ญี่ปุ่นจัดงานในวันที่ 24 กรกฎาคม ในวาระ 1 ปีก่อนเปิดงานโอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว พร้อมอวดโฉมหุ่นยนต์ 5 ตัวต่างวัตถุประสงค์กัน ตั้งแต่มาสคอตต้อนรับคนเข้างาน ตลอดจนหุ่นขนของภาคสนามช่วยเจ้าหน้าที่
งานโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม 2020 และจัดแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกในวันที่ 25 สิงหาคม ถึง 6 กันยายน ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดพิธีนับถอยหลัง 1 ปีโอลิมปิก ก่อนถึงวันเปิดงานโอลิมปิกจริงในวันเดียวกันปีหน้า โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชติญี่ปุ่นอย่างโตโยต้ามอเตอร์ ผู้สนับสนุนหลักของงานโอลิมปิก 2020 ได้อวดโฉมหุ่นยนต์ที่จะใช้ในงานโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นปีหน้า รวม 5 ตัว ซึ่งมีหน้าที่ต่างกัน
เริ่มที่หุ่นยนต์มาสคอตไซซ์กะทัดรัด ที่แม้จะไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ แต่ก็สามารถขยับแขนขา จับมือ ได้ด้วยการควบคุมจากระยะไกล และแม้จะพูดไม่ได้แต่ก็สื่อสารกับนักกีฬาและผู้เข้าชมการแข่งขันได้ ผ่านการส่งสายตาหลายรูปแบบ ทั้งขยิบตา ทำตาเป็นประกาย หรือรูปหัวใจ โดยจะมีกล้องอยู่ภายในศีรษะ
โทโมฮิสะ โมอิระไดระ วิศวกรโตโยต้า ผู้รับผิดชอบหุ่นยนต์สำหรับโอลิมปิก 2020 กล่าวว่าหากคนเดินจากไป มันจะทำหน้าเศร้าส่วนตัวกล้องที่ศีรษะของหุ่นยนต์จะช่วยให้รับรู้ถึงสีหน้าของผู้คน และตอบสนองกลับได้โดยแสดงอารมณ์ผ่านทางดวงตาโตโยต้า ชี้ว่าหุ่นยนต์มาสคอตจะช่วยต้อนรับนักกีฬา ผู้เข้าชม และสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมให้เด็ก ๆ อีกทั้งโทโมฮิสะยังเสริมอีกว่ามีความเป็นไปได้อื่น ๆ อีก เช่น การให้หุ่นยนต์ถือคบเพลิงโอลิมปิกด้วยการใช้แม่เหล็ก
มาสคอตของกีฬาโอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว คือหุ่นยนต์สีขาว-ฟ้า 'มิไรโทวะ' มาจากภาษาญี่ปุ่นสองคำคือ มิไร แปลว่า อนาคต และโทวะ แปลว่า นิรันดร์ และมีมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิก 2020 เป็นหุ่นยนต์สีชมพูชื่อโซเมย์ตี้ ซึ่งมาจากคำว่าโซเมย์โยชิโนะ หมายถึงดอกซากุระชนิดหนึ่ง และพ้องเสียงกับภาษาอังกฤษว่าโซไมตี้ (so mighty) แปลว่าทรงพลังยิ่ง โดยมาสคอตทั้งสองเปิดตัวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมเมื่อปีก่อน
ตัวถัดมาเป็นหุ่นยนต์สนับสนุนในสนามแข่งขัน คล้ายกระบะเคลื่อนที่ได้ ซึ่งช่วยเจ้าหน้าที่ขนสิ่งของหรืออุปกรณ์กีฬาอย่างจักรหรือแหลน โดยเจ้าหน้าที่ต้องนำสิ่งของวางบนหุ่นยนต์นี้ แล้วหุ่นยนต์จะขนของกลับไปยังจุดประจำการโดยหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้ ช่วยลดเวลาในการตามเก็บสิ่งของ และลดจำนวนแรงงานเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ในการจัดงาน
ส่วนหุ่นยนต์สนับสนุนมนุษย์ HSR (human support robot) เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถจดจำแยกแยะสิ่งของได้เอง และหยิบจับสิ่งของไปให้ผู้ใช้งาน รวมถึงพูดได้และควบคุมด้วยรีโมตได้ด้วย สำหรับช่วยสนับสนุนผู้นั่งรถเข็นวีลแชร์ หรือใช้ส่งอาหารให้ผู้เข้าชม
ขณะที่ หุ่นยนต์ T-TR1 ซึ่งเป็นหน้าจอแนวตั้งติดกล้องและเคลื่อนที่ด้วยล้อ สำหรับช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถมาร่วมชมการแข่งขันด้วยตัวเอง สามารถเข้าร่วม 'เสมือน' ผ่านหน้าจอของหุ่นยนต์ เช่น ช่วยให้อดีตนักกีฬาชื่อดังที่ไม่สามารถมาเข้าร่วมชมงานได้ หรือใช้ในกรณีอื่นๆ อย่างโอกาสที่คุณย่าสูงอายุที่อยู่ห่างไกล สามารถร่วมงานวันเกิดหลานได้
นอกจากนี้ ยังมีการโชว์เคสหุ่นยนต์ร่างมนุษย์ T-HR3 ซึ่งสามารถบังคับได้จากระยะไกลด้วยอินเทอร์เน็ต 5G มีการบังคับนิ้วที่ละเอียดกระทั่งสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้แทน เพราะนอกจากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันกีฬาแล้ว สำหรับญี่ปุ่นนี่ยังเป็นสนามสำหรับอวดโฉมนวัตกรรมเพื่อทวงคืนความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอีกด้วย
