ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยในสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาลุ่มน้ำโขงช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบอุณหภูมิของแม่น้ำ 3 สายในกัมพูชาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ลดลง 3.6 องศาเซลเซียส หลังสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้กระแสน้ำแปรปรวน เสี่ยงกระทบหลายประเทศ

ไฟซาล ฮุสเซน หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา แถลงต่อที่ประชุมความคืบหน้าด้านวิทยาศาสตร์ประจำปี 2020 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซีแอตเทิลของสหรัฐฯ เมื่อ 15 ก.พ. ระบุว่า อุณหภูมิที่ลดลงของแม่น้ำ 3 สายในกัมพูชา ได้แก่ เซซาน เซกง และสเรปก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2001 หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ และแม่น้ำทั้งสามสายมาบรรจบกันก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงอย่างไม่มีทางเลี่ยง

ข้อมูลประกอบการวิจัยครั้งนี้อ้างอิงจากภาพถ่ายทางอากาศและการตรวจวัดอุณหภูมิโดยเครือข่ายดาวเทียม Landset โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากองค์การอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA เป็นการสำรวจอุณหภูมิแม่น้ำทั้งสามสายในช่วงฤดูแล้งตลอดเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ผลวิจัยประเมินได้ว่าการสร้างเขื่อนทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนทิศทาง ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของน้ำ และเมื่อน้ำเย็นขึ้น ก็จะส่งผลต่อสัตว์น้ำ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขง

ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์น้ำในแม่น้ำอุณหภูมิลดลงจากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ใน 'ระดับท้องถิ่น' แต่อุณหภูมิแม่น้ำโขงที่ลดลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอื่นๆ ด้วย เพราะแม่น้ำโขงถือว่าเป็น 'แม่น้ำนานาชาติ' ที่ประชาชนจำนวนมากในลุ่มแม่น้ำโขงต้องพึ่งพาอาศัย

การศึกษาเปรียบเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยของแม่น้ำสามสายในกัมพูชา อาศัยข้อมูลตั้งแต่ 1988 จนถึง 2018 บ่งชี้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากมีการสร้างเขื่อนยาลี เขื่อนเพลยกรง และเขื่อนเซซาน 4 

https://s3-us-west-2.amazonaws.com/uw-s3-cdn/wp-content/uploads/sites/6/2020/02/13120417/3STempFig2_Sesan-only.png
  • ภาพจากเว็บไซต์ UW ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

ด้าน 'แมทธิว บอนนีมา' หนึ่งในคณะนักวิจัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของ NASA ระบุเพิ่มเติมว่า แม้จะมีข้อมูลบ่งชี้เรื่องอุณหภูมิในแม่น้ำที่เปลี่ยนแปลงไป แต่รัฐบาลกัมพูชายังเดินหน้าสานต่อโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำที่เป็นต้นทางของแม่น้ำโขง เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนเหมือนโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน อย่างไรก็ตาม การมุ่งสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงอาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลลาวได้ส่งเอกสารชี้แจงโครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางแก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลเวียดนาม กัมพูชา และไทย เข้าร่วมรับฟังความคืบหน้าด้วย โดยทางการลาวระบุว่าเขื่อนแห่งนี้จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานเพื่อจำหน่ายให้กับไทยและเวียดนาม โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการขายไฟฟ้าประมาณปี 2027

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการเขื่อนในลาวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2018 ซึ่งเกิดเหตุสันเขื่อนพังที่เขื่อน 'เซเปียน-เซน้ำน้อย' ในเมืองสะหนามไซย แขวงอัตตะปือ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก และเขื่อนดังกล่าวเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างลาว ไทย และเกาหลีใต้

ส่วนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ส่งผลต่อการขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เชื่อมต่อกับประเทศไทยและลาวเช่นกัน เพราะการระบายน้ำจากเขื่อนดังกล่าวขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในจีน หลายครั้งที่การแจ้งเตือนเรื่องการปล่อยหรือกักน้ำไม่ทันเวลา ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: