิเลือก” นัท เคยกล่าวไว้ที่หน้าหอศิลป์ (14 มี.ค. 64)
นัทยังให้ความเห็นเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ด้วยว่า เมื่อก่อนก็เคยมีการพูดเรืองการปรับลดงบสถาบันฯ ในสภา แต่พูดภายใต้ความจงรักภักดี ไม่เหมือนปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าการพูดเรื่องงบสถาบันฯ ในปัจจุบันไม่ได้มีจากความบริสุทธิ์ใจต่อสถาบันกษัตริย์ เพียงแค่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมนอกสภาให้เกิดการชุมนุม เพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมือง
นัทยังกล่าวต่อว่า ตนเองก็ไม่เห็นด้วยในส่วนของซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่นำไปติดตั้งในสถานที่ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ควรทำเป็นกิจลักษณะและเป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ทำเพื่อของบเล่นๆ ซึ่งในจุดนี้ก็ไม่สบายใจเช่นกัน
“งบสถาบันฯ ไม่ได้มีปัญหา แต่คนนำไปใช้ต้องทำให้ดี อย่าเอาไปทำในสิ่งที่ไร้สาระ หรือทำให้พระองค์ถูกวิจารณ์ งบเฉลิมพระเกียรติต้องมี แต่ต้องเหมาะสม เพราะพระมหากษัตริย์มีคุณูประการสร้างชาติบ้านเมืองมาให้เรา” นัทกล่าว
“เรื่องทรัพย์สินก็เหมือนกัน เดิมทีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 ท่านแยกเอาไว้แล้ว ทรัพย์สินแผ่นดินท่านแยกเอาไว้เป็นทรัพย์ที่เอาไว้บริหารราชการแผ่นดิน พอคณะราษฎรทรราชมายึดอำนาจ พี่น้องครับ มันเอากรมพระคลังข้างที่ไปกระทรวงการคลัง แล้วเอาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปจำแนกแจกจ่ายกันเอง หาประโยชน์เข้าตัวเอง แบบนี้มันทำเพื่อประชาชนตรงไหน” นัท เคยกล่าวปราศรัยตอบโต้การเรียกร้องยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สิน 2561 ที่หน้าหอศิลป์ (14 มี.ค.64)
“คำถามเบสิคมาก ถามว่าตอนนี้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญไหม ในมุมของเขาคือไม่อยู่ ทุกอย่างที่เขาพยายามดึงไปเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญต้องการควบคุมกษัตริย์ทั้งนั้นเลย ถ้ากษัตริย์ไม่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญวันนี้ รัฐธรรมนูญจะแตะต้องอะไรกษัตริย์ไม่ได้เลย ถ้าแก้หมวด 1 หมวด 2 สถาบันกษัตริย์ก็กระทบ เรื่องสถาบันมีในรัฐธรรมนูญตั้ง 38 มาตรา คุณไปแตะข้อไหนที่เกี่ยวโยงกับรัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์กระทบหมด เพราะฉะนั้นในเนื้อหารัฐธรรมนูญ กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ถ้าอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะแตะต้องกษัตริย์ไม่ได้”
นัทยืนยันกับ 'วอยซ์'ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็ยังคงเชื่อและเห็นด้วยว่า มนุษย์จำเป็นต้องมีเสรีภาพทางความคิด แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
“เรามีเสรีภาพที่จะกางแขน จะแกว่งไปทางไหนก็ได้ตราบใดที่ไม่ไปโดนคนอื่น ถ้าแขนของเรากางไปโดนคนอื่น คนอื่นเขาเจ็บ เราก็ต้องรีบชักกลับเข้ามา ซึ่งหมายถึงเสรีภาพมันก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรมอันดี” นัทกล่าว
นัทได้ทิ้งท้ายความฝันอันสูงสุดของตัวเองไว้ว่า สักวันหนึ่งเขาจะต้องได้เข้าเฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10
"เราอยากจะไปรับเสด็จฯ แล้วให้ในหลวงจำเราได้ เป็นความฝันเล็กๆ แล้วมันเป็นความสุขอะเนอะ ถ้าในหลวงหันมาเห็นแล้ว..อ๋อ ขอบคุณไทรักษา"
กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ (1,379 ผู้ติดตาม)
กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ (28,138 ผู้ติดตาม)
กลุ่มนักรบองค์ดำ สองคาบสมุทร (46,947 ผู้ติดตาม)
กลุ่มนักรบศรีวิชัย สองคาบสมุทร (352 ผู้ติดตาม)
กลุ่มนักรบศรีสุริโยไท (1,522 ผู้ติดตาม)
กลุ่มนักรบอิสระ ปกป้องสถาบัน (1,342 ผู้ติดตาม)
กลุ่มกุหลาบพิทักษ์ราชัน (5,499 ผู้ติดตาม)
กลุ่ม ศอปส. (1,582 ผู้ติดตาม)
กลุ่ม ศปปส. (55,123 ผู้ติดตาม)
กลุ่มทัพพสกนิกร (684 ผู้ติดตาม)
กลุ่ม Hardcore 100% (6,179 ผู้ติดตาม)
กลุ่มไทรักษา (22,772 ผู้ติดตาม)
กลุ่มสถาบันหลักและการชุมนุม (322 ผู้ติดตาม)
กลุ่ม Vnew (1,484 ผู้ติดตาม)
กลุ่มนักเรียนดี (1,497 ผู้ติดตาม)
กลุ่มเยาวชนช่วยชาติ (5,521 ผู้ติดตาม)
Next Gen คนรุ่นใหม่รักสถาบัน (3,204 ผู้ติดตาม)
กลุ่มมินเนี่ยนปกป้องสถาบัน/ศชอ. (69,314 ผู้ติดตาม)
กลุ่มภาคีประชาชน ปกป้องสถาบันฯ (78,469 ผู้ติดตาม)
กลุ่มคลื่นซัดเป็ด ( 11,715 ผู้ติดตาม)
หมายเหตุ : จำนวนยอดผู้ติดตาม ณ วันที่ 10 มิ.ย. 64