นอกจากหุ่นยนต์แล้ว เมื่อวานนี้ทางผู้จักมหกรรมกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ก็ได้เปิดตัวเหรียญรางวัลออกมาอย่างเป็นทางการ ทั้งเกรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ซึ่งมีความพิเศษตรงที่เป็นการใช้วัสดุรีไซเคิล นั่นคือขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเช่น สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ตต่าง ๆ โดยเป็นการบริจาคมาจากประชาชน โดยการออกแบบของดีไซน์เนอร์ชื่อดังจากโอซากาที่ชื่อ จุนอิจิ คาวานิชิ ผู้ชนะการประกวดในการออกแบบเหรียญรางวัลเพื่อการแข่งขันนี้โดยเฉพาะ
คาวานิชิเปิดใจกับสื่อมวลชนว่า ในการประกวดมีผู้คนที่มีความสามารถส่งผลงานเข้ามาแข่งขันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาไม่คิดเลยว่าจะสามารถชนะการออกแบบในครั้งนี้ได้ การได้มีส่วนร่วมในงานมหกรรมกีฬาครั้งสำคัญนี้ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของชีวิต โดยผู้จัดงานเปิดเผยว่าเหตุผลที่เลือกผลงานของเขาก็คือเป็นดีไซน์ที่แสดงให้เห็นถึงเทคนิกการหล่อแม่พิมพ์แบบญี่ปุ่นที่โดดเด่นและชัดเจน พร้อมกับรายละเอียดมากมายอย่างภาพของ ไนกี เทพปกรณัมกรีกอันเป็นเทพีบุคลาธิษฐานแห่งชัยชนะ และสัญลักษณ์ของโอลิมปิกอีกด้วย
ในด้านการเตรียมการจัดงานเนื่องจากมีผู้คนกว่า 8 ล้านคนเดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงโตเกียวทุกวัน ทางรัฐบาลญี่ปุ่นและคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกจึงร่วมกันรณรงค์แคมเปญให้คนทำงานจากบ้านในช่วงวันที่ 22 กรกฎาคม ถึง 6 กันยายน โดยมีพนักงานบริษัทกว่า 600,000 คนจากราว 3,000 บริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อลดอุปสรรคต่อการเดินทางเข้าร่วมงานกีฬาโอลิมปิกซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ
ทั้งนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกมา หลังจากที่นักรณรงค์ต่อต้านกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก 'โตเกียว 2020' หลายคน ออกมาประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน และชี้ว่ามหกรรมกีฬาครั้งนี้จะส่งผลเสียงต่อทั้งปัจเจกบุคคลและธุรกิจห้างร้าน เนื่องจากการจัดงานต้องใช้งบประมาณที่สูง และจะกลายเป็นผลประโยชน์สำหรับคนกลุ่มเล็ก ๆ ในบางแวดวงเท่านั้น
ล่าสุดได้มีประเด็นใหม่เกิดขึ้น นั่นคือการที่ภาพแผนที่ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งแสดงเส้นทางการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกในเว็บไซต์ทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพนั้น ปรากฏหมู่เกาะซึ่งทางเกาหลีเรียกว่าหมู่เกาะด็อกโด หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าหมู่เกาะทาเคชิมะ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ทั้งสองชาติต่างยืนกรานว่าดินแดนนี้เป็นของประเทศตัวเอง
กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ได้รับการยืนยันว่าจุดขนาดเล็กบนแผนที่ดังกล่าวแทนภาพของหมู่เกาะด็อกโด รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เรียกเจ้าหน้าที่ด้านการทูตของญี่ปุ่นประจำเกาหลีใต้เข้าพบ เพื่อคัดค้านเรื่องแผนที่ โดยระบุว่าเป็นความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง หากญี่ปุ่นจะอ้างสิทธิ์การปกครองเหนือหมู่เกาะด็อกโด พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขแผนที่ในเว็บไซต์ให้ถูกต้องโดยทันที ซึ่งนาย โยชิฮิเดะ สุกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รับทราบถึงความไม่พอใจและคัดค้านการกระทำในครั้งนี้ของญี่ปุ่นแล้ว แต่ปฏิเสธที่จะแก้ไข พร้อมชี้ว่าการประท้วงนี้ยอมรับไม่ได้ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเจ้าของหมู่เกาะทาเคชิมะ