ญี่ปุ่นหวังใช้การแข่งขันโอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว เป็นเวทีอวดโฉมนวัตกรรมใหม่ ๆ สู่สายตาชาวโลก นำทัพด้วยรถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์รับแขก และการถ่ายทอดภาพความละเอียดสูง
เมื่อครั้งล่าสุดตอนที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1964 ญี่ปุ่นสร้างความตื่นตาให้กับผู้ชมงานด้วยรถไฟชินคันเซ็น รถไฟหัวกระสุน ที่กลายเป็นภาพแทนของการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ญี่ปุ่นได้ใช้โอลิมปิกในครั้งนั้นเป็นเวทีประกาศตัวเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่หน้าจอแอลซีดีของชาร์ป ตลอดจนเครื่องเล่นเพลงโซนี่วอล์กแมนในอดีต ทำให้ญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ของผู้นำด้านนวัตกรรมที่ยากจะมีใครเทียบได้ แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ เราก็ได้เห็นบรรดายักษ์ใหญ่จากซิลิคอนแวลลีย์ รวมถึงบริษัทจากจีนและเกาหลีที่ไล่ตามทันความก้าวหน้าของญี่ปุ่นกันแล้ว
โยโกะ อิชิคุระ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมรรถภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮิโตซึบาชิ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งเลยคือ การที่ประเทศญี่ปุ่นคิดว่าตัวเองยังมีความสร้างสรรค์นวัตกรรมอยู่ แต่เมื่อมองดูประเทศอื่น ๆ ในโลกแล้ว จะพบว่าญี่ปุ่นไม่ได้มีความเป็นนวัตกรรมอีกต่อไป พร้อมระบุด้วยว่า น่าเป็นห่วงที่ได้เห็นชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก แทบไม่รู้อะไรเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างนอกประเทศ และประเทศอื่น ๆ ก้าวล้ำไปถึงขั้นไหนแล้ว
โดยปกติแล้วผู้มาเยือนญี่ปุ่นมักจะต้องทึ่งกับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีในแดนอาทิตย์อุทัย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คร่ำครึอย่างโทรศัพท์มือถือฝาพับ และเครื่องแฟกซ์ที่ยังคงใช้กันอยู่แพร่หลายในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทต่าง ๆ ก็พยายามเร่งปรับเปลี่ยนเรื่องนี้
ด้าน มาสะ ทาคายะ โฆษกของการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 นั้นรวมไปถึงความพยายามจะทำงานนี้เป็นโอลิมปิกที่มีความเป็นนวัตกรรมที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วย
ขณะที่ มาซาโนริ มัตสึชิมะ ผู้จัดการแผนกโอลิมปิกของพานาโซนิค กล่าวว่า บรรดาบริษัทในญี่ปุ่นกระตือรือร้นที่ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ โดยทันทีที่แขกของประเทศมาถึงสนามบิน พวกเขาจะได้รับการต้อนรับจากหุ่นยนต์ที่สื่อสารได้หลายภาษา ซึ่งจะคอยช่วยเหลือพวกเขา และมีเก้าอี้อัตโนมัติที่จะพาพวกเขาไปยังจุดหมายซึ่งกำหนดไว้ด้วยสมาร์ตโฟน และทางพานาโซนิคก็กำลังพัฒนาระบบแปลภาษาอัตโนมัติที่จะนำไปใช้ในการโต้ตอบกัน โดยเมื่อคนสองคนพูดคุยกันผ่านหน้าจอด้วยภาษาของตัวเอง คำแปลจะปรากฏขึ้นที่หน้าจอของอีกฝ่ายโดยทันที
ขณะที่ NEC บริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของญี่ปุ่นก็จะปล่อยระบบจดจำใบหน้าซึ่งระบุตัวตนของคนได้ภายใน 0.3 วินาที เพื่อนำระบบนี้ไปใช้กับคนจำนวน 300,000 ราย ซึ่งประกอบด้วยนักกีฬา สตาฟของงาน และสื่อมวลชน คาดว่าจะทำให้การตรวจเข้างานเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และเป็นการเสริมทัพระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับ NHK องค์กรแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของของรัฐบาลญี่ปุ่น มีแผนจะถ่ายทอดภาพการแข่งขันไปยังผู้ชมทั่วโลกด้วยความละเอียดสูงยิ่งยวดระดับ 8K โดยทาง NHK เคยเผยแพร่ภาพรายการซึ่งมีความคมชัด 8K ไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2018 เป็นการอุ่นเครื่องก่อนโอลิมปิกที่จะมาถึง
ทั้งนี้ คอกีฬาก็จะได้สัมผัสประสบการณ์เต็มอรรถรส ด้วยบรรดาอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวขั้นสูงซึ่งให้ข้อมูลตำแหน่งของลูกบอล อัตราการเต้นของหัวใจ และการเคลื่อนไหวของนักกีฬา โดยบริษัท ฟูจิตสึ ซึ่งเป็นผู้นำด้านไอทีเองก็ทำงานร่วมกับสหพันธ์ยิมนาสติกสากลในการป้อนข้อมูลการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือกรรมการในการตัดสินการแข่งขันให้เกิดประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้นด้วย
หนึ่งในภาคส่วนที่คงไม่ยอมพลาดในการใช้งานโอลิมปิกเป็นเวทีโชว์ตัว คืออุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง โดย ยาสุโนบุ เซกิ ผู้จัดการทั่วไปในแผนกดูแลงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกของโตโยต้า กล่าวว่า โตโยต้าจะเปิดตัว อี-พาเลตต์ (e-Palette) รถยนต์ไร้คนขับปราศจากพวงมาลัย ซึ่งจะวิ่งไปในพื้นที่ที่กำหนดไว้
ด้านสายการบิน ออล นิปปอน แอร์เวย์ หรือ ANA ได้ทดสอบรถบัสไร้คนขับเมื่อไม่นานมานี้ที่สนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว และบริการแท็กซี่ไร้คนขับเองก็คาดว่าจะสามารถใช้งานได้เต็มตัวทันงานโอลิมปิกที่กำลังจะมาถึง
นอกจากนี้ โอลิมปิก 2020 ยังเป็นโอกาสที่บรรดาบริษัทยานยนต์จะได้อวดโฉมเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับยานยนต์พลังงานสะอาดอีกด้วย โดย เซกิ จากโตโยต้า กล่าวว่า การโชว์ว่ายานยนต์พลังงานไฮโดรเจนนั้นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคนได้ และทำให้ผู้คนที่มาชมโอลิมปิกครั้งนี้รับเอาความคิดนี้กลับไป คือสิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองให้ดี สำหรับข่าวลือที่หลายคนแว่วกันมา ซึ่งจะทำให้ 'โตเกียว 2020' น่าจับตายิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ ข่าวลือที่ว่าจะมีการใช้รถเหาะในการจุดคบไฟโอลิมปิก แต่กลุ่มผู้จัดงานยังยืนกรานว่าพวกเขายังไม่มีแผนจะทำเช่นนั้น