ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เลี้ยงปลากระชังริมแม่น้ำโขงที่หนองคาย เตรียมพร้อมรับมืออากาศเย็นที่จะส่งผลกระทบต่อปลากระชัง โดยการลดอาหาร ให้วิตามินเสริมและเกลือให้ปลาแข็งแรง หลังพบว่าปลามีอัตราการตายและป่วยมากขึ้น

ที่จังหวัดหนองคาย อุณหภูมิเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขง ที่ จ.หนองคาย โดยเฉพาะที่บ้านพร้าวใต้ – บ้านเจริญสุข ต.หินโงม อ.เมือง ที่มีผู้เลี้ยงปลากระชังกว่า 100 ราย กระชังปลากว่า 2,000 กระชัง เตรียมพร้อมรับมือกับอากาศหนาวเย็น ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อปลากระชังที่เลี้ยงไว้ หลังพบว่าปลามีอัตราการตายและป่วยมากขึ้น

โดยจัดวิตามินเสริม เพื่อให้ปลาแข็งแรง ลดอาการเครียดจากอากาศที่หนาวเย็น สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการลดปริมาณการให้อาหารลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากช่วงที่อากาศหนาวเย็นปลาจะกินอาหารน้อย หากให้อาหารมากปลากินไม่หมด ก็จะทำให้เกิดการเน่าเหม็น กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ทำให้ปลาป่วยและตาย ทั้งนี้ ถ้าอุณหภูมิลดลงอย่างช้าๆ ปลาจะปรับตัวได้ แต่ถ้าลดลงอย่างรวดเร็ววันเดียวลดลงมากกว่า 3 องศาเซลเซียส ก็จะมีผลกระทบกับปลาที่เลี้ยงทันที ซึ่งการเลี้ยงปลากระชังในช่วงฤดูหนาวระยะเวลาในการเลี้ยงปลาในกระชังนั้นนานขึ้นกว่าปกติ อุณหภูมิต่ำสุดที่ริมโขงวันนี้อยู่ที่ 11 องศาเซลเซียส

นายชาติชาย จิตมาน เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังที่บ้านพร้าวใต้ กล่าวว่าช่วงอากาศหนาวปลากระชังที่เลี้ยงจะกินอาหารน้อยลง และมีพบปลามีอัตราการป่วยมากขึ้น ซึ่งเป็นปกติในช่วงอากาศหนาวเย็น เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังต้องมีการลดปริมาณการให้อาหารลงประมาณครึ่งหนึ่ง เช่น จากเคยที่ให้ 2 กระสอบ ก็จะลดลงเหลือกระสอบเดียว และปรับช่วงเวลาในการให้อาหาร ช่วงเช้าก็รอให้มีแสงแดดและอากาศเริ่มอุ่นจึงจะให้อาหาร ส่วนในช่วงบ่ายประมาณ 16.00 น. ก่อนที่อากาศจะเย็น ตอนนี้เกษตรกรลดการเลี้ยงปลากระชังลงประมาณครึ่งหนึ่ง เฉพาะที่บ้านพร้าวใต้-บ้านเจริญสุข ตอนนี้มีเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในช่วงนี้ประมาณ 50 ราย กระชังปลาประมาณ 600 – 700 กระชัง จากเดิมที่มีเกษตรกรเลี้ยงปลาประมาณ 100 ราย กระชังปลาที่เลี้ยง ประมาณ 1,800 – 2,000 กระชัง สาเหตุที่พักการเลี้ยงเนื่องจากราคาปลาที่ยังเท่าเดิม คือ กิโลกรัมละ 60 บาท และช่วงที่ผ่านมายังประสบปัญหาปลากระชังที่เลี้ยงป่วยตายเป็นจำนวนมาก เฉพาะที่ตนเลี้ยงตายไปกว่า 3,000 กิโลกรัม ขณะนี้รอการช่วยเหลือจากทางราชการอยู่

นายชาติชาย กล่าวด้วยว่า นอกจากการลดปริมาณอาหารแล้ว ในช่วงอากาศหนาวยังต้องมีให้วิตามิน หรือแร่ธาตุ เพื่อให้ปลาแข็งแรง สามารถปรับตัวกับอากาศที่หนาวเย็นได้อีกด้วย