การปรับบทเรียนให้กว้างขวางครอบคลุมน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการ แต่ไม่ใช่ในอังกฤษ และไม่ใช่ในวิชาเพศศึกษา ที่จนถึงทุกวันนี้ยังคงมีข้อถกเถียงถึงการปรับให้ชั้นเรียนเพศศึกษาระบุถึงการล่วงละเมิดและความรุนแรงทางเพศด้วย
ท่ามกลางกระแส #MeToo และการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม สิ่งหนึ่งที่อาจถูกมองข้ามไปโดยง่ายคือการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งวิธีที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นบทเรียนเฉพาะ หรือตีตราว่าเป็น 'บทเรียน #MeToo' แต่อย่างใด อย่างที่ล่าสุด รัฐบาลอังกฤษประกาศปรับหลักสูตรเพศศึกษาและความสัมพันธ์ศึกษา ที่มีสอนตามโรงเรียนทั่วไปอยู่แล้ว ให้ครอบคลุมกว้างขึ้นกว่าเดิม โดยจะรวมถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน กลุ่มทรานส์เจนเดอร์ การมีรอบเดือน การล่วงละเมิดทางเพศ สุขภาพจิต การขลิบอวัยวะเพศ การถูกบังคับให้แต่งงาน สื่อลามก และการส่งข้อความในเชิงอนาจาร หรือ sexting ด้วย
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการปรับหลักสูตรเพศศึกษาครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา และต้องประสบกับแรงต้านจากผู้ปกครองจำนวนมาก รวมไปถึงโรงเรียนสอนศาสนา หรือสถาบันการศึกษาที่เคร่งศาสนา ซึ่งพวกเขาต้องการให้หลักสูตรงดเว้นการกล่าวถึงบางประเด็น อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านไม่ได้ทำให้แผนดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษชะงักงันแต่อย่างใด และหลักสูตรใหม่ที่ครอบคลุมประเด็นรอบด้านนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนปี 2020 โดย เดเมียน ไฮนด์ส รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษ กล่าวต่อสภาหลังประกาศแผนดังกล่าวว่า 'รัฐบาลไม่มีทางที่จะวางแนวทางการสอนเพศและความสัมพันธ์ศึกษาให้ออกมาถูกใจทุกฝ่ายได้'
ไฮนด์ส กล่าวเพิ่มเติมตอนหนึ่งด้วยว่า 'หลักการของแนวการสอนนี้คือการช่วยให้เด็ก ๆ รู้เท่าทันโลกภายนอกและปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งยังจะช่วยให้พวกเขาพร้อมต่อการออกไปเผชิญโลก ตลอดจนช่วยให้รู้จักเคารพความแตกต่างและเคารพผู้อื่นด้วย'
ทั้งนี้ ไฮนด์ส ชี้ว่า ผู้ปกครองที่ไม่สบายใจกับบทเรียน สามารถเลือกที่จะให้บุตรหลานไม่ต้องเข้าเรียนในบางช่วงบางตอนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง แต่ไม่ใช่ส่วนอื่นที่จำเป็นต้องรู้ และจะไม่สามารถยกเว้นเด็กที่อายุเกิน 14 ปี จากบทเรียนส่วนใดส่วนหนึ่งได้ และหลังจากอายุ 15 ปี เป็นต้นไป เด็กสามารถเลือกได้เองว่าจะเข้าเรียนเต็มทั้งหลักสูตรหรือไม่
หลักสูตรใหม่ที่รัฐบาลกลางของอังกฤษเป็นผู้ร่างนี้ จะบังคับเรียนในทุกโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐทั่วประเทศอังกฤษ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงเรียนศาสนาด้วย อย่างไรก็ตาม โรงเรียนในสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ จะมีมาตรฐานการเรียนที่เป็นของตนเองแยกออกไปต่างหาก
ผู้ปกครองที่ไม่พอใจหลักสูตรใหม่จำนวนหนึ่งร่วมกันล่ารายชื่อทางออนไลน์ ได้ทั้งสิ้นราว 100,000 คน โดยระบุว่าต้องการมีสิทธิ์ที่จะเลือกแนวทางการเรียนรู้ให้บุตรหลานมากกว่านี้ ซึ่ง มูซา โมฮัมเหม็ด พ่อวัย 32 ปี เป็นหนึ่งในผู้ประท้วงแนวทางของรัฐ เขากล่าวว่า 'เด็กเหล่านี้คือลูกของพวกเรา ลูกเป็นของพ่อแม่ ไม่ใช่ของรัฐ' ขณะที่ บริตตา ไรบี-สมิธ แม่ลูกสาม กล่าวว่า เธอสนับสนุนแนวทางแบบชาวคริสต์ และแม้จะอยากให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT แต่เธอก็ต้องการจะสอนลูก ๆ เกี่ยวกับเรื่องละเอียดอ่อนนี้เอง
ด้าน เฮเลน โจนส์ ส.ส.จากพรรคแรงงาน ก็ยืนยันถึงจุดยืนปรับเปลี่ยนหลักสูตรในสภา โดยชี้ว่า บทเรียนใหม่ไม่ได้พยายามตีกรอบให้เด็กมีแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง แต่มีไว้เพื่อให้เด็กได้เตรียมตัว 'รับมือ' กับโลกในแบบที่มันเป็นอยู่ เธอกล่าวว่า 'เด็กที่ได้รับการศึกษาเรื่องเพศและความสัมพันธ์อย่างมีคุณภาพมีแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรค่อนข้างน้อย นำไปสู่อัตราการท้องไม่พร้อมหรือท้องก่อนวัยอันควรที่น้อยลงด้วย และจะช่วยลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ'
ขณะที่ ผู้สนับสนุนแนวทางการเรียนรู้เกี่ยวกับรอบเดือนของเด็กหญิงให้ความเห็นว่า การเรียนเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กผู้หญิงจำนวนมากไม่ตระหนักถึงสัญญาณด้านสุขภาพเมื่อมีอาการเจ็บปวดระหว่างมีรอบเดือน ทำให้ไม่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงได้ทัน ส่วน เจสสิกา ริงโรส นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาเพศสภาพจาก ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่าหลักสูตรนี้ 'มีแวว' อย่างยิ่ง ว่าจะช่วยลดทอนประเด็นปัญหาสังคมลงได้ เท่ากับว่าเมื่อมองข้อดีของหลักสูตรนี้ จะเห็นได้ว่ามีทั้งด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรได้รับการบรรเทาหรือแก้ไขโดยเร็ว
ปัจจุบัน เพศศึกษาเป็นวิชาที่เปิดสอน เนื่องมาจากนโยบายปี 2000 แต่ยังจำกัดวงอยู่แค่เด็กมัธยม อายุ 11 ปีขึ้นไป และไม่บังคับเรียน ขณะที่ หลักสูตรใหม่จะบังคับเรียนทั้งชั้นประถมและมัธยม โดยจะบังคับส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ศึกษา และสุขภาพ ทั้งกายและใจ เป็นหลัก ส่วนเพศศึกษาจะเริ่มสอนอย่างจริงจังสำหรับเด็กประถมปลาย และจะเป็นวิชา 'แนะนำ' แต่ไม่ 'บังคับ'
เพศศึกษาสำหรับเด็กมัธยมในหลักสูตรใหม่จะรวมถึงหัวข้ออย่าง ความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ความสัมพันธ์ที่มั่นคง อะไรเป็นการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงทางเพศบ้าง? และการนำเสนอเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งมักสะท้อนภาพผิด ๆ หรือบิดเบือนความจริง เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