นักวิจัยจากเยอรมนีศึกษาพบว่า ระบบต้นไม้สังเคราะห์อาจกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันพลังงาน HZB และมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก ในเยอรมนี เปิดเผยผลการศึกษาที่ชี้ว่า 'ต้นไม้ปลอม' หรือก็คือ ระบบต้นไม้สังเคราะห์ สามารถลดทอนปริมาณคาร์บอนในอากาศลงได้ โดยทีมวิจัยสร้างระบบดังกล่าวให้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และแปรรูปแก๊สที่รวบรวมได้เป็นผลิตผลอื่นที่ต้องมีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ เช่น แอลกอฮอล์ จากนั้นจึงปล่อยออกซิเจนที่แยกออกมาได้กลับสู่อากาศ และกักเก็บคาร์บอนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการเพื่อใช้ในอนาคต
ทั้งนี้ เทคโนโลยีต้นไม้สังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่าต้นไม้ตามธรรมชาติถึง 1,000 เท่า และยังไม่ต้องใช้เวลาในการปลูกและดูแลให้เติบโต นอกจากนี้ ยังไม่ใช้พื้นที่มากเท่าการปลูกต้นไม้โดยทั่วไปอีกด้วย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะโลกนี้ไม่มีพื้นที่มากพอในการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับมลพิษทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จุดด้อยของระบบที่ว่านี้ คือ ราคาที่ยังสูงจนชุมชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยระบบต้นไม้สังเคราะห์ขนาดย่อมที่กินพื้นที่น้อยที่สุดมีราคาเริ่มต้นที่ 250,000 ดอลลาร์ หรือ 7.8 ล้านบาท และนั่นเป็นราคาของการเซตระบบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะทำให้เทคโนโลยีนี้มีราคาต่ำลงได้ในอนาคต ขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและงบประมาณจากนักลงทุน