ไม่พบผลการค้นหา
ผู้แทน WHO ชี้ ทั่วโลกและไทยควรเรียนรู้การจัดการโควิด-19 จากจีนที่สามารถจัดการการระบาดได้รวดเร็ว พร้อมย้ำต้องตัดวงจรการระบาดให้ได้รวดเร็วก่อนเข้าสู่การแพร่ระบาดในระยะที่ 3

รายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ลงพื้นที่ในประเทศจีนเมื่อวันที่ 16- 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เกิดจากฝอยละออง (droplets) ที่มาจากการไอ หรือจาม ส่วนการแพร่กระจายเชื้อแบบละอองลอยในอากาศ (Airborne) นั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัด แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีจากการใช้เครื่องมือแพทย์ที่อาจจะเกิดละอองลอยจากคนไข้สู่บุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ในจีนกว่า 2,000 รายได้รับเชื้อโควิด-19 

ทั้งนี้ในรายงานยังระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อในชุมชนหรือการแพร่ระบาดในท้องถิ่น (ระยะที่ 3) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งนับว่ามีผู้ติดเชื้อ 78-85 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัว

สำหรับอาการของผู้ติดเชื้อนั้นพบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อโควิด -19 มีอาการไม่รุนแรงและบางรายไม่มีอาการของโรคปอดอักเสบ ขณะที่อีก 13.8 เปอร์เซ็นต์ มีอาการในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงและ มีเพียง 6.1 เปอร์เซ็นต์ที่มีอาการขั้นวิกฤต

ทั้งนี้ในการสำรวจของ WHO ยังพบว่า อาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ถึง 87.9 เปอร์เซ็น มีอาการไอแห้ง 67.7 เปอร์เซ็นต์ มีอาการอ่อนเพลีย 38.1 เปอร์เซ็นต์ ไอแบบมีเสมหะ 33.4 เปอร์เซนต์ หายใจติดขัด 18.6 เปอร์เซ์นต์ มีอาการเจ็บคอ 13.9 เปอร์เซ็นต์ มีอาการปวดศีรษะ 13.6 เปอร์เซ็นต์ มีอาการหนาวสั่น 11.4เปอร์เซ็นต์และคลื่นไส้อาเจียน 5 เปอร์เซ็นต์

ทางด้านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (NHC) ของจีนได้รวบรวมผลการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายราย และการสังเกตการณ์ทางพยาธิวิทยา (pathological) ซึ่งใช้วิธีเจาะตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็ม (needle biopsy) พบการกลายพันธุ์ในปอด (pulmonary mutation) หลายระดับ ม้ามหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพและตาย (necrosis)

ขณะที่ในรายงานของ WHO ที่ลงพื้นที่สำรวจในจีนนั้นระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อและมีอาการในขึ้นวิกฤตนั้นส่วนใหญ่ จะอยู่ในขั้นของระบบอวัยวะภายในล้มเหลว มีอาการหัวใจล้มเหลว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตนั้นคือกลุ่มคนสูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป รวมไปถึงคนที่มีโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน มะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ขณะที่ในจีนอัตรการเสียชีวิตจากโควิด-19 นั้นมีอัตราอยู่ที่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ 

ทั่วโลกและไทยควรเรียนรู้จากจีน

รายงานของ WHO ยังแสดงให้เห็นว่า การระบาดในจีนนั้นได้ผ่านช่วงที่มีการระบาดสูงสุดมาแล้ว โดยพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในช่วงปลายเดือนมกราคม-ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว มีทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตมากที่สุดก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงในช่วงต่อมา

ดร.แดเนียล เคอร์เตสซ์ ตัวแทนจาก WHO กล่าวว่า 'ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดีในการพยายามควบคุมการระบาด โดยมีการรับมือได้อย่างรวดเร็วและทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงได้ภายในระยะเวลาไม่นาน' 

ในรายงานของ WHO ระบุว่า จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์เป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรก เพื่อควบคุมแหล่งต้นกำเนิดของเชื้อและตัดวงจรการแพร่เชื้อต่างๆ ทั้งการใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างการปิดเมือง การห้ามประชาชนเดินทางหรือเคลื่อนย้ายถิ่น ในระยะที่สอง จีนดำเนินมาตรการชะลอความรุนแรงและความเร็วของการระบาด และในระยะที่สาม เพื่อการฟื้นฟูและการเตรียมกลับสู่สภาวะปกติ

นอกจากนี้ทาง WHO ยังกล่าวว่า บทเรียนจากจีนสำหรับประเทศที่การระบาดยังอยู่ในระยะที่สองอย่างไทยนั้น ควรจะต้องเริ่มใช้กลไกการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับประเทศ ให้มีการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งการให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน สอดส่องและค้นหาโรคในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มอื่นๆ รวมไปถึงการเตรียมแผนการและซักซ้อมการปฏิบัติมาตรการต่างๆ จนถึงระดับสูงสุด

ผู้แทนจาก WHO ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดของจีน สามารถเปลี่ยนการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมโรคระบาด การค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด และการที่ภาคประชาชนปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจีนก็มีส่วนช่วยให้จีนสามารถควบคุมการระบาดได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ผู้แทนจาก WHO ยังเน้นย้ำสิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือ การค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ และการตัดวงจรของการแพร่ระบาดให้ได้อย่างรวดเร็วก่อนทมี่จะนำไปสู่การแพร่ระบาดภายในประเทศ หรือการเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการระบาด ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

1.ทำการสำรวจในทุกๆ ที่ที่เป็นไปได้ ถ้าเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาแล้วต้องทำการตรวจและรีบแยกตัวนำไปกักตัวเพื่อไม่ให้ระบาดเพิ่มเติม และต้องสามารถยืนยันและค้นหาผู้ที่สัมผัสรอบข้างให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากทำตรงนี้ได้ก็จะสามารถตัดวงจรการระบาดได้เหมือนในจีน

2.ใช้มาตรการทางสาธาณสุข เพื่อให้ความรู้ทั่วไปในเรื่องสุขอนามัยที่ทุกคนควรปฏิบัติ และต้องพยายามปฏิบัติเพื่อลดการระบาดของโควิด -19 เช่น

- ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอลล์เจล

- เวลาจามหรือไอ ให้ไอในกระดาษชำระ หรือในบริเวณแขนเสื้อ และอย่างลืมล้างมือทุกครั้ง

- พยายามรักษาระยะห่างจากคนอื่นประมาณ 1 เมตร โดยเฉพาะคนที่มีอาการไอหรือจาม

- พยายามหลีกเลี่ยงการจับบริเวณตา จมูก ปาก

'ดังนั้นหากเราใช้ตัวอย่างหรือเรียกรู้วิธีการปฏิบัติในสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดจากจีน เราสามารถยืดระยะเวลาในการเข้าสู่การระบาดในระยะ 3 ได้ ซึ่งทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวในระบบสาธาณสุขให้พร้อมกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างความตระหนักให้ประชาชนมีความรู้และพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน' ดร.แดเนียล เคอร์เตสซ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง