การทำรายการส่งเสริมความรับรู้หรือการเรียนรู้ของประชาชนโดยรัฐ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีรัฐมีนโยบายใหม่ หรือ ต้องการทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ล่าสุด กับการบังคับเด็กดูรายการของรัฐบาลจีน ที่ถูกพ่อแม่วิจารณ์อย่างมากนั้น ทางการจีนได้ออกมาขอโทษพ่อแม่แล้ว
เมื่อต้นสัปดาห์ มีรายงานว่าสื่อของทางการจีนออกมาแถลงขอโทษผู้ปกครองทั่วประเทศ หลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก กรณีที่ขอความร่วมให้นักเรียนประถมและมัธยมทั่วประเทศดูรายการการศึกษาที่ผลิตโดยรัฐ แต่เมื่อออกอากาศจริง รายการดังกล่าวกลับมีโฆษณาแทรกก่อนถึง 12 นาที
ทั้งนี้ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นักเรียนและผู้ปกครองได้รับแจ้งจากแต่ละโรงเรียน ซึ่งรับคำสั่งจากกระทรวงศึกษาธิการมาอีกทอดหนึ่ง ว่าในคืนวันเสาร์ เวลา 20.00 น. จะมีรายการ First Lesson of New Semester และขอความร่วมมือให้เด็กทุกคนดูตั้งแต่ต้นจนจบ ให้ตรงตามเวลาที่แจ้ง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียนวันจันทร์
สิ่งที่ผู้ปกครองจีนไม่พอใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่การบังคับดูรายการที่รัฐเป็นผู้ผลิต แต่เป็นเพราะการเริ่มต้นเนื้อหาด้วยโฆษณาต่อเนื่องถึง 12 นาที โดยสินค้านั้น มีตั้งแต่เครื่องเขียน เครื่องใช้ในครัวเรือน ยาสีฟัน สกูตเตอร์ และรถยนต์
ทำให้พ่อแม่ทั้งหลายใช้โซเชียลมีเดียและช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ระบายอารมณ์ โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ปกครองในมณฑลเจียงซู ที่คอมเมนต์ในเว็บไซต์ข่าวของ NetEase ว่า รายการนี้ของรัฐ 'ไม่มีความน่าเชื่อถือเลย และชื่อรายการ "The First Lesson" ก็กลายเป็น "บทเรียนแรก" ที่สอนให้เด็ก ๆ ไม่ต้องทำอะไรตรงต่อเวลา' ขณะที่ อีกคอมเมนต์หนึ่งในเวยป๋อ โซเชียลมีเดียดัง ระบุลอย ๆ ว่าทางรายการ 'ต้องเงินขาดมือแน่ ๆ
รายการที่ว่านี้ อำนวยการผลิตโดย CCTV ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการของจีน มาตั้งแต่ปี 2008 และมีกำหนดออกอากาศทุกวันที่ 1 กันยายน เพื่อแสดงถึงการเริ่มต้นของปีการศึกษาใหม่ หลังจากที่นักเรียนหยุดช่วงซัมเมอร์มา 2 เดือนเต็ม ซึ่งปีนี้ รายการมุ่งเน้นไปที่คอนเซปต์ spirit of creativity หรือก็คือ 'จิตวิญญาณของความคิดสร้างสรรค์' เพื่อเฉลิมฉลองที่เปิดประเทศมา 40 ปีพอดี
สำหรับโฆษณาต่อเนื่องในช่วงก่อนเริ่มเนื้อหารายการนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการติวหนังสือหลังเลิกเรียนเป็นหลัก เนื่องจากในประเทศจีนมีกลุ่มชนชั้นจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และคนกลุ่มนี้ก็มีเงินพอจพส่งลูกไปเรียนเสริมด้านต่าง ๆ ตลอดจนพร้อมจะทำทุกอย่างให้ลูกมีผลการเรียนที่ดีขึ้น
แน่นอนว่าการมีโฆษณาต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่น่ารำคาญใจสำหรับผู้รับชม ไม่ว่าสิ่งที่ดูนั้นจะเป็นรายการแบบไหน หรือผลิตโดยใคร แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง CCTV ก็เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีค่าใช้จ่ายดำเนินการ เพราะฉะนั้น การมีโฆษณาคั่นจึงดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม การกระจายสปอตโฆษณา หรือแม้แต่ การเลือกและกลั่นกรองสินค้า ก็เป็นหน้าที่ที่สถานีควรต้องดูแลอย่างรัดกุมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกลุ่มผู้ชมหลักเป็นเด็ก