ไม่พบผลการค้นหา
ลาวตั้งเป้าหารายได้-เก็บภาษีจากเขื่อน 'เซเปียน-เซน้ำน้อย' ปีละกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ก่อสร้างยังไม่เสร็จก็เกิดเหตุเขื่อนพังเสียก่อน แต่ถ้าเขื่อนสร้างเสร็จตามกำหนดในปีหน้า ไฟฟ้าร้อยละ 90 ซึ่งผลิตจากเขื่อนแห่งนี้จะถูกส่งมายังไทย

โครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน - เซน้ำน้อย ดำเนินการโดยบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย (PNPC) ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างลาว ไทย และเกาหลีใต้ แต่ไฟฟ้าร้อยละ 90 จากพลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ของเขื่อนแห่งนี้ จะถูกส่งมาขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งลงนามทำสัญญา Power Purchase Agreement หรือ PPA กับบริษัทพีเอ็นพีซีไปตั้งแต่ 6 ก.พ. 2555 

บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH ผู้ถือหุ้นร้อยละ 25 ของ PNPC ชี้แจงกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ก่อนหน้านี้ว่าพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทางใต้ของลาว ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลพายุเซินตินห์ ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลสู่พื้นที่กักเก็บน้ำของโครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในเมืองสะหนามไซย แขวงอัตตะปือ และสันเขื่อนดิน ความกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร และสูง 16 เมตร ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย เกิดรอยร้าวและทรุดตัว ทำให้มวลน้ำกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลออกไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ และลงสู่ลำน้ำเซเปียน ที่อยู่ห่างจากพื้นที่เขื่อนออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร

ขณะที่องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ เผยผลสำรวจสถานการณ์เขื่อนแตกตั้งแต่ 24 ก.ค. พบว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 ราย สูญหายอีก 34 ราย และมวลน้ำจากเขื่อนกระทบพื้นที่ 41 หมู่บ้าน ทำลายบ้านเรือน 20 หลัง และบ้านเรือนอีก 223 หลังได้รับความเสียหายบางส่วน ถนนหลายสายและสะพานราว 14 แห่งถูกทำลาย และชาวบ้านกว่า 6,000 คนถูกอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงในโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ คือ เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรักชั่น (SK E&C) บริษัทก่อสร้างรายใหญ่อันดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ ผู้ถือหุ้นร้อยละ 26 ของ PNPC และรัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้ คือ บริษัท โคเรีย เวสเทิร์น เพาเวอร์ (KOWEPO) มีหุ้นใน PNPC อีกร้อยละ 25 ส่งผลให้นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศว่าจะต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยในลาวอย่างเร่งด่วน ในฐานะที่กลุ่มทุนของภาครัฐและเอกชนจากเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญในโครงการนี้

ลูกค้ารายใหญ่ของนโยบาย 'แบตเตอรี่แห่งเอเชีย'

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล สปป.ลาว ผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อน 54 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 'แบตเตอรี่แห่งเอเชีย' ที่ลาวตั้งเป้าจะเป็นผู้ผลิตพลังงานให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างอิงข้อมูลของธนาคารโลกว่า สปป.ลาวตั้งเป้าให้การส่งออกพลังงานเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และคาดหวังว่าจะผลักดันให้ลาวจะพ้นจากการเป็นประเทศยากจนได้ภายในปี 2573 

โครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ก็เป็นหนึ่งในการดำเนินการภายใต้นโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย และรัฐบาล สปป.ลาว ร่วมลงทุนกับกลุ่มทุนต่างประเทศโดยใช้งบประมาณรวมกว่า 1,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 33,660 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ถูกมองว่าเป็น 'เหตุการณ์ที่ป้องกันได้' ถ้าหากมีการออกแบบโครงสร้างและระบบจัดการที่ดีพอ และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในต่างประเทศตั้งคำถามว่าการจัดการด้านพลังงานของลาวมีความยั่งยืนและจะกระจายประโยชน์ให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงจริงหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่คือบริษัทต่างชาติที่เข้าร่วมการลงทุน และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นของรัฐบาลลาว

นอกจากนี้ ข้อมูลในเว็บไซต์ของ PNPC ระบุว่าได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2551 รวมถึงผ่านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม EIA เรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มต้นโครงการก่อสร้างเมื่อเดือน ก.พ. 2556 เพื่อให้ทันกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้ และเตรียมจะเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ในปี 2562 แต่เกิดเหตุ 'เขื่อนพัง' เสียก่อน 

ภาคประชาสังคมตั้งคำถาม 'เขื่อน' เป็นแหล่งพลังงานที่คุ้มค่าหรือไม่

แม้รัฐบาล สปป.ลาวจะยังไม่อาจประเมินความเสียหายที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยได้อย่างชัดเจน แต่ประชาชนกว่า 6,000 คนได้รับผลกระทบไปเรียบร้อยแล้ว และเมื่อเดือน ก.ย. 2560 เคยเกิดเหตุเขื่อนน้ำเอาในแขวงไซสมบูนแตกเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาคตั้งคำถามว่าการลงทุนด้านพลังงานขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ 'คุ้มค่า' ในระยะยาวหรือไม่

Laos_Dam_02.jpg

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์ออนไลน์' ก่อนหน้านี้ ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่สังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่องมานาน มองว่ากระแสโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ขณะนี้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกหันมาสนับสนุนเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด โดยเฉพาะเทคโนโลยีขนาดเล็กที่ภาคประชาชนและเอกชนดำเนินการได้เอง เช่น การติดแผงโซลาร์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) หรือผู้ที่ทำธุรกิจโรงงานซึ่งตามปกติจะต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบ ก็เริ่มหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองเพื่อลดต้นทุน

แต่ในกรณีของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รัฐบาลต่างๆ ยังมุ่งมั่นลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ รวมถึงการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ แต่วิฑูรย์มองว่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาได้อีกหลายด้าน ไม่่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร ประมง และแหล่งท่องเที่ยว แต่ขณะนี้การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ากลายเป็นปัจจัยครอบงำศักยภาพด้านการพัฒนาอื่นๆ ไปจนหมด

นอกจากนี้ ผู้ที่ลงทุนในโครงการสร้างเขื่อนเป็นทุนใหญ่ และส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนจากต่างประเทศ ประกอบกับระบบบริหารจัดการพลังงานในหลายประเทศเป็นระบบผู้ซื้อรายเดียว หรือ single buyer system ซึ่งกรณีของไทย ผู้ซื้อ คือ กฟผ. ใครผลิตไฟต้องขายให้ กฟผ. ผู้ลงทุนในโครงการพลังงานขนาดใหญ่จึงต้องการหลักประกัน ทำให้มีการทำสัญญา PPA เพื่อรับประกันว่า กฟผ. จะต้องซื้อไฟของผู้ลงทุนตลอดอายุสัญญา เช่น 25 ปี เพื่อที่ผู้ลงทุนจะได้ไม่มีความเสี่ยง แต่กลับไม่มีหลักประกันให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างหรือลงทุนด้านพลังงาน

แม้แต่บริษัทก่อสร้างที่มาร่วมลงทุนก็ยังได้ประโยชน์จากกระบวนการก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นกัน ไม่ว่าตัวเขื่อนนั้นจะมีความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ แต่บริษัทก่อสร้างก็จะได้ประโยชน์จากธุรกิจก่อสร้างไปแล้ว การพัฒนาด้านพลังงานในแต่ละประเทศจึงควรคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลแต่ละประเทศต้องคำนึงถึงประชาชนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: