ภาครัฐและเอกชนของเนเธอร์แลนด์ร่วมมือกันสร้างบ้านคอนกรีตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกของโลก โดยเตรียมเปิดให้คนเช่าอาศัยได้จริงในอนาคต
บ้านแห่งอนาคตจำนวนห้าหลังที่สร้างสรรค์จากเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ กำลังจะถูกสร้างขึ้นที่ไอนด์โฮเวน (Eindhoven) เมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของเทศบาล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไอนด์โฮเวน รวมถึงบริษัทเอกชนด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์อีกสี่แห่ง
เทคนิคการพิมพ์คอนกรีตนี้คิดค้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไอนด์โฮเวน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างสะพานคอนกรีตด้วยการพิมพ์สามมิติแห่งแรกของโลกมาแล้ว โดยนักวิจัยเริ่มการทำงานจากการทำโมเดลดิจิทัลสามมิติ ก่อนจะส่งแบบไปยังเครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อพิมพ์จากส่วนท้ายขึ้นไปยังส่วนบนทีละชั้น โดยไม่ต้องใช้แบบหล่อหรืออุปกรณ์ช่วยค้ำใด ๆ ทั้งสิ้น
การสร้างอาคารด้วยวิธีการนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการก่อสร้างโดยทั่วไป เพราะในกระบวนการนี้แทบจะไม่สร้างขยะเลย จึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนั้น เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติยังช่วยสานฝันของสถาปนิกในการทำอาคารให้มีรูปทรงดูแปลกใหม่ไปจากตึกแบบเดิม ๆ
สำหรับบ้านหลังแรกจะมีชั้นเดียวและมีแผนจะสร้างแล้วเสร็จพร้อมอยู่อาศัยในช่วงกลางปี 2019 ซึ่งทีมงานจะศึกษาและประเมินต่อไปว่าควรจะสร้างบ้านหลังต่อไปเช่นไร แต่โดยรวมแล้วบ้านอีกสี่หลังที่เหลือจะมีหลายชั้น โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ‘เวสเตดา (Vesteda)’ วางแผนที่จะซื้อบ้านทั้งหมดเพื่อนำไปให้ผู้สนใจได้เช่าอยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บ้านที่สร้างจากเทคโนโลยีสามมิติจะมีผู้อยู่อาศัยจริง โดยทีมงานจะต้องสร้างบ้านเหล่านี้ให้ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบการสร้างอาคาร และจะติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทันสมัยต่อไป