ทุกวันนี้มักมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการเหยียดเพศทั้งจาก 'คอมเมนต์' ของบุคคลสาธารณะ และการเลือกปฏิบัติในวงการหนึ่ง ๆ เช่น วงการกีฬา หรือวงการฮอลลีวูด แต่ความจริงแล้วการเหยียดเพศนั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางสังคม ที่ยิ่งหล่อหลอมให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ อย่างในกรณีของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่หยิบยกมาพูดคุยกันในวันนี้
ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงการเหยียดเพศ หลายคนอาจนึกถึงข่าวในประเทศที่มีกรณีที่พิธีกรไทยแซวศิลปินเพศทางเลือกด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ต่างประเทศ ก็มีข่าวนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอต่อว่าผู้เล่นทีมตรงข้ามด้วยการใช้คำว่า 'เกย์' ซึ่งแม้ในกรณีแรกจะมีการออกมาขอโทษกันไปแล้ว และกรณีที่สองจะออกมาปฏิเสธไปแล้ว แต่ก็ยังทำให้เกิดคำถามในสังคมว่าเรื่องละเอียดอ่อนอย่างเพศ หรือเพศสภาพ จะกลายเป็นเครื่องมือในการดูถูก กดทับ หรือทำลายกันของคนในสังคมไปจนถึงเมื่อไร
ล่าสุด มีกรณีใน 2 ประเทศเอเชียที่สื่อต่างชาติรายงาน ชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ในแวดวงการทำงาน หรือกับผู้ใหญ่เท่านั้น และไม่ได้เกิดแค่กับเพศทางเลือกเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน และเกิดขึ้นกับผู้หญิงอยู่บ่อยครั้ง โดยเหตุการณ์ที่น่าตกใจในญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อช่วงวันคริสต์มาสที่ผ่านมา เมื่อนิตยสารรายสัปดาห์ Spa! มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยหญิง ด้วยการเรียงจากมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาทำตัว 'ง่าย' หรือก็คือเมาและมีเพศสัมพันธ์ในงานปาร์ตี้ง่ายที่สุด ซึ่งหลังจากวางจำหน่ายก็เกิดกระแสต่อต้านอย่างมาก จนมีคนล่ารายชื่อใน Change.org หลายหมื่นคน ให้นิตยสารขอโทษและเลิกจำหน่ายฉบับดังกล่าว โดยระบุว่าหัวข้อเช่นนี้เป็นการละเมิดผู้หญิง โดยการทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับผู้หญิงให้กลายเป็นเรื่องทางเพศ
หลังจากมีการล่ารายชื่อครั้งนี้ นิตยสารได้ออกมาขอโทษ และชี้แจงว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลจากแหล่งข่าวเท่านั้น ซึ่งแหล่งข่าวสำหรับหัวข้อดังกล่าวเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหาเพื่อนร่วมปาร์ตี้ ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น โดยบทความที่นำเรื่องนี้มารายงานระบุเพิ่มเติมว่า ธรรมเนียมที่เรียกว่า 'คยาระโนมิ' (gyaranomi) หรือ ปาร์ตี้ดื่มเหล้าที่ผู้เข้าร่วมชายจ่ายเงินจ้างผู้หญิงให้มาร่วมงาน กำลังเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากในสังคมมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ บรรณาธิการของ Spa! ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า บริษัทพยายามนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเพศที่หลากหลาย โดยฟังความเห็นของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม แต่ในกรณีล่าสุด บริษัทเล็งเห็นแล้วว่ามีการใช้คำที่หวือหวาจนเกินไป ทั้งยังมีการใช้ชื่อมหาวิทยาลัยจริง ๆ จึงทำให้ผู้อ่านจำนวนมากไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม กลับไม่มีรายงานว่านิตยสารฉบับดังกล่าวจะถูกเลิกจำหน่ายหรือไม่
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีผู้หญิงในแวดวงการเมืองและธุรกิจน้อยที่สุด และแคมเปญรณรงค์อย่าง #MeToo ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นจนเป็นกระแสได้ในประเทศนี้ โดยที่เมื่อปีที่แล้ว เพิ่งมีรายงานว่าวิทยาลัยแพทย์ออกมายอมรับว่าได้ลดทอนคะแนนผู้สมัครหญิงลง เพื่อให้จำนวนนักศึกษาหญิงมีไม่เกิน 30 %
ข้ามฝั่งมาที่เกาหลีใต้ ที่มีกรณีศึกษาที่น่าตกใจไม่แพ้กัน โดยมีรายงานว่า การที่พ่อแม่เลือกจะจ่ายเงินจ้างครูสอนเพศศึกษา 'นอกโรงเรียน' กำลังเป็นเทรนด์ เนื่องจากระบบเพศศึกษาในโรงเรียน ตามที่กระทรวงศึกษาเกาหลีใต้กำหนด มีเนื้อหาที่ยอมรับไม่ได้ และเหยียดเพศอย่างชัดเจน กลายเป็นการสร้างชุดความคิดที่ผิดเพี้ยนให้กับเยาวชน
ทั้งนี้ นักเรียนเกาหลีใต้ถูกกำหนดให้ต้องเรียนเพศศึกษา 15 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมจนจบมัธยมปลาย และแนวทางการสอนล่าสุดที่ออกมาโดยกระทรวงฯ เมื่อปี 2015 ซึ่งถือว่าพัฒนามาหลายรุ่นแล้ว ก็ยังมีรายละเอียดที่เหยียดเพศอยู่มาก เช่น เนื้อหาของประถม 1 และ 2 ที่ระบุว่า 'ความต้องการทางเพศของผู้ชายเกิดขึ้นได้รวดเร็ว ไม่ว่าที่ไหน เวลาใด' และนำเสนอผู้หญิงในเชิง Passive หรือเป็นผู้ที่ต้องยอมรับและรองรับอารมณ์เช่นนั้น หรือแม้แต่ 'รับผิดชอบ' ที่ทำให้เกิดอารมณ์เช่นนั้นด้วย
สื่อเกาหลีอย่าง The Korea Herald และสื่ออังกฤษ The Guardian ได้ยกตัวอย่างส่วนหนึ่งในแบบเรียนเวอร์ชันปัจจุบัน พบว่ายังมีเนื้อหา ดังนี้ 1 ผู้หญิงต้องตอบสนองทางเพศกับผู้ชายคนเดียวอย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น ขณะที่ ผู้ชายจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงคนไหนก็ได้ เพราะนั่นถือเป็นการระบายออกซึ่งอารมณ์ตามธรรมชาติ 2 ผู้หญิงต้องดูแลหน้าตา รูปร่างให้ดี ขณะที่ ผู้ชายจะพัฒนาด้านศักยภาพทางการเงิน 3 เวลาที่ผู้ชายออกเงินค่าเดต ก็เป็นธรรมดาที่จะคาดหวังสิ่งตอบแทน การข่มขืนระหว่างเดตจึงเกิดขึ้นได้ 4 คนต่างเพศไม่ควรอยู่ด้วยกันตามลำพัง 5 ถ้าถูกล่วงละเมิดทางเพศบนรถไฟฟ้า ให้ทำเหมือนแกล้งเหยียบเท้าผู้ลงมือ เพื่อให้เขาถอยห่างออกไป
นอกจากเนื้อหาที่น่าตกใจเช่นนี้แล้ว การใช้ภาษาโดยรวมยังกำหนดให้นักเรียนเป็นชายและหญิงเท่านั้นด้วย นั่นก็คือไม่เปิดพื้นที่ให้เพศทางเลือก หรือ LGBT ทำให้เด็กต้องหาเรียนเนื้อหาส่วนนี้จากชั้นเรียนนอกโรงเรียน ซึ่งมีราคาแพง และแม้ The Guardian จะพบว่า พ่อแม่ในยุคปัจจุบัน ทะเบียนเรียนคลาสไพรเวตเหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปี 2018 แต่การจ่ายเงิน 1,500 บาท ต่อการเรียน 2 ชั่วโมง ก็ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่คนใดควรต้องมี