แอมะซอนเปิดตัวโดรนส่งสินค้ารุ่นใหม่
แอมะซอนเปิดตัวโดรนรุ่นใหม่ล่าสุดที่จะนำมาใช้กับบริการ 'แอมะซอน ไพรม์ แอร์' เพื่อส่งสินค้าทางอากาศไปยังผู้รับภายใน 1 วัน นับตั้งแต่ตอนที่ลูกค้ากดสั่งซื้อสินค้า ซึ่งโดรนรุ่นนี้ติดใบพัด 6 ตัว ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เคลื่อนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ สามารถบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักสูงสุด 2.2 กิโลกรัม บินได้ระยะทาง 22 กิโลเมตร ภายใน 30 นาที
โดรนถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ ด้วยการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์หมือนเครื่องบิน ติดตั้งเซนเซอร์ stereo vision สำหรับตรวจจับสภาพแวดล้อมด้วยการปล่อยคลื่นเสียงและรับสัญญาณที่สะท้อนกลับมาแบบค้างคาว ซึ่งทำงานร่วมกับ computer vision และ machine learning เพื่อตรวจจับสิ่งกีดขวางที่อยู่รอบ ๆ เช่น สายไฟที่มีอยู่รอบตัวเมืองและเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดเมื่อโดรนขึ้นบินและลงจอด นอกจากนี้ ยังมีเฟรมติดตั้งรอบใบพัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
แอมะซอนเปิดเผยว่ากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาโดรนและเส้นทางการบินให้มีมาตรฐานความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำโดรนรุ่นใหม่นี้มาใช้ส่งสินค้าในไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าจะเริ่มให้บริการที่ไหนเป็นที่แรก และจะครอบคลุมผู้บริโภคมากแค่ไหน
อินสตาแกรมเพิ่มโฆษณาในหน้าฟีด
อินสตาแกรมเปิดเผยว่าจะแสดงรูปภาพและคลิปโฆษณามายังหน้าฟีดและสตอรีของผู้ใช้งานมากขึ้น ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อเพิ่มโอกาสให้แบรนด์ต่าง ๆ เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานของอินสตาแกรมได้มากขึ้น โดยโฆษณาที่จะปรากฏเพิ่ม จะเป็นการโฆษณาผ่านเหล่าคนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนกดติดตามจำนวนมาก ซึ่งแต่เดิมผู้ใช้งานจะเห็นโฆษณาเหล่านี้ก็ต่อเมื่อกดติดตามเท่านั้น แต่หลังจากนี้ ผู้ใช้งานจะเห็นโฆษณาเพิ่มมากขึ้น แม้จะเป็นโฆษณาที่มาจากอินฟลูเอนเซอร์ที่เราไม่ได้กดติดตาม
อินสตาแกรมยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีบริษัทและแบรนด์จำนวนมากติดต่อมาว่าต้องการเผยแพร่โฆษณาของตัวเองไปยังกลุ่มผู้ใช้งานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ใช้งานอินสตาแกรม ก็มีพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เข้ามาเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและพูดคุยกับเพื่อน แต่ปัจจุบัน กลายเป็นว่าผู้ใช้งานอินสตาแกรม 68 เปอร์เซ็นต์ ใช้อินสตาแกรมเพื่อติดตามชีวิตและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคนดังที่โพสต์รูปและสตอรี ทำให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ มีอิทธิพลในการโปรโมตสินค้ามากขึ้น และกลายเป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้ให้ทั้งกับตัวอินฟลูเอนเซอร์และอินสตาแกรม
กูเกิล 'สตาเดีย' เริ่มให้บริการ พ.ย. นี้
กูเกิลได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมของการให้บริการเล่นเกมแบบสตรีมมิง ที่เรียกว่า สตาเดีย โดยบอกว่าจะเริ่มให้บริการในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ในสหรัฐฯ แคนาดา และแถบยุโรปอีก 12 ประเทศ ซึ่งจะมีเกมเปิดตัวทั้งหมด 31 เกม จาก 21 บริษัท ค่าบริการจะเริ่มต้นที่ 9.99 ดอลลาร์ หรือประมาณ 320 บาทต่อเดือน แต่ผู้เล่นยังต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมตามจำนวนเกมที่เล่น ไม่ใช่เป็นการเหมาจ่ายที่หลายฝ่ายคาดไว้ในตอนแรก
นอกเหนือจากค่าบริการแล้ว สิ่งสำคัญคือความเร็วของอินเทอร์เน็ต ที่จะต้องมีความเร็วขั้นต่ำ 10 เมกะไบต์ต่อวินาที สำหรับการเล่นเกมที่มีความละเอียดภาพระดับ 720 p ส่วนผู้ที่ต้องการเล่นเกมที่มีความละเอียดภาพระดับ 4K ต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็ว 35 เมกะไบต์ต่อวินาที
จุดเด่นของ สตาเดีย คือผู้เล่นไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องคอนโซลหรือมีเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาแพงเพื่อลงโปรแกรมหรือติดตั้งเกม ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและคอนโทรลเลอร์ ก็สามารถเชื่อมต่อกับทีวี สมาร์ตโฟน หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วเล่นเกมได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งราคาคอนโทรเลอร์ของ สตาเดีย อยู่ที่ 70 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,200 บาท แต่สำหรับภูมิภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากในสหรัฐฯ และยุโรป กูเกิลยังไม่ได้เปิดเผยว่า สตาเดียจะเริ่มให้บริการเมื่อไร