จากกรณี ศชอ. หรือ 'ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด Bully ทางสังคมออนไลน์' เผยแพร่พิกัดผู้ที่แสดงความเห็นถึงสถาบันกษัตริย์ ใช้ชื่อว่า 'แผนที่ 112' โดยการระบุตำแหน่ง ใบหน้าบางส่วนและสถานที่ทำงาน/ สถานศึกษา ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์, Google Maps จำนวนกว่า 400 กว่ารายชื่อ โดยศูนย์ทนายรายงานว่ามี 62 ราย ถูกส่งข้อความข่มขู่ดำเนินคดี ม.112
ล่าสุด กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์' ว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เนื่องจากเป็นการกระทำที่มีเจตนาแสดงให้เห็นว่าต้องการจะแจ้งต่อสาธารณชนว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่กระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ชัดเจนว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ และอาจจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท, ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ และความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ และถึงแม้กลุ่มดังกล่าวจะใช้รูปแบบการเปิดเผยใบหน้าและปิดคาดดวงตาไว้ แต่หากคนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ก็ถือว่าเป็นความผิด
"การใช้วิธีการแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเคยมี มันมีในสังคมเรามา 40-50 ปีแล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์สมัย 6 ตุลา 19 ที่มีการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง เป็นคนล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่รักชาติ ศาสนา คนขายชาติ... ผมรู้สึกว่ายิ่งเขาที่ทำแบบนี้ ยิ่งทำให้คนเห็นว่าความคิดของฝ่ายเขาจริงๆ เป็นยังไง โลกมันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว พวกเขาเองจะเป็นคนที่ทำลายสถาบัน ทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง มีแต่คนพวกนี้แหละที่ทำ" กฤษฎางค์ กล่าว
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ ศชอ.ในหลายช่องทาง แต่ยังไม่มีผู้ให้สัมภาษณ์ ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เพจ 'ศชอ.' ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยเฟซบุ๊กระบุว่า "เนื้อหานี้ไม่พร้อมใช้งานในขณะนี้" เช่นเดียวกับ 'แผนที่ 112' ใน Google Maps ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้วเช่นกัน
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ด้านเฟซบุ๊กเพจ 'ผู้กองปูเค็ม' โพสต์ข้อความว่า "แผนที่ 112 ฝีมือผมเอง วิธีการคือส่องเฟสเซเลบ 3 กีบคนดัง แล้วเลือกทั้งโพสต์และคอมเมนต์ ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก 28.6.2564 ได้ 700 เป้าหมายแล้วคาดว่า 10.7.2564 จะได้ถึง 2,000 เป้าหมาย เพื่อส่งฟ้องดำเนินคดีต่อ ปอท."
ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตุ และให้คำแนะนำเบื้องต้นกรณีถูกส่งข้อความข่มขู่ดำเนินคดี ม.112 ว่า หากมีบุคคลไม่รู้จักส่งข้อความ ภาพถ่ายหน้าจอ หรือข้อมูลส่วนบุคคลมาให้ พร้อมแจ้งว่าจะดำเนินคดีดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตและข้อแนะนำเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
1. มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดิน เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย สามารถดำเนินการกล่าวโทษ (แจ้งความ) ต่อเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาประการสำคัญของกฎหมายทั้งสองฉบับมาอย่างต่อเนื่อง
2. อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวกระทำการอื่นนอกจากนำข้อมูลไปแจ้งความ เช่น การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่ ทำให้เกิดความเสียหาย ใช้ข่มขู่คุกคาม ผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อหากระทำรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 397 ประมวลกฎหมายอาญา หรือเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดได้
3. ควรตรวจสอบว่าเราเคยโพสต์ข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลอื่นไว้ในโพสต์ของตนเองหรือ ผู้อื่นหรือไม่ หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาทนายความ หรือดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงข้อความนั้นไว้ก่อน
4. กรณีมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิ้ลแม็พ สามารถกดรีพอร์ท (report) ว่าโพสต์เหล่านั้นเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
5. กรณีมีการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แม้บุคคลภายนอกจะรวบรวมหลักฐานไว้เบื้องต้นเพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องดำเนินการสอบสวนก่อนว่ามีการโพสต์ข้อความ แชร์ข้อความ หรือคอมเมนท์ในลักษณะดังกล่าวจริงหรือไม่ และข้อความนั้นเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่
6. รวมทั้งโพสต์ดังกล่าวนั้นโพสต์จากผู้ให้บริการรายใด อุปกรณ์ใดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้โพสต์ และบุคคลใดเป็นผู้กระทำ หากเจ้าหน้าที่มีหลักฐานตามสมควรแล้วจึงจะออกหมายเรียกให้บุคคลมารับทราบข้อกล่าวหา
7. กรณีได้รับหมายเรียก หมายค้น การตรวจยึดพยานหลักฐาน หรือถูกจับกุม แนะนำให้ดำเนินการตาม คำแนะนำกรณีควบคุมตัว ถูกจับกุม หรือได้รับหมายเรียก
กลุ่ม ศชอ. หรือ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด Bully ทางสังคมออนไลน์ มี แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นประธานกลุ่ม และ พลดล พรหมภาสิต เป็นเลขาฯ ศชอ.เคลื่อนไหวในโลกโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทั้งเฟซบุ๊กและ TikTok ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและเป็นยามเฝ้าจอคอยตรวจสอบผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่พวกเขาเห็นว่าหมิ่นสถาบัน แล้วนำหลักฐานไปแจ้งความดำเนินคดี มาตรา 112 , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อ ปอท. มีสมาชิกกลุ่มกระจายอยู่ทั่วประเทศ
"ประชาชนโดนบูลลี่ก็แจ้งเรามา ถ้าเจตนารมณ์เราคือช่วยเหลือคนที่ถูกบูลลี่ ตอนนี้สถาบันฯ ก็โดนบูลลี่เหมือนกัน" เลขาฯ ศชอ. กล่าวในรายการ ขอชัดชัด ช่อง TOP NEWS (21 เม.ย.64)
ก่อนหน้านี้ กลุ่มเรียกตนเองว่า ‘Avengers’ (ชื่อทีมซุปเปอร์ฮีโร่ในหนังภาพยนต์) โดยให้เหตุผลว่า คนที่จะมาเป็นสมาชิกกลุ่มได้ต้องแข็งแกร่งและใจกล้า ไม่กลัวโดน ‘ทัวร์ลง’ แต่ล่าสุดเมื่อต้น มิ.ย. ทางกลุ่มเรียกตัวเองใหม่ว่า ‘กองทัพมินเนี่ยนปกป้องสถาบันฯ’
“เราถูกตั้งฉายาเป็นไดโนเสาร์บ้าง เป็นสลิ่มบ้าง ล่าสุดเราถูกตั้งฉายาเป็นมินเนี่ยน เพราะว่ามินเนี่ยนใส่เสื้อเหลือง เขาเหน็บแนมว่า ใส่เสื้อเหลืองแล้วทรงพลัง ซึ่งก็เป็นพลังรักชาติรักแผ่นดิน และด้านล่างก็จะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีของสถาบันฯ เลยแต่งประชดกันไปซะเลย” วริศนันท์ ศรีบวรกิตติ์ หนึ่งในสมาชิก ศอช. ให้สัมภาษณ์สื่อ (1 มิ.ย. 64)
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ศชอ.ได้ยื่นเอกสารฟ้องดำเนินคดีมาตรา 112 ให้ ปอท. ไปแล้วจำนวน 90 ราย (10 มิ.ย.64) หนึ่งในนั้นมีเยาวชนอายุ 14 ปี ที่ จ.พิษณุโลกรวมอยู่ด้วย โดยส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษา, คนทำงาน, ผู้ประกอบการอิสระ, บุคลากรทางการแพทย์ และข้าราชการ เป็นต้น