อุตสาหกรรมความงามเกาหลีทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศมากมาย แต่ล่าสุด รัฐบาลกลับออกมาเสนอแนะว่าการมีความงามที่ดูเหมือนกัน เป็นพิมพ์เดียวกันไปเสียหมด เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง
เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เมื่อมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ออกแนวทาง หรือในนัยหนึ่งก็คือ ออกความเห็นเกี่ยวกับ 'หน้าตาของไอดอลเคป็อป' ซึ่งถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์และทำให้อุตสาหกรรมศัลยกรรมพลาสติกของประเทศเป็นที่นิยมไปทั่วโลก และยิ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจขึ้นอีก เมื่อสื่อฝั่งตะวันตกอย่าง The Telegraph ของอังกฤษ เลือกที่จะรายงานประเด็นนี้ด้วย แสดงให้เห็นว่า 'วัฒนธรรมเคป็อป' ตลอดจนนโยบายใด ๆ ที่ผูกติดมาด้วย ถือเป็นจุดสนใจของไม่แต่เฉพาะในเกาหลี แต่รวมถึงคนทั่วโลกด้วย
เมื่อวันจันทร์ (18 ก.พ.2019) ที่ผ่านมา สำนักข่าว Korea Times รายงานว่า กระทรวงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวออกมาประกาศ 'คำแนะนำ' ว่าอุตสาหกรรมควรต้องจำกัดจำนวนศิลปินที่มีหน้าตา 'เหมือนกัน' ในแต่ละการถ่ายทำ และแต่ละงาน หรือก็คือการออกรายการครั้งหนึ่ง ๆ ตอนหนึ่ง ๆ ไม่ควรมีศิลปินที่มีใบหน้าคล้ายกัน โดยในรายงานของกระทรวงระบุว่า 'ศิลปินที่ออกทีวีเหล่านี้เป็นฝาแฝดกันหรือไม่? พวกเขาดูเหมือนกันไปหมด สมาชิกวงไอดอลส่วนใหญ่มักผอมเพรียวและมีเสื้อผ้าหน้าผมที่เหมือนกัน ทั้งยังเปิดเผยเรือนร่างเสียเยอะด้วย'
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเป็นเป็นข้อเสนอแนะจากกระทรวงฯ เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดให้อุตสาหกรรมเคป็อปต้องปฏิบัติตาม และมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการยึดติดกับ 'ลุค' หรือ Lookism ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบกับประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการเผยแพร่มุมมองเรื่องความสวยที่คับแคบและไม่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ของกระทรวงฯ กลับไม่ได้รับการสนับสนุนนัก ทั้งจากประชาชนทั่วไปและนักการเมืองด้วยกันเอง โดย ฮาแทกึง สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน 'บารึนมีแร' ออกมาโต้แย้งข้อความในรายงานดังกล่าว โดยชี้ว่า ความสวยงามเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล และไม่ควรมีข้อกำหนดใดจากรัฐบาลมาเป็นกรอบ หรือแนวทางปฏิบัติ
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเน้นย้ำด้วยว่า การออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับรูปลักษณ์หรือความสวยงามของรัฐบาลเช่นนี้ และโดยเจาะจงก็คือ การออกมาบอกว่าไอดอลไม่ควรมาอยู่รวมกันในรายงานทีวี เพราะพวกเขาผอม สวย และผิวขาวใส เป็นพิมพ์เดียวกันไปหมด ทั้งหมดนี้จะแตกต่างอะไรกับการวัดความยาวเส้นผมและชายกระโปรงในสมัย 'นายพลชอนดูฮวาน' อดีตประธานาธิบดีเผด็จการของเกาหลีใต้ ที่ก่อรัฐประหารในปี 1979 ก่อนจะได้รับเลือกตั้งในวาระถัดมา และมีส่วนในเหตุสังหารหมู่กวางจูในเวลาต่อมา ซึ่งระบอบการปกครองสมัยนั้นของเกาหลีใต้นับเป็นจุดด่างพร้อยของประวัติศาสตร์ประเทศ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของรัฐบาล เพราะในประเทศเกาหลีใต้เอง ก็มีการถกเถียงถึงนิยามความสวยมาอย่างยาวนาน และไม่มีข้อสรุปแน่ชัด เพราะแต่ละคนก็มีความรู้สึกต่อฉายาของประเทศที่ว่าเป็น 'เมืองหลวงแห่งศัลยกรรมพลาสติก' ที่แตกต่างกันออกไป และฉายาดังกล่าวยังสะท้อนถึงแรงกดดันในสังคม ตลอดจนเป็นเสมือนมาตรฐานความสวยงามที่เกินจริงอีกด้วย
เป็นเวลานานหลายทศวรรษที่ผู้หญิงในเกาหลีใต้ได้รับการคาดหวังจากสังคมให้ดูดีในลักษณะที่ 'ไร้ที่ติ' และทำให้ผู้หญิง 1 ใน 3 คน ต้องผลักดันตัวเองให้เข้ารับการศัลยกรรมพลาสติกให้หน้าตารูปร่างดูเป็นตาม 'มาตรฐาน' ขณะที่ อีกจำนวนมากก็ต้องเข้ารับการปรึกษาหรือทำทรีตเมนต์ในคลินิกเสริมความงามเป็นประจำ ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาร่างกายที่ไม่จำเป็น แต่พวกเธอเหล่านี้กลับขาดไม่ได้
ด้านไอดอลเคป็อปที่ถูกฝึกฝนแต่เด็กและต้องเติบโตมาเป็นศิลปินที่ 'เพอร์เฟกต์' เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรม 'เค บิวตี' ที่ความสวยงามเริ่มต้นจากการมีผิวขาวเนียนนุ่ม ริมฝีปากที่ชมพู ซึ่งกลายเป็นลุคที่สาว ๆ ทั่วโลดจำนวนมากต้องการมี และสร้างเม็ดเงินเข้าสู่อุตสาหกรรมความงามเกาหลีได้มากเป็นมูลค่าถึง 18,000 ถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 560,000 ถึง 750,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ หญิงสาวยุคใหม่เริ่ม 'ขบถ' ต่อความคาดหวังจากสังคมเช่นนี้ และออกมาพูดถึงความสวยงามในแบบที่พวกเธอต้องการบ้าง จนกลายเป็นการรณรงค์ด้านตรรกะความสวยงามอย่างจริงจัง เช่น ยูทูบเบอร์ 'ลีนา แบ' ที่ทำคลิปวิดีโอ 'ฉันไม่สวย' (นานึน เยปือจี อันซึมนีดา) ออกมา โดยเป็นคลิปที่เธอลบเมกอัปและสร้างแรงบันดาลใจกับคนดูว่า ทุกคนล้วนพิเศษและสวยงามในแบบฉบับของตัวเองทั้งนั้น ซึ่งคลิปนี้มียอดวิวสูงถึง 6.9 ล้านครั้งทีเดียว