เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงาน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดมุกดาหาร ยังคงมีระดับต่ำ ล่าสุดวัดที่ส่วนอุทกวิทยาที่ 3 มุกดาหาร ระดับน้ำโขงอยู่ที่ 1.60 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 10.9 เมตร ทำให้หาดทรายโผล่เป็นทางยาวหลายกิโลเมตร ชาวบ้านต้องใช้รถจักรยานยนต์ขับขี่ลงไปที่เรือในการจับปลา
โดยสถานการณ์ภัยแล้งส่อวิกฤต ภายหลังระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดมุกดาหารมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งเทียบกับปีที่ผ่านมา ถือว่าต่ำกว่าถึง 2 เท่า ในช่วงเดือนเดียวกัน ปริมาณน้ำโขงที่ลดลง ส่งผลให้ที่บ้านชะโนด ต.ชะโนด อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร เกิดสันดอนทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่กว้าง
โดยเฉพาะบริเวณหาดมโนภิรมย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หาดชะโนด ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญช่วงหน้าแล้ง ในเดือน มี.ค. - เม.ย. ทุกปี โดยทางจังหวัดมุกดาหารจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้เที่ยวพักผ่อนชมธรรมชาติสองฝั่งโขง แต่ช่วงนี้พบว่ามีหาดทรายโผล่กลางน้ำโขง ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 จนมาถึงเดือน ม.ค. 2563 ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัญญาณอันตรายเสี่ยงแล้งวิกฤต
นายบุญมี ใจช่วง ชาวบ้าน ต.ชะโนด ผู้ประกอบอาชีพหาปลาในแม่น้ำโขง กล่าวว่า ปีนี้น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่เหมือนปีที่แล้ว ปลาก็หายาก หาได้ไม่เยอะ ส่วนมากจะเป็นปลาขาว ปลาตะเพียน ปลาปาก น้ำก็แห้งลงมาก ต้องใช้รถจักรยานยนต์ขับลงไปหาเรือ ปลาหายากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำโขง แต่ก่อนน้ำโขงไม่เป็นแบบนี้ แต่ก่อนน้ำจะมีสีขุ่นเดี๋ยวนี้น้ำโขงใสมาก ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนทางตอนเหนือ น้ำโขงก็เลยผิดปกติ ปลาก็ไม่มีหายาก
ตลอดจนชาวบ้านเดียวกันกว่า 20 ครอบครัว ยังได้รับผลกระทบเพราะช่วงนี้จับปลาได้น้อย และในตอนกลางวันที่อากาศร้อนจัด ปลาก็จะหลบซ่อนอยู่ตามโขดหินในจุดที่น้ำลึกที่อยู่ใกล้กับฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว จึงไม่คุ้มที่จะออกไปจับปลาทำให้ช่วงนี้ชาวบ้านหลายคนหันไปรับจ้างทำงานอย่างอื่น แทนการจับปลา
แม่น้ำยม จ.พิจิตร แห้งขอด เกษตรเร่งสูบน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร
ส่วนที่จังหวัดพิจิตร สภาพมุมสูงของแม่น้ำยม ที่บริเวณบ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม ที่เป็นพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำยมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่าน แห้งลงจนเห็นผืนทราย เหลือแอ่งน้ำขนาดเล็กที่เป็นล่องน้ำลึก ที่ยังพอมีน้ำหลงเหลืออยู่ ส่วนสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำยมแห้งเร็ว เนื่องจากน้ำยมไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่กักเก็บน้ำ รวมถึงเกษตรกรเร่งสูบน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร จึงส่งผลทำให้แม่น้ำยมแห้งเร็วกว่าทุกปี
สำหรับแม่น้ำยมไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร ได้แก่ อ.สามง่าม, อ.โพธิ์ประทับช้าง, อ.บึงนาราง และ อ.โพทะเล ความยาว 127 กิโลเมตร และจากสถานการณ์แม่น้ำยมที่ลดระดับและแห้งขอดอย่างรวดเร็ว เริ่มส่งผลกระทบกับประชาชนและเกษตรกร เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนในการทำการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวที่ยังมีการลงมือเพาะปลูกตลอดทั้งสองฝั่งแม่น้ำยม รวมไปถึงน้ำในการอุปโภค และระบบนิเวศน์สัตว์น้ำที่จะขาดที่อยู่อาศัยจากน้ำที่แห้งขอด